กรมอุทยานแห่งชาติฯ จัดงานวันเสือโคร่งโลก ประจำปี ๒๕๕๙

04 Aug 2016

วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๙ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดงานวันเสือโคร่งโลก ประจำปี ๒๕๕๙ ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี ป่าที่พบเสือโคร่งมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีพลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเอกอัครราชทูตของแต่ละประเทศ ผู้แทนองค์การนานาชาติ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน นักเรียน

กรมอุทยานแห่งชาติฯ จัดงานวันเสือโคร่งโลก ประจำปี ๒๕๕๙

และประชาชนเข้าร่วมงานกว่า 500 คน ทั้งนี้ได้มีการเปิดตัวโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก จากนั้นได้มีพิธีเปิดงานวันเสือโคร่งโลก ประจำปี ๒๕๕๙

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้กล่าวว่า โครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก มีกระบวนการพัฒนาเนื้อหาของโครงการ ให้มีส่วนเสริมสร้างสนับสนุนบทบาทของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ผืนป่า และสัตว์ป่า ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายสนับสนุนของกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก โดยมีสำนักงาน ยูเอ็นดีพี เป็นกลไกในการบริหารจัดการโครงการ ซึ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาคีต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจว่า โครงการได้ให้การสนับสนุนอย่างตรงจุดและหนุนเสริมการทำงานของภาครัฐ ที่ต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามที่ท้าทายอยู่ในปัจจุบัน

ความร่วมมือระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และสำนักงานยูเอ็นดีพี ตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เป็นข้อพิสูจน์ในพันธกิจของทั้งสององค์กร ผ่านโครงการความร่วมมือที่ดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง สำหรับโครงการนี้ นอกจากการต่อยอดความสำเร็จ และช่วยกรมฯในการขยายผลงานซึ่งเป็นที่ยอมรับ เช่น การลาดตระเวณเชิงคุณภาพ ซึ่งใช้ความรู้และทักษะทางวิชาการสนับสนุนแล้ว โครงการฯ ยังให้ความสำคัญต่อชุมชน ซึ่งเปรียบเหมือน "รั้วมีชีวิต" ของพื้นที่อนุรักษ์ โดยการสร้างทางเลือกในการดำรงชีวิต ที่สอดคล้องกับการพิทักษ์ผืนป่า นอกจากนั้น โครงการฯ ยังช่วยเปิดมิติความร่วมมือกับภาคเอกชนและสาธารณชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนการอนุรักษ์สัตว์ป่าและผืนป่ามรดกโลกอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการบุกเบิกนวัตกรรมใหม่ ๆ

ในการบริหารจัดการ ซึ่งภาครัฐยังมีข้อจำกัดในการจัดสรรงบประมาณมาสนับสนุน เช่น การท่องเที่ยวเชิงนิเวศสัตว์ป่า และการระดมทุนจากสาธารณชนเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่า เป็นต้น

ความร่วมมือในระดับนานาชาติของโครงการนี้ ถือว่าเป็นประตูนำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ไปสู่การร่วมเป็นเครือข่ายกับนานาชาติ ทั้งในระดับผู้กำหนดนโยบายและระดับผู้ปฏิบัติงาน โดยมีการแสดงผลในพื้นที่ปฏิบัติงานจริง พร้อมทั้งการยกระดับการทำงานให้มีมาตรฐานสากล

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า วันเสือโคร่งโลก (Global Tiger Day) เกิดจากมติที่ประชุมสุดยอดผู้นำด้านเสือโคร่ง ณ นครเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก สหพันธรัฐรัสเซีย ในปี พ.ศ. 2553 ซึ่งเป็นการประชุมของผู้นำและรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของประเทศที่เป็นแหล่งอาศัยของเสือโคร่ง ทั้ง 13 ประเทศ แถบทวีปเอเชีย ได้แก่ รัสเซีย จีน อินเดีย เนปาล ภูฏาน บังคลาเทศ พม่า ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ปัจจุบันเสือโคร่งตกอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่ง คาดว่าทั่วโลกมีประชากรเสือโคร่งไม่เกิน 3,500 ตัว สำหรับประเทศไทย จากการศึกษาประชากรเสือโคร่งอย่างต่อเนื่อง เสือโคร่งน่าจะมีอยู่ในสภาพธรรมชาติประมาณ ๒๕๐ ตัว โดยมีประชากรหนาแน่นมากที่สุด บริเวณผืนป่าตะวันตกของประเทศ โดยเฉพาะในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักให้ประชาชนทุกหมู่เหล่า ร่วมกันอนุรักษ์เสือโคร่ง กรมอุทยานแห่งชาติ ฯ จึงได้จัดงานวันเสือโคร่งโลก ประจำปี 2559 ภายใต้แนวคิด ผืนป่าตะวันตก บ้านแห่งความหวังของเสือโคร่งอินโดจีน ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี โดยมีกิจกรรมมากมาย เช่น จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อเผยแพร่และรณรงค์การอนุรักษ์เสือโคร่งของประเทศไทย จัดนิทรรศการของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชน เปิดตัวโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก กิจกรรมหลักสูตรเสือโคร่งศึกษา กิจกรรมเดินป่าตามเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติบ้านเสือโคร่ง เป็นต้น

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit