บ้านผาสุขต้นแบบการจัดการน้ำบนที่สูง แก้ปัญหาความขัดแย้ง ด้วยงานวิจัย โดย งานการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

14 Nov 2017

"" ที่นี่แต่เดิมคนในชุมชนเกิดความไม่เข้าใจเรื่องการใช้น้ำของแต่ละครัวเรือนที่ไม่เท่ากัน บางครัวเรือนใช้มาก บางครัวเรือนใช้น้อย ทำให้เกิดการแย่งชิงน้ำใช้ เพราะความเข้าใจผิด แม้จะอธิบายอย่างไรก็ไม่เข้าใจกลายเป็นปัญหาถกเถียงกันของคนในชุมชน ประกอบกับชาวบ้านซึ่งในอดีตรู้จักแต่การทำไร่เลื่อนลอย เมื่อเปลี่ยนมาทำนาก็ต้องดึงน้ำไปใช้ทำนามากขึ้น รวมทั้งมีการปล่อยน้ำทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะตอนนั้นไม่รู้จักคุณค่าของน้ำ ทำให้จากที่เคยมีน้ำเพียงพอ ก็เริ่มไม่เพียงพอ "" นายเอกพล ศิริทรัพย์อุดม ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ม.3 บ้านผาสุข ในฐานะนักวิจัยชุมชน เล่าให้ฟังถึงสถานการณ์น้ำของชุมชนในอดีตที่ก่อให้เกิดปัญหาการแย่งชิง ""น้ำ"" ขึ้นในชุมชน เป็นที่มาของการใช้งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเข้าไปเป็นเครื่องมือในการสืบค้นปัญหาโดยผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนภายใต้โครงการพัฒนาระบบการจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรของชุมชน บ้านผาสุข ตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ล่าสุดงานวิจัยจากโครงการฯนี้ยังได้รับรางวัลผลงานวิจัยเด่น สกว.ประจำปี 2559

บ้านผาสุขต้นแบบการจัดการน้ำบนที่สูง แก้ปัญหาความขัดแย้ง ด้วยงานวิจัย โดย งานการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

นายเอกพล กล่าวถึงการทำงานวิจัยว่า "" การได้ลงมือทำวิจัยทำให้ความคิดของเราเปลี่ยนไป จากที่เคยได้ยินว่า การทำงานวิจัยนั้นยาก ทำไม่ได้หรอก เกิดความกังวลว่าจะทำไหวไหม แรกๆ รู้สึกท้อและคิดไปว่าคงทำไม่ได้แน่ แต่สุดท้ายกลับเป็นเรื่องที่ง่ายและมีประโยชน์มาก หลังพี่เลี้ยงจาก สกว.เข้ามาอบรมกระบวนการการทำวิจัยเพื่อท้องถิ่น จากที่เราไม่เคยรู้เรื่องการทำวิจัยมาก่อน ตอนนี้เรารู้แล้วว่า การทำวิจัยเกิดจากอะไร และต้องทำอย่างไร เป็นการระดมความคิด ช่วยกันคิดช่วยกันทำ เป็นการสร้างความเข้าใจกันระหว่างชาวบ้านโดยที่ไม่ต้องใช้หลักวิชาการมากนัก เป็นการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทำให้รู้ว่าจะต้องทำอะไรก่อนอะไรหลัง มันคือ กระบวนการทำวิจัยแบบมีส่วนร่วม นำมาสู่การวางแผน สืบค้นปัญหา จัดเก็บข้อมูล ตั้งแต่การใช้น้ำของแต่ละครัวเรือน สำรวจแหล่งต้นน้ำ สอบถามผู้สูงอายุและปราชญ์ชุมชน จดบันทึก ลงพื้นที่สำรวจ และนำข้อมูลทั้งหมดมารวบรวมจัดทำเป็นฐานข้อมูลกลายเป็นคู่มือของชุมชน ที่นำมาใช้เป็นแนวทางการบริหารจัดการน้ำของชุมชน แตกต่างจากที่เคยทำมาถือเป็นครั้งแรกที่ได้มีข้อมูลเป็นของชุมชนเอง""

ด้าน นายสถาพร ใจปิง หนึ่งในทีมนักวิจัยชุมชนบ้านผาสุข กล่าวเสริมว่า ""งานวิจัยนี้ทำให้เกิดระบบการบริหารจัดการน้ำที่เข้าไปมีส่วนช่วยลดความขัดแย้งของคนในชุมชน ด้วยวิธีการสันติวิธีโดยอาศัยกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นเครื่องมือในการสืบค้นหาสาเหตุและสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการหาทางออก ตลอดจนสร้างจิตสำนึกให้คนในชุมชนรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงร่วมกันพัฒนาชุมชนและพื้นที่ในการสร้างคุณภาพทรัพยากร และคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ภายใต้หลัก""เศรษฐกิจพอเพียง"" ที่สำคัญผลงานวิจัยนี้ เป็นการดำเนินงานโดยชาวบ้านซึ่งเป็นคนในชุมชนที่ประสบปัญหาโดยตรง ที่สำคัญที่สุด คือ สามารถลดปัญหาความขัดแย้งการใช้น้ำทั้งในปัจจุบันและอนาคตซึ่งเป็นปัญหาที่สั่งสมมานานได้""

การทำวิจัยในโครงการนี้ได้เปลี่ยนวิธีคิดของคนไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของชุมชนบ้านผาสุขให้ฟื้นฟูรักษาป่าต้นน้ำและให้คนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจากข้อมูลที่ชุมชนค้นพบได้สร้าง 1. กฎกติกาของชุมชนด้วยการใช้หลักธรรมาภิบาลในการจัดสรรน้ำ และการเข้าใช้ประโยชน์จากดิน น้ำ ป่า 2. การฟื้นฟูแหล่งต้นน้ำ และปลูกป่าเสริมตามคามเชื่อและการใช้ประโยชน์จากป่าร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยแบ่งการใช้ประโยชน์ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ป่าต้นน้ำ ป่าอนุรักษ์ และป่าใช้สอย โดยป่าชุมชนและพื้นที่ทำกินนั้น ได้ผ่านการจัดทำโฉนดชุมชนซึ่งชาวบ้านนักวิจัยได้ร่วมกันนำเสนอต่อผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ และได้รับงบประมาณสนับสนุนในการดำเนินการจากชลประทานจำนวน 27 ล้านบาท นอกจากนี้ยังได้รับงบประมาณจากโครงการประชารัฐอีก 250,000 บาทเพื่อสร้างระบบท่อส่งน้ำ ระยะทาง 12,000 เมตร เพื่อแก้ไขปัญหาการแย่งน้ำเพื่อการเกษตรบริเวณลำน้ำมางกับห้วยป่าแอ้ว ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำเพื่อการเกษตรได้ 23 ไร่ และ 3.การใช้ข้อมูลงานวิจัยที่เป็นข้อเท็จจริงมาเป็นเครื่องมือสร้างความเข้าใจนำไปสู่การพูดคุยและหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างสันติ ลดปัญหาความขัดแย้งในการบริหารจัดการน้ำ

นายเอกพล ยังได้กล่าวทิ้งท้าย "" ข้อดีของการทำงานวิจัยที่สำคัญ คือ ทำให้คนในชุมชนหันมารักและสามัคคีกัน ชุมชนได้เรียนรู้ว่าการรู้จักแบ่งปันจะไม่ก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาทหรือแย่งชิงน้ำเกิดขึ้น และยังเรียนรู้ว่าการอยู่ร่วมกันถ้าไม่ช่วยกันคิด ไม่ช่วยกันทำ ปัญหาทุกอย่างก็จะไม่มีทางออก จึงมองว่าทุกชุมชนควรนำงานวิจัยมาใช้เพราะถือเป็นสิ่งสำคัญและมีประโยชน์มากดังเช่นที่ชุมชนบ้านผาสุขได้รับ ทำให้เราได้ข้อมูลที่สามารถสะท้อนหรือนำเสนอต่อหน่วยงานภาครัฐเพื่อใช้พิจารณาได้ทันทีโดยเฉพาะเรื่องระบบน้ำหรือชลประทาน จึงอยากเห็นชุมชนอื่นๆ ทำงานวิจัยเช่นกัน อย่าคิดว่าเป็นปัญหาหนัก ทำไม่ได้ เพราะเมื่อลงมือทำ สุดท้ายก็จะทำได้ และไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด ""

บ้านผาสุขต้นแบบการจัดการน้ำบนที่สูง แก้ปัญหาความขัดแย้ง ด้วยงานวิจัย โดย งานการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) บ้านผาสุขต้นแบบการจัดการน้ำบนที่สูง แก้ปัญหาความขัดแย้ง ด้วยงานวิจัย โดย งานการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) บ้านผาสุขต้นแบบการจัดการน้ำบนที่สูง แก้ปัญหาความขัดแย้ง ด้วยงานวิจัย โดย งานการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit