มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถกปัญหากรณี "ทุจริตเงินสงเคราะห์คนจน" ชี้ปัญหาเกิดจากระบบและโครงสร้าง ที่ปัจจุบันเป็นการรวมศูนย์อำนาจ องค์กรส่วนกลางเป็นผู้บริหารจัดการทำให้เกิดช่องโหว่ในการทุจริตและคอรัปชั่น ประกอบกับประชาชน ชาวบ้าน และผู้ด้อยโอกาสยังขาดความรู้ด้านสิทธิพื้นฐาน และสิทธิที่ตนพึงได้ ทำให้ผู้ทุจริตสามารถทำการคดโกงได้อย่างง่ายขึ้นโดยปราศจากการร้องเรียน เนื่องจากทั้งชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ต่างได้รับผลประโยชน์ทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ตามการจะแก้ปัญหาการทุจริต คอรัปชั่นในกรณีเงินสงเคราะห์คนจนนั้น ต้องรื้อโครงสร้าง และทำการกระจายอำนาจไปยังองค์กรส่วนบริหารท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้มีกระบวนการทำงานที่โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ในขณะเดียวกันต้องให้ความรู้ชาวบ้านถึงเรื่องสิทธิต่างๆ ที่พึงได้รับตามกฎหมาย
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดเวทีเสวนาธรรมศาสตร์สู่สังคมครั้งที่ 2 หัวข้อ "ตีแผ่เงินสงเคราะห์" ระดมนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ เพื่อวิเคราะห์หาแนวทางการป้องกันการทุจริตเงินสงเคราะห์ เมื่อเร็วๆ นี้ ณ อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ศาสตราจารย์ ดร.โกวิทย์ พวงงาม คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาผู้ด้อยโอกาส หรือคนไร้ที่พึ่ง เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ภาครัฐจำเป็นต้องให้ความสำคัญและให้การดูแลเป็นพิเศษ ทั้งนี้เพราะคนกลุ่มนี้รัฐจะต้องดูแล ช่วยเหลือ เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้น ซึ่งมีปริมาณมากกว่า 10 ล้านคน ในประเทศไทย ที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือดูแลเป็นพิเศษ สำหรับประชากร 1 ใน 6 ของทั้งประเทศ โดยสามารถแบ่งเป็น ผู้พิการจำนวนประมาณ 2 ล้านคน คนไร้ที่อยู่อาศัยมากกว่า 1 แสนคน รวมถึงผู้ยากจนไร้ที่ดินทำกินจำนวนกว่า 5 ล้านคน และผู้สูงอายุอีกกว่า 12 ล้านคน จึงทำให้เป็นที่มาของโครงการรัฐสวัสดิการต่างๆ ที่มุ่งช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสเหล่านี้ ให้สามารถเข้าถึงสิทธิที่พึงได้รับในฐานะประชาชนชาวไทย ส่วนการช่วยเหลือในรูปแบบรัฐสวัสดิการเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิประชาชน ต้องมีการกำหนดที่ชัดเจนถึงผู้ที่จะได้รับการคุ้มครองผลประโยชน์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ สวัสดิการสำหรับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม อาทิ สิทธิการเข้าถึงการศึกษา สาธารณสุข ในขณะที่จำเป็นจะต้องมีสวัสดิการสำหรับเฉพาะกลุ่มผู้ยากไร้ คนด้อยโอกาส คนไร้ที่พึ่ง ต้องมีการกำหนดกรอบให้ความช่วยเหลือที่ชัดเจนเช่นกันเกี่ยวกับสิทธิของผู้ด้อยโอกาสกว่า
ศาสตราจารย์ ดร.โกวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีเงินสงเคราะห์คนจน คนด้อยโอกาส และคนไร้ที่พึ่ง ที่มีการพบปัญหาการทุจริตในหลายพื้นที่ของประเทศ อันมีสาเหตุเนื่องมาจากกลไกในการช่วยเหลือยังมีความบกพร่อง และไม่มีกลไกที่ช่วยเหลืออย่างละเอียดพอ การจะแก้ปัญหาทุจริตดังกล่าว ต้องทำการแก้ไขในเรื่อง "การรวมศูนย์อำนาจจากส่วนกลาง" ซึ่งเป็นที่มาของการทุจริตและการคอรัปชั่นต่างๆ โดยจำเป็นต้องมีการรื้อโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินใหม่ เนื่องจากแนวปฏิบัติราชการในปัจจุบันเป็นการนำเสนองบประมาณผ่านกระทรวง หรือกรมต่างๆ เพื่อนำไปแก้ปัญหาของประชาชน ชาวบ้านผู้ด้อยโอกาส ซึ่งหน่วยงานต่างๆ จากส่วนกลางนั้นไม่สามารถเข้าถึงสถานการณ์และจำนวนของผู้ที่ประสบปัญหาจริงในพื้นที่ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง ตลอดจนยังมีช่องว่างในกระบวนการที่ทำให้สามารถเกิดการทุจริตขึ้นมาได้ กรณีเงินที่มีการทุจริตในศูนย์พักพิงของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นการรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ซึ่งศูนย์พักพิงสังกัดส่วนกลาง ไม่ได้ขึ้นตรงกับส่วนจังหวัด หรือส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ฉะนั้นแนวทางในการแก้ปัญหาคือ รัฐบาลต้องปฏิรูประบบโครงสร้างการบริหารราชการใหม่ ให้องค์กรส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลคนด้อยโอกาสในพื้นที่ เนื่องจากองค์กรส่วนท้องถิ่นอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่มากกว่า เข้าใจถึงสถานการณ์และความต้องการได้อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังเป็นการทำงานที่มีกลไกในการตรวจสอบที่โปร่งใส ทั้งในระดับเทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือสภาท้องถิ่น อันเห็นได้จากกรณีเงินช่วยเหลือผู้สูงอายุที่องค์กรส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดการ และพบปัญหาการทุจริตที่น้อยลง
ด้าน ดร.ธร ปีติดล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สังคมไทยมีความเข้าใจว่าการทุจริตเกิดจากบุคคล แต่หากพิจารณาอย่างแท้จริงแล้ว รากฐานของการทุจริตเกิดจาก "ระบบ" ที่มีปัญหา อันได้แก่ ระบบการเมือง การทุจริตเกิดจากระบบการเมืองที่ผู้มีอำนาจมองว่าอำนาจเป็นของตนเองไม่ใช่ของประชาชนและหน้าที่ของตนเองไม่ใช่รับใช้ประชาชน ในทางระบบวัฒนธรรม การทุจริตเกิดจากวัฒนธรรมที่ผู้มีอำนาจรัฐมองสถานะของตนเหนือกว่าประชาชน ในขณะที่ ระบบกฎเกณฑ์ต่างๆ ของรัฐ มีมาตรฐานที่ไม่ชัดเจน จึงเปิดช่องทางให้ประชาชนสามารถสร้างสายสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจเพื่อเปิดช่องทางในการสร้างประโยชน์ให้กับตนเอง การแก้ปัญหาการทุจริตจึงต้องมุ่งแก้ที่ระบบที่กล่าวมาข้างต้น ตลอดจนพัฒนากลไกการตรวจสอบและการมีส่วนร่วมของประชาชน และการสร้างช่องทางให้ผู้มีอำนาจรัฐต้องรับผิดชอบต่อประชาชนมากขึ้น รวมถึงการพัฒนากลไกส่วนอื่นไปพร้อมกัน อาทิ สร้างองค์กรของประชาชนที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบภาครัฐ การเปิดช่องทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการระบบจัดสรรทรัพยากร เป็นต้น
ผศ.อานนท์ มาเม้า อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รัฐบาลได้ตั้งศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 76 แห่งทั่วประเทศ และมีแผนสงเคราะห์เงินให้แก่ผู้ยากไร้ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และชนกลุ่มน้อยในบางพื้นที่ เช่น ชาวเขา โดยมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับไว้อย่างชัดเจน แต่ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ประชาชน ชาวบ้าน ไม่รับรู้ถึง "สิทธิที่ตนพึงได้รับ" ชาวบ้านส่วนมากมีความเข้าใจในเรื่องเงินสงเคราะห์ว่าเป็น "ความเมตตาจากรัฐ" จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ ที่ชาวบ้านทำอย่างไรก็ได้ให้ได้เงินมา ได้มาเท่าไหร่ก็เท่านั้น ไม่ได้รับรู้ถึงสิทธิของตนเองอย่างทั่วถึง นำมาซึ่งเหตุการณ์การตักตวงผลประโยชน์จากความไม่เข้าใจของราษฎร ทำให้เกิดช่องโหว่ให้เกิดการทุจริตขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยมีหน่วยงาน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในระดับจังหวัด หรือภูมิภาค กระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยหากพบปัญหาการทุจริตสามารถเข้าแจ้งเบาะแสได้ในทันที ซึ่งในทางกฎหมายแล้ว ผู้เข้าแจ้งเบาะแสจะได้รับสิทธิของกฎหมายการคุ้มครองพยานอีกด้วย
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดเวทีเสวนาธรรมศาสตร์สู่สังคมครั้งที่ 2 หัวข้อ "ตีแผ่เงินสงเคราะห์" ถกถึงสาเหตุของปัญหาและแนวทางการป้องกันการทุจริตเงินสงเคราะห์ รวมถึงช่องโหว่ของกฎหมาย นโยบายการคลังและความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยที่เอื้อต่อการทุจริต โดยศาสตราจารย์ ดร.โกวิทย์ พวงงาม คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. ดร.ธร ปีติดล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. และผู้ช่วยศาสตราจารย์ อานนท์ มาเม้า อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. เข้าร่วมเสวนา ณ อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อเร็วๆ นี้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทรศัพท์ 02-564-4493 หรือเว็บไซต์ www.tu.ac.th
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit