กระตุ้นคนไทยใส่ใจตรวจวัดระดับวิตามินดี จุดเริ่มต้นการดูแลสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน ลดเสี่ยงโรคกระดูกพรุน หัวใจ มะเร็ง และแก่ก่อนวัย

07 May 2015

นายแพทย์สันต์ ใจยอดศิลป์ แพทย์ที่ปรึกษาเวชศาสตร์ครอบครัว ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ โรงพยาบาลพญาไท 2กล่าวว่า “จากการศึกษาวิจัยพบว่า คนไทยวัยทำงานมากกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 36.5[i] ขาดวิตามินดี ซึ่งวัดจากระดับวิตามินดีในเลือดที่มีค่าต่ำกว่าปกติ คือ มีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำกว่า 20 ng/ml โดยผู้ที่มีระดับวิตามินดีต่ำที่สุด มีวิตามินดีในเลือดเพียง 9.95 ng/ml ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเป็นเมืองร้อนและมีแดดจ้า แต่คนไทยวัยทำงานส่วนใหญ่กลับมีระดับวิตามินดีไม่เพียงพอ โดยเฉพาะคนในเขตกรุงเทพมหานครที่ประชากรถึงร้อยละ 64.6[ii] มีสถิติของการพร่องวิตามินดีหรือมีระดับวิตามินดีที่ไม่เพียงพอที่จะทำให้มีสุขภาพกระดูกและสุขภาพทั่วไปเป็นปกติ เพราะวิตามินดีเป็นวิตามินที่ร่างกายสังเคราะห์ได้เองเมื่อผิวหนังสัมผัสกับแสงอาทิตย์ที่มีรังสีอัลตราไวโอเลตบี(UVB) แต่ปัจจุบันพฤติกรรมคนเมืองหรือคนวัยทำงาน มักจะหลีกเลี่ยงแสงแดด นั่งทำงานในห้องแอร์นานๆ นิยมออกกำลังกายในที่ร่ม ส่วนสาวๆ ก็กลัวผิวดำ ผิวเสีย จึงทาครีมกันแดดที่มาสารป้องกัน (SPF) ในระดับสูง ซึ่งครีมกันแดดที่มีค่า SPF 15 ลดการดูดซึมวิตามินดีถึงร้อยละ 99[iii],4 หรือแม้แต่มลภาวะ ฝุ่นควัน และกระจกใส ก็สามารถกั้นรังสี UVB ให้สัมผัสกับผิวหนังเราน้อยลง จึงทำให้ร่างกายสังเคราะห์วิตามินดีได้ไม่เพียงพอ ขณะที่พบว่าประชากรกว่าหนึ่งพันล้านคนทั่วโลกขาดวิตามินดีหรือได้รับวิตามินดีไม่เพียงพอ[iv]”

กระตุ้นคนไทยใส่ใจตรวจวัดระดับวิตามินดี จุดเริ่มต้นการดูแลสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน ลดเสี่ยงโรคกระดูกพรุน หัวใจ มะเร็ง และแก่ก่อนวัย

นอกจากการได้รับแสงแดดไม่เพียงพอจะเป็นสาเหตุของการขาดวิตามินดีแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นที่เสี่ยงต่อการขาดวิตามินดีอีก ได้แก่ ผู้ที่มีผิวคล้ำ, ผู้ที่มีภาวะอ้วนมาก, ผู้ที่ไม่ได้รับประทานอาหารที่อุดมด้วยวิตามินดี, ผู้สูงอายุ (อายุเกิน 50 ปี), สตรีวัยหมดประจำเดือน, ผู้ที่ได้รับยากันชัก หรือยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน, สตรีตั้งครรภ์ หรืออยู่ในภาวะให้นมบุตร, ผู้ที่เป็นโรคระบบลำไส้ทำให้การดูดซึมวิตามินดีลดลง และผู้ป่วยโรคตับหรือไตเรื้อรัง

“หลายๆ คนอาจยังไม่ทราบถึงคุณประโยชน์ที่สำคัญของวิตามินดี การได้รับวิตามินดีที่เพียงพอจะส่งผลดีต่อสุขภาพตลอดวัฏจักรของชีวิต เริ่มตั้งแต่อยู่ในครรภ์ วิตามินดีช่วยทำให้การเติบโตของทารกในครรภ์เป็นไปอย่างสมบูรณ์ ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะครรภ์เป็นพิษหรือภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ และป้องกันการคลอดก่อนกำหนดด้วย[v] แต่หากมารดามีระดับวิตามินดีต่ำขณะตั้งครรภ์ อาจส่งผลต่อปัญหาสุขภาพต่างๆ ของลูกด้วย เช่น ปัญหาด้านโครงกระดูก และเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1[vi] นอกจากนั้น วิตามินดียังมีความสำคัญอย่างมากต่อการสร้างความแข็งแรงให้กระดูกและช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ เพราะวิตามินดีช่วยกระตุ้นการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัส[vii] มีงานวิจัยสมัยใหม่พบว่าหากขาดวิตามินดี แม้จะได้รับแคลเซียมในปริมาณมาก แต่ร่างกายก็ไม่สามารถดูดซึมหรือเก็บแคลเซียมไปซ่อมแซมกระดูกได้ ตรงข้ามกับคนที่มีระดับวิตามินดีอยู่ในเกณฑ์ที่เพียงพอ แม้จะได้รับแคลเซียมในปริมาณน้อยแต่กลับพบว่าสามารถเพิ่มมวลกระดูกได้มากกว่า ซึ่งจากข้อมูลของมูลนิธิโรคกระดูกพรุนสากล (IOF) โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะพบผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนทั่วโลกกว่า 200 ล้านคน[viii] ในขณะที่ร้อยละ 30 ของสตรีวัยหมดประจำเดือนมักจะเป็นโรคกระดูกพรุน[ix] โดยโรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่มักจะไม่แสดงอาการใดๆ ผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุนมักจะรู้ตัวเมื่อกระดูกหักจากอุบัติเหตุแล้ว หรืออาจรู้ได้จากอาการปวดหลังที่เกิดจากกระดูกสันหลังหักหรือทรุดลง” น.พ. สันต์ อธิบายเพิ่มเติม

นอกจากนั้น วิตามินดียังมีส่วนช่วยในการชะลอวัยของผิวพรรณได้[x] มีการศึกษาพบว่าระดับวิตามินดีต่ำเกี่ยวข้องกับความหย่อนยาน การมีรูขุมขนขยาย และการเกิดซีสต์บนผิวหนัง ดังนั้น วิตามินดีมีส่วนสำคัญในการสร้างผิวหนังและกล้ามเนื้อให้มีความแข็งแรง[xi] และยังมีงานวิจัยที่ชี้ว่า การมีระดับวิตามินดีต่ำส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลของเซลล์และทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และโรคเบาหวานชนิดที่ 1[xii]นอกจากนี้ ระดับวิตามินดีสูงๆ ยังช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคความดันโลหิตสูง[xiii] และป้องกันผนังหลอดเลือดแข็งตัว[xiv] ที่สำคัญยังมีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าระดับวิตามินดีสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งลำไส้[xv],[xvi] รวมทั้งมะเร็งต่อมลูกหมากด้วย[xvii]

“ดังนั้น จึงอยากรณรงค์ให้คนไทยหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องของวิตามินดี เริ่มต้นจากการตรวจวัดระดับวิตามินดี เพื่อจะได้รู้ว่าตัวเองมีระดับวิตามินดีอยู่ในระดับใด เพราะแต่ละบุคคลมีความสามารถในการดูดซึมวิตามินดีได้ในระดับที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ทั้งพฤติกรรมและลักษณะ เช่น คนผิวดำจะสังเคราะห์วิตามินดีได้น้อยกว่าคนผิวขาว หรือโรคที่แต่ละคนเป็นนั้นแตกต่างกัน เป็นต้น และถึงแม้ว่าบางคนจะรับประทานอาหารที่อุดมด้วยวิตามินดี ก็อาจจะมีระดับวิตามินดีไม่เพียงพอได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น การประเมินระดับวิตามินดีในเลือดจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพื่อทำให้รู้ว่าคุณมีระดับวิตามินดีอยู่ในเกณฑ์ที่พอเพียงหรือไม่ เพื่อจะได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ได้รับแสงแดดมากขึ้นและปรับการรับประทานอาหาร หรือรับการรักษาจากแพทย์เพื่อรับประทานวิตามินดีในขนาดที่เหมาะสมต่อไป” น.พ. สันต์ กล่าวสรุป

ด้านแขกรับเชิญพิเศษอย่างคุณกาละแมร์ – พัชรศรี เบญจมาศ ซึ่งเป็นไอดอลด้านสุขภาพของสาวๆ หลายคน ได้เผยว่า “เมื่อก่อนคิดว่าตัวเองไม่น่าขาดอะไร เพราะออกกำลังกายตลอด ทานอาหารครบ 5 หมู่ แต่พอตรวจออกมาพบว่ามีระดับวิตามินดีต่ำ คงเป็นเพราะเรากลัวผิวเสีย หลบแดดตลอด ทาครีมกันที่มีค่า SPF สูงๆ ดังนั้น คุณหมอจึงแนะนำให้เราปรับพฤติกรรม อย่างเรายังรักสวยรักงามอยู่ ดังนั้น ครีมกันแดดทาหน้าบริเวณหน้าจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่หากเราอยากให้ผิวโดนแดดบ้างเพื่อได้รับวิตามินดี เราอาจจะเลือกไม่ทาครีมกันแดดบริเวณอื่นแทน เช่น แขนหรือขา สัก 2 วันต่อสัปดาห์ และออกไปรับแดดแค่ 5-15 นาที เพียงเท่านี้ เราก็สามารถรับแดดได้ แต่ผิวยังไม่เสียอีกด้วย นอกจากนี้ เราก็ต้องปรับการรับประทานอาหาร ก็เลือกบริโภคอาหารที่อุดมด้วยวิตามินดีเพิ่มขึ้น อย่าง ปลาทูน่า ปลาแซลมอน เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะได้วิตามินดีแล้ว ยังได้คุณประโยชน์อื่นๆ ด้วย”

กระตุ้นคนไทยใส่ใจตรวจวัดระดับวิตามินดี จุดเริ่มต้นการดูแลสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน ลดเสี่ยงโรคกระดูกพรุน หัวใจ มะเร็ง และแก่ก่อนวัย กระตุ้นคนไทยใส่ใจตรวจวัดระดับวิตามินดี จุดเริ่มต้นการดูแลสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน ลดเสี่ยงโรคกระดูกพรุน หัวใจ มะเร็ง และแก่ก่อนวัย
ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit