EU จับมือกระทรวงคมนาคมและ GIZ จัดกิจกรรมงานวันสิ่งแวดล้อมโลก “เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย… Climate Change, We Change”

08 Jun 2017

สหภาพยุโรป (EU) ร่วมกับกระทรวงคมนาคมและองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) จัดกิจกรรมงานวันสิ่งแวดล้อมโลกประจำปีพ.ศ. 2560 ในหัวข้อ "เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย… Climate Change, We Change" เพื่อสร้างความตระหนักและให้ความรู้แก่ประชาชนเรื่องการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนแนะแนวทางการใช้พลังงานและการขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ณ ควอเทียร์ วอเตอร์การ์เด้น ชั้น 5 ศูนย์การค้า ดิเอ็มควอเทียร์ โดยมีนางหลุยซ่า ราเกร์ รักษาการหัวหน้า คณะผู้แทนสหภาพยุโรป (EU) ประจำประเทศไทย นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม และนายชเตฟาน เฮลมิง ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงาน

EU จับมือกระทรวงคมนาคมและ GIZ จัดกิจกรรมงานวันสิ่งแวดล้อมโลก “เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย… Climate Change, We Change”

นางหลุยซ่า ราเกร์ รักษาการหัวหน้า คณะผู้แทนสหภาพยุโรป (EU) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า "ข้อตกลงปารีสนับเป็นก้าวสำคัญในการมุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืนและยืดหยุ่นมากขึ้น ด้วยวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปีค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) ส่งผลให้มีศักยภาพในการกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อรักษาอนาคตของเราและของโลก การเปลี่ยนแปลงสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นสิ่งจำเป็นและต้องทำอย่างเร่งด่วน สหภาพยุโรปมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยมลพิษอย่างน้อยร้อยละ 40 ภายในปีค.ศ 2030 (พ.ศ. 2573) จากระดับของช่วงปีค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) กรอบด้านสภาพภูมิอากาศและพลังงานปีค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) กำหนดเป้าหมายสำคัญสามประการ ได้แก่ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 40 การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนขึ้นร้อยละ 27 และการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 27 ขณะนี้สหภาพยุโรปกำลังเตรียมออกกฎหมายที่จะช่วยลดการปลดปล่อยมลพิษในทุกภาคส่วนทางด้านเศรษฐกิจและกำลังให้ความสำคัญในเรื่องประสิทธิภาพการใช้พลังงานไว้เป็นอันดับแรก ไปพร้อมๆ กับการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนเพื่อขจัดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการใช้พลังงานที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ"

นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า "ในระยะสั้น กระทรวงคมนาคมมีวิสัยทัศน์ในการมุ่งสู่การขนส่งที่ยั่งยืน โดยกลยุทธ์ที่สำคัญต่อสิ่งแวดล้อมคือ การส่งเสริมการขนส่งที่ประหยัดพลังงาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชน สำหรับในระยะยาว กระทรวงฯ ได้จัดทำ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) เพื่อให้เกิดการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน หากการดำเนินงานภายใต้ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ฯ นี้ประสบความสำเร็จ ภายในปี พ.ศ. 2579 ภาคการขนส่งจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึงร้อยละ 20 จากปัจจุบันที่มีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึงร้อยละ 27 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วประเทศ และลดการใช้พลังงานลงเหลือร้อยละ 15 จากปัจจุบันที่ใช้พลังงานประมาณร้อยละ 38"

นายชเตฟาน เฮลมิง ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทยและมาเลเซีย กล่าวว่า "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถือเป็นประเด็นสำคัญอันดับต้นๆ ที่ GIZ เล็งเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องร่วมกันแก้ไขและลดผลกระทบ GIZ มีความภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคแก่รัฐบาลไทยและรัฐบาลอื่นๆ ในภูมิภาค ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ GIZ ได้ดำเนินโครงการการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ เวียดนามและไทย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ปรับปรุงสภาพสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัย และความปลอดภัยในภาคการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ อันนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อีกหนึ่งโครงการคือ โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานและบรรเทาผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคการขนส่งทางบกภูมิภาคอาเซียน โดยโครงการฯ ได้จัดทำมาตรฐานการประหยัดน้ำมันสำหรับรถบรรทุกในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันนำไปสู่การลดมลพิษทางอากาศบริเวณท้องถนน"

"ปัจจุบัน การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคการขนส่งมาจากประเทศที่พัฒนาแล้วประมาณร้อยละ 30 และมาจากกิจกรรมต่างๆ ของประชากรทั่วโลกประมาณร้อยละ 23 ดังนั้นจึงมีข้อตกลงในระดับนานาชาติเพื่อที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่งอย่างน้อยร้อยละ 50 ภายในปีพ.ศ. 2593 กิจกรรมในวันนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่สหภาพยุโรป (EU) กระทรวงคมนาคมและ GIZ พยายามช่วยให้ประชาชนได้รับรู้ถึงปัญหาและร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม เรามุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถผลักดันให้ประชาชนเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม ร่วมกันลดมลพิษและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกๆ วัน ไม่ใช่แค่เพียงวันนี้" นายชเตฟาน กล่าวเสริม

กิจกรรมภายในงานประกอบด้วยทอล์คโชว์เรื่อง "โลกร้อน...ทราบแล้วเปลี่ยน" โดยมีนายเจอโรม ปงส์ คณะผู้แทนสหภาพยุโรป (EU) ประจำประเทศไทย ดร.เจษฎา ศาลาทอง อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายทรงกลด บางยี่ขัน ผู้ก่อตั้งบริษัท Cloud & Ground และบรรณาธิการบริหารเวบไซต์ The Cloud ให้เกียรติเป็นวิทยากรมาร่วมนำเสนอแนวทางสนับสนุนและวิธีปฏิบัติเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังมีการประกาศผลผู้ชนะการประกวดภาพถ่ายในกิจกรรม "แชร์ไอเดียรักษ์โลกในแบบของคุณ - Climate Change, We Change" เพื่อรับรางวัล โดยมีบัตรโดยสารรถไฟฟ้า BTS 1 ปี เป็นรางวัลสูงสุด เพื่อสนับสนุนการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นอกเหนือจากกิจกรรมข้างต้นแล้ว ยังมีการจัดแสดง Virtual Reality (VR) ซึ่งจำลองสภาพแวดล้อมเสมือนจริงแบบ 360 องศา ที่เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานได้ทดลองเล่นเสมือนเดินทางโดยรถยนต์ เรือและรถไฟฟ้าได้จริง เพื่อเปรียบเทียบว่าการเดินทางแบบใดประหยัดเวลาและพลังงานได้ดีที่สุด กิจกรรมนี้มุ่งหวังให้ผู้เข้าร่วมได้ตระหนักถึงการเดินทางที่สะดวกและลดมลพิษ อีกทั้งยังมีการนำโปสเตอร์เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาจัดแสดงเป็นนิทรรศการ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้ที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนมีการจัดเวิร์คชอป DIY จากเศษวัสดุเหลือใช้ อาทิ การนำขวดน้ำพลาสติกที่ใช้แล้วมาดัดแปลงทำเป็นกระเป๋าใส่เหรียญ และปิดท้ายด้วยการแสดงมินิคอนเสิร์ตจากโต๋ ศักดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร ที่มาช่วยสร้างความสนุกสนาน บันเทิงแก่ผู้ร่วมงาน

องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เป็นองค์กรของรัฐบาลเยอรมันที่ดำเนินงานด้านความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน GIZ ปฏิบัติงานในนามของหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนทั้งในประเทศเยอรมนีและต่างประเทศ รวมทั้งรัฐบาลของประเทศต่างๆ สหภาพยุโรป องค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลก และองค์กรที่ให้ทุนอื่นๆ GIZ ดำเนินงานอยู่ในกว่า 130 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานทั้งสิ้นประมาณ 17,000 คน ซึ่งร้อยละ 70 เป็นคนในประเทศ

EU จับมือกระทรวงคมนาคมและ GIZ จัดกิจกรรมงานวันสิ่งแวดล้อมโลก “เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย… Climate Change, We Change” EU จับมือกระทรวงคมนาคมและ GIZ จัดกิจกรรมงานวันสิ่งแวดล้อมโลก “เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย… Climate Change, We Change” EU จับมือกระทรวงคมนาคมและ GIZ จัดกิจกรรมงานวันสิ่งแวดล้อมโลก “เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย… Climate Change, We Change”
ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit