ธ.ทิสโก้แนะเลือก "ประกันบำนาญ" เน้นสร้างผลประโยชน์หลังเกษียณ ลดเสี่ยงเงินไม่พอใช้ รับกระแสคนไทยอายุยืนถึง 100 ปี

19 Oct 2021

นายณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ ผู้อำนวยการอาวุโสที่ปรึกษาการลงทุนทิสโก้เวลธ์ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) (Mr.Nattakrit Laotaweesap, Head Of Wealth Advisory of TISCO Bank Public Company Limited) เปิดเผยถึงอายุขัยเฉลี่ยประชากรไทยว่า มีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากนี้ โดยจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ* พบว่า ปัจจุบันคนไทยมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 75 ปี และจะเพิ่มขึ้นอีกปีละ 4.4 เดือน ประกอบกับการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้คาดการณ์ว่าคนไทยที่เกิดตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป จะมีอายุยืนถึง 100 ปี ซึ่งเป็นไปตามเมกะเทรนด์ของโลกที่หลายประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรผู้สูงอายุ

ธ.ทิสโก้แนะเลือก "ประกันบำนาญ" เน้นสร้างผลประโยชน์หลังเกษียณ ลดเสี่ยงเงินไม่พอใช้  รับกระแสคนไทยอายุยืนถึง 100 ปี

จากประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น 'การวางแผนเพื่อการเกษียณ' จึงต้องให้ความสำคัญกับความเพียงพอของรายได้สำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่ยาวนานมากขึ้น ซึ่ง "ประกันบำนาญ" เป็นอีกเครื่องมือทางการเงินหนึ่งที่ผู้วางแผนการเงินเพื่อการเกษียณไม่ควรละเลย เนื่องจากสามารถสร้างรายได้และผลประโยชน์ในขณะดำรงชีวิต (Living Benefit) ที่สม่ำเสมอผลประโยชน์ไม่ผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจเหมือนการลงทุนประเภทอื่น จึงช่วยให้ผู้ซื้อประกันมีหลักประกันชีวิต นำมาซึ่งคุณภาพชีวิตหลังเกษียณที่ดีอีกด้วย นอกจากนี้ ประกันบำนาญยังมอบความคุ้มครองชีวิตกรณีผู้เอาประกันภัยจากไปก่อนวัยอันควร อีกทั้งยังสามารถนำค่าเบี้ยมาลดหย่อนภาษีตามเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนดสูงสุดไม่เกิน 3 แสนบาทต่อปี

นายณัฐกฤติกล่าวอีกว่า สำหรับวิธีการเลือกประกันบำนาญให้เพียงพอและตอบโจทย์การใช้ชีวิตหลังเกษียณนั้นควรเน้นที่มีผลประโยชน์ในขณะดำรงชีวิต (Living Benefit) สูง มากกว่าผลประโยชน์เมื่อเสียชีวิต (Death Benefit) เพราะประโยชน์หลักของประกันบำนาญ คือ เน้นสร้างกระแสเงินสดผ่านเงินบำนาญให้ผู้เอาประกันในขณะมีชีวิตในระดับสูง เช่น เลือกประกันบำนาญที่ให้เงินบำนาญต่อปีประมาณ 24% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย เพื่อให้มีเงินรับต่อเดือนหรือต่อปีที่เพียงพอต่อการใช้จ่าย และควรเลือกประกันบำนาญที่จ่ายเงินบำนาญไปจนถึงอายุ 99 ปี เพื่อตอบโจทย์ที่คนไทยมีโอกาสอายุยืนยาวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ควรพิจารณาถึงความมั่นคงทางฐานะการเงินของบริษัทประกันเพื่อเพิ่มความอุ่นใจด้านการรับประกันที่จะเกิดขึ้นหลังเกษียณ และถ้าวางแผนทำประกันบำนาญตั้งแต่อายุยังไม่มาก ค่าเบี้ยประกันต่อปีก็จะไม่สูงเมื่อเทียบกับผู้ที่ซื้อประกันบำนาญช่วงใกล้เกษียณอายุ

สำหรับวิธีคำนวณหาจำนวนเงินเอาประกันภัย (ทุนประกัน) ที่เหมาะสมเพื่อรักษาคุณภาพชีวิตหลังเกษียณอายุให้คล้ายกับตอนทำงานนั้น เบื้องต้นแนะนำให้ท่านประเมินหาค่าใช้จ่ายหลังเกษียณต่อเดือน โดยอัตราที่เหมาะสมควรอยู่ที่ประมาณ 70% ของค่าใช้จ่ายต่อเดือน ณ วันก่อนเกษียณ โดยที่ประมาณ 75% นั้นจะเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น ค่าอาหาร ค่าที่อยู่อาศัย ยานพาหนะ ค่ารักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆ เป็นต้น ส่วนที่เหลือจะเป็นค่าใช้จ่ายตาม Lifestyle เช่น การท่องเที่ยว การบริจาคทำบุญ และการลงทุนต่างๆ เมื่อประเมินจำนวนเงินที่ต้องใช้หลังเกษียณได้แล้ว ท่านสามารถพิจารณานำประกันบำนาญมาเพิ่มความมั่นคงของการวางแผนเกษียณ นอกเหนือจากสินทรัพย์อื่นๆ ที่ท่านมีตัวอย่างเช่น ปัจจุบันท่านอายุ 40 ปี หากท่านต้องการใช้จ่ายในการดำรงชีวิตประจำวันหลังเกษียณอยู่ที่ประมาณเดือนละ 20,000 บาท หรือปีละ 240,000 บาท คาดว่าจะเกษียณ ณ อายุ 60 ปี และจะมีชีวิตอยู่ถึง 85 ปี ณ วันที่เกษียณอายุต้องเตรียมเงินทุนไว้ 5,338,413 บาท (คำนวณจากอัตราผลตอบแทน ปรับด้วยเงินเฟ้อสุทธิที่ 1%)

แต่หากมีอายุยืนยาวถึง 99 ปี ก่อนเกษียณอายุจะต้องเตรียมเงินทุนไว้ 7,769,319 บาท (คำนวณจากอัตราผลตอบแทน ปรับด้วยเงินเฟ้อสุทธิที่ 1%) ซึ่งเป็นจำนวนเงินไม่น้อยเลยทีเดียว กรณีนี้หากท่านทำประกันบำนาญที่ได้รับเงินบำนาญรายปีอยู่ที่ 24% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย และคุ้มครองยาวนานถึง 99 ปี โดยปัจจุบันท่านมีอายุ 40 ปี จะต้องทำประกันบำนาญที่ทุนประกัน 1 ล้านบาท เพื่อหลังเกษียณอายุจะได้รับเงินบำนาญปีละ 240,000 บาท โดยก่อนเกษียณอายุท่านจะชำระค่าเบี้ยประกันต่อปีประมาณ 215,920 บาท และเลือกชำระค่าเบี้ยรายปีทุกปีจนถึงอายุ 60 ปี สุทธิแล้วต้องชำระเงินค่าเบี้ยทั้งสิ้น 4,318,400 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าเงินที่ต้องชำระค่าเบี้ยประกันจะน้อยกว่าเตรียมเงินทุนการด้วยตนเองถึง 3,450,919 บาท (คำนวณจาก 7,769,319 - 4,318,400) และยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างต่อเนื่องตลอดทุกปีที่ชำระค่าเบี้ยประกันภัยอีกด้วย ทั้งนี้ ผู้ซื้อควรทำความเข้าใจรายละเอียดความคุ้มครองและเงื่อนไข ก่อนตัดสินใจทำประกันภัยทุกครั้ง

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit