ห้องเรียนของวิศวลาดกระบัง เป็น “ห้องเรียนกลับทาง” หรือ Flipped Classroom แทนที่จะให้การบ้านไปทำที่บ้าน แต่ให้ทำที่สถาบันเลย เช่น ทำคลิปมาให้ผู้เรียนได้ศึกษา แล้วให้ค้นคว้าหาข้อมูลมาวิเคราะห์ ให้กลายมาเป็น”ความรู้” ดังนั้นการเรียนรู้ มิได้เกิดจาก “คำตอบ” แต่อาจารย์ทำหน้าที่กระตุ้นให้เกิดสภาวะที่ผู้เรียน “ได้คิด” เรียนรู้และแสวงหาด้วยตนเอง พร้อมไปกับปลูกฝังให้ใช้ความรู้โดยมีจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคมเป็น Service Learning โดยมีความเข้าใจที่จะนำความรู้ไปแก้ปัญหา ก่อให้เกิดประโยชน์และตอบโจทย์ช่วยสังคมได้จริง
คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวถึงการประเมินผลนักศึกษา ว่า “ แต่ก่อนดูจากการสอบอย่างเดียว ปรับมาดูจากผลสัมฤทธิ์ด้วย เช่นเดียวกับหลักพุทธที่ว่า การรู้แจ้งนั้นมาจากการปฎิบัติ โดยธรรมชาติมนุษย์จะสามารถเรียนรู้จากการกระทำ การเห็น มากกว่าการฟัง หลักสูตรวิศวลาดกระบังเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ทำวิจัยในเรื่องที่ตนเองสนใจ อัตราส่วนเรียน 70 % และการปฎิบัติกิจกรรมอีก 30 % ตั้งแต่ปี 1 จะได้รับแรงบันดาลใจกับกูรูและผู้นำที่มีชื่อเสียงในประเทศไทยและต่างประเทศ ถ่ายทอดประสบการณ์ตรงว่า เขาประสบผลสำเร็จในด้านนั้นอย่างไร นักศึกษาปี 3 จะเข้าฝึกงานในภาคอุตสาหกรรม 2 เดือน และนักศึกษาปี 4 จะทำวิจัยเรื่องที่เป็นประโยชน์ในบริษัทภาคอุตสาหกรรม เป็นเวลา 4 เดือน สำหรับแนวโน้มอนาคตของวิศวกรรมศาสตร์ที่จะตอบรับการพัฒนาประเทศและโลก คือ วิศวกรรมพลังงาน ระบบขนส่งทางรางและโลจิสติกส์ ไอซีที่ ชีวการแพทย์ วิศวกรรมอาหารและเกษตร แผนการดำเนินงานมีการพัฒนาเพิ่มห้องปฎิบัติการวิศวกรรมขนส่งทางราง วิศวกรรมชีวการแพทย์ และเตรียมเปิดวิจัยศูนย์หุ่นยนต์ในราวต้นปีหน้า2558 จากวิสัยทัศน์ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ในการ “เป็นผู้นำปฏิรูปการศึกษาและเป็นผู้นำงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจไทย” คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. เป็นสถาบันที่มุ่งสร้างผู้นำ หล่อหลอมนักศึกษาให้แกร่งทั้งวิชาการ, ทักษะการปฏิบัติ, ความเป็นผู้นำและช่วยเหลือรับผิดชอบต่อสังคม เมื่อจบออกไปวิศวกรทุกคนยังจะต้องเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสร้างสรรค์พัฒนาตนเองและโลกรอบตัวที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว”
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit