นางดารัตน์ วิภาตะกลัส กรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จำกัด ได้เปิดเผยถึงกรณีที่ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 589/2554 หมายเลขแดงที่ 1919/2558 ให้บริษัท น้ำตาลไทยเอกลักษณ์ ชนะคดีที่ได้ฟ้องว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรีกำหนดให้ต้องปฏิบัติ เนื่องจากไม่นำเรื่องการขอย้ายโรงงานน้ำตาลไปตั้งที่อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย และขยายกำลังผลิตโรงงานน้ำตาลเป็น 25,000 ตันอ้อยต่อวัน ของน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา
ทั้งนี้ คำพิพากษาของศาลระบุว่า "เมื่อผู้ฟ้องคดี (บริษัท น้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จำกัด) ได้มีหนังสือร้องขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม) เสนอเรื่องการขออนุญาตย้ายโรงงานน้ำตาลและขยายกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาลของผู้ฟ้องคดีให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงมีหน้าที่ในการเสนอคำขอของผู้ฟ้องคดีต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป ทั้งนี้ ตามนัยมาตรา 4 วรรคหนึ่ง (9) และมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 สำหรับข้ออ้างต่างๆ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ปฎิเสธไม่เสนอคำขอของผู้ฟ้องคดีให้คณะรัฐมนตรีพิจารณานั้น เห็นว่า เป็นข้ออ้างที่ไม่มีเหตุผลที่จะรับฟังได้แต่อย่างใด"
จึงพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม) พิจารณาสั่งการเรื่องการออกใบอนุญาตย้ายโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์จากจังหวัดอุตรดิตถ์ไปยังจังหวัดสุโขทัย และขยายกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาลดังกล่าวจากอัตรา 18,000 ตันอ้อยต่อวัน เป็น 25,000 ตันอ้อยต่อวัน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยเร็วต่อไป
นางดารัตน์ กล่าวว่า โรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ ตั้งอยู่ในตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ตั้งแต่ปี 2517 โดยได้รับอนุญาตหีบอ้อย 18,000 ตันต่อวัน เป็นคู่สัญญากับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในจังหวัดอุตรดิตถ์และสุโขทัยจำนวนกว่า 3,700 ราย??อย่างไรก็ตาม แหล่งอ้อยส่วนใหญ่กว่า 70% อยู่ในจังหวัดสุโขทัย ทางโรงงานจึงได้รับการเรียกร้องจากชาวไร่อ้อยในจังหวัดสุโขทัยให้ย้ายโรงงานไปอยู่ในแหล่งอ้อย เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการบรรทุกอ้อยและขนส่งอ้อยไปยังจังหวัดอุตรดิตถ์ คิดเป็นเงินปีละประมาณ 100 ล้านบาท นอกจากนั้น ยังทำให้ชาวไร่อ้อยปลอดภัยในการเดินทาง ถนนหนทางก็จะไม่ต้องชำรุดจากการขนส่งอ้อยอีกด้วย ซึ่งทางโรงงานก็ได้ไปลงทุนซื้อที่ดินและเตรียมการทุกอย่างเพื่อย้ายโรงงานตามที่ชาวไร่อ้อยร้องขอ แต่กลับไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้เกิดการฟ้องร้องดังกล่าวขึ้นมา
ด้านนายสุชัย ลิ้มสมมติ นายกสมาคมชาวไร่อ้อยลูกพระยาพิชัย และประธานสหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อยรู้สึกยินดีกับคำพิพากษาของศาลปกครองกลางดังกล่าว เนื่องจากได้เคลื่อนไหวเพื่อให้ภาครัฐได้รับทราบความเดือดร้อนกรณีการขนส่งอ้อยในเขตจังหวัดสุโขทัยไปยังโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ มาโดยตลอด และโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ ก็ได้ทำเรื่องขอย้ายสถานที่ตั้งโรงงานมาอยู่ในจังหวัดสุโขทัย มาตั้งแต่ปี 2550 แล้ว และเคยได้รับการเสนอให้ผ่านการพิจารณาในที่ประชุม ครม. ถึง 2 ครั้ง ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2552 และเดือนพฤษภาคม 2553 แต่ก็ถูกถอนเรื่องออกมา และไม่ได้มีการเสนอกลับเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีตามที่ควรจะเป็น
"ที่เห็นความผิดปกติได้ชัดที่สุดก็คือ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2552 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในสมัยนั้นได้มีหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อให้นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้บริษัท น้ำตาลไทยเอกลักษณ์ ย้ายสถานที่ตั้งโรงงาน จากจังหวัดอุตรดิตถ์ ไปตั้งใหม่ที่ อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมระบุว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาความเหมาะสมในการย้ายสถานที่ตั้ง ซึ่งคณะทำงานฯ เห็นว่า ในการขออนุญาตย้ายสถานที่ตั้งหรือขยายกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาลดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ต่อชาวไร่อ้อยโดยตรง แต่ปรากฎว่าในวันที่ 27 สิงหาคม 2552 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกลับมีหนังสือด่วนที่สุดถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อขอถอนเฉพาะเรื่องของบริษัทน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ ออกจากการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี" นายสุชัยกล่าว
นายสุชัย กล่าวด้วยว่า หากโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ได้ย้ายไปตั้งที่สุโขทัย จะได้ใกล้ชิดกับชาวไร่อ้อยคู่สัญญามากขึ้น เพราะกว่า 70% ของชาวไร่อ้อยคู่สัญญาของไทยเอกลักษณ์ ซึ่งล้วนแต่เป็นสมาชิกของสมาคมชาวไร่อ้อยลูกพระยาพิชัย หรือกว่า 3,000 ครอบครัว มีพื้นที่ปลูกอ้อยอยู่ในเขตจังหวัดสุโขทัย ดังนั้น หากโรงงานน้ำตาลย้ายไปอยู่ในแหล่งอ้อย ก็จะสามารถส่งเสริมและพัฒนาการผลิตอ้อยได้ดียิ่งขึ้น สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลให้สูงขึ้นโดยการนำเครื่องจักรเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นมาใช้ ทำให้มีอ้อยเพิ่มมากขึ้นโดยที่ไม่ต้องขยายพื้นที่ปลูกอ้อย ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคและประเทศในภาพรวม อีกทั้งจะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งของชาวไร่อ้อยได้ถึงปีละประมาณ 100 ล้านบาท และที่สำคัญทำให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทางของชาวไร่อ้อย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit