นิทานจากนามานุกรมวรรณคดีไทย สำหรับเด็กและเยาวชน

22 Apr 2015

ดร.สุวัฒน์ เงินฉ่ำ กรรมการมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา กล่าวว่า นามานุกรมคือ พจนานุกรมวรรณคดีไทย เขียนโดยผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านภาษาและวรรณคดี เป็นหนังสือเกี่ยวกับวรรณคดีที่บอกเล่าเรื่องราว มีชื่อผู้แต่ง สถานที่ เขียนเรียงตามลำดับ ก - ฮ จัดทำเป็นครั้งแรกโดยมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เพื่อเทิดพระเกียรติและเป็นแหล่งข้อมูลให้กับผู้ที่สนใจได้ใช้เป็นพื้นฐานในการศึกษาค้นคว้าวรรณคดีไทย

“หนังสือนามานุกรมเกิดขึ้นจากคณะกรรมการมูลนิธิสมเด็จพระเทพได้ขอพระราชทานราชานุญาตจัดทำหนังสือเล่มนี้ขึ้น เนื่องในวโรกาสที่พระองค์ท่านมีพระชนมายุ 50 พรรษา เมื่อ ปี 2548 ซึ่งหนังสือมีทั้งหมด 3 ชุด ชุดที่ 1 เป็นหนังสือเกี่ยวกับชื่อวรรณคดี ชุดที่ 2 เป็นเรื่องเกี่ยวกับสถานที่ ชุดที่ 3 เกี่ยวกับชื่อตัวละครและปกิณณกะ คณะกรรมการได้ทูลเกล้าขอพระบรมราชานุญาต ท่านก็ทรงพระราชทานพระราชนุญาตด้วยทรงเห็นว่า วรรณคดีเป็นสมบัติที่บรรพชนของเราได้สร้างสรรค์ขึ้นเป็นมรดกของชาติ พระองค์ได้ทรงรับสั่งว่าอยากให้เด็กๆ ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ เพราะเป็นสมบัติของชาติที่มีเรื่องราวที่สอดแทรกความคิดสร้างสรรค์มากมาย ทางฝ่ายการศึกษาจึงรับมาดำเนินการโดยได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก และสำนักพิมพ์ต่างๆ อย่างแปลน ฟอร์ คิดส์ และประภาคร เพื่อผลิตเผยแพร่สู่สาธารณะ”

ทางด้านคุณสุธาทิพ ธัชยพงษ์ รองประธานมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก กล่าวต่อว่า “เราเชื่อว่าการอ่านตั้งแต่เล็กจะสร้างให้เด็กมีนิสัยรักการอ่าน หนังสือนามานุกรมวรรณคดีไทยฉบับผู้ใหญ่นี้ส่วนมากจะเอาไว้อ่านในห้องสมุดสำหรับค้นคว้า การที่จะทำให้เด็กได้เข้าถึง ต้องทำให้เด็กอ่านง่าย เข้าใจและเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ง่าย เมื่อมีโอกาสจึงได้กัลยาณมิตรของมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กมาร่วมงาน คือ แปลน ฟอร์ คิดส์ และประภาคาร ซึ่งคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ประธานมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ได้เขียนเอาไว้ว่า เป็นความภาคภูมิใจของมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กที่ได้มีโอกาส ร่วมปลูกฝังความรัก ความศรัทธาในวรรณคดีไทย ตามแนวพระราชดำริในปีมหามงคลนี้ ทางมูลนิธิจึงอยากขอบพระคุณที่ได้โอกาสนี้ในการทำหนังสือดีๆ เพื่อเด็กๆ ชุดนิทานจากนามานุกรมวรรณคดีไทยช่วยส่งเสริมการอ่านในเด็กระดับอนุบาล2-3ปีได้เป็นอย่างดี ทำให้เด็กๆ สนใจอยากอ่าน และเชื่อแน่ว่าเมื่อเขาโตขึ้น เขาก็จะสนใจเพิ่มเติมและสามารถไปค้นคว้าต่อได้ตามที่เขาต้องการ เรียกได้ว่าเป็นโครงการที่ได้ประโยชน์ทุกฝ่าย และในรัฐบาลชุดนี้มุ่งส่งเสริมความเป็นไทย ดังนั้น เรื่องวรรณคดีไทยจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยอนุรักษ์ความเป็นไทยได้มากขึ้น”

จากหนังสือนามานุกรมวรรณคดีไทยกว่า 300 เรื่อง ปัจจุบันได้คัดสรรมาเป็นหนังสือนิทานสำหรับเด็ก 14 เรื่อง โดยใช้ชื่อว่า นิทานจากนามานุกรมวรรณคดีไทย การดำเนินงานแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ บริษัท แปลน ฟอร์ คิดส์ จำกัด รับหน้าที่เป็นผู้ผลิตจำนวน 8 เรื่อง คือ กำเนิดพระสงข์, กำเนิดหนุมาน, โสนน้อยเรือนงาม และพระสุธน มโนราห์, สังข์ทอง, หลวิชัย-คาวี, สุดสาคร และสิงหไกรภพ และบริษัท ประภาคาร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด จำนวน 6 เรื่อง คือ นกน้อยเลือกหัวหน้า, อุทัยใจใฝ่ธรรม, สินสมุทรจอมพลัง, พลายงามผู้พิชิต, พระรถเสนพอเพียง และสีหนาทปราบยักษ์

“การผลิตหนังสือชุดนี้ไม่ง่ายเลย เพราะวรรณคดีจริงๆ จะหนาหลายร้อยหน้า เราต้องคัดย่อมาให้อ่านได้ใจความ ซึ่งความยากง่ายอยู่ที่เรื่องที่เราเลือกด้วย ทั้งนี้เราจะต้องดูว่าเนื้อหาเหมาะกับเด็กไหม วรรณคดีไทยบางเรื่องเนื้อหายังไม่เหมาะกับเด็ก เพราะเด็กยังไม่มีวิจารณญาณเท่าที่ควร เราจึงต้องพิถีพิถันในการเลือกเรื่อง และต้องสนุก ที่สำคัญต้องสอดคล้องกับต้นฉบับนามานุกรมวรรณคดีไทย ตามที่มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาได้สร้างสรรค์มา ไม่ว่าจะเป็นชื่อของตัวละคร สถานที่ เมือง ต้องสอดคล้องกัน โดยพันธกิจของแปลน ฟอร์ คิดส์ เราอยากให้เด็กๆ รู้ว่านี่คือสมบัติของชาติ หากเขารู้จักแต่นิทานต่างชาติเขาจะไม่รักนิทานไทย เราจึงอยากปลูกฝังให้เด็กรู้จักรากเง้าของตนเอง โดยเราแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ชุด ได้แก่ชุดนิทานจะมี 4 เรื่องคือ กำเนิดหนุมาน กำเนิดพระสังข์ โสนน้อยเรือนงาม และพระสุธนมโนรา เราต้องคิดว่าทำอย่างไรให้เด็ก 4-6 ปีอ่านแล้วเข้าใจ ซึ่งต้องใช้ความสามารถมาก ที่แปลน ฟอร์ คิดส์ มีนักเขียนคือตุ๊บปองและน้านกฮูก ซึ่งนักเขียนจะต้องรู้ใจเด็กจริงๆ จึงจะสามารถทำเรื่องที่เข้าใจยากให้เป็นเรื่องง่ายได้ แล้วคัดย่อมาให้เหลืออยู่ในเล่มจำนวน 24 หน้า โดยเนื้อหาครบถ้วนและอ่านสนุกอีกด้วย อีกชุดคือวรรณกรรมสำหรับเด็ก เหมาะสำหรับเด็กอายุ 7-12 ปี มีทั้งหมด 4 เรื่อง สังข์ทอง สิงหไกรภพ สุดสาคร หลวิชัย-คาวี มีความหนาจำนวน 48 หน้า ซึ่งวรรณกรรมสำหรับเด็กนี้จะมีรายละเอียดลงลึกเยอะกว่านิทานภาพ” คุณริสรวล อร่ามเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แปลน ฟอร์ คิดส์ จำกัด กล่าว

คุณสุคนธา สินธพ ผู้ช่วยผู้บริหารแผนกวรรณกรรมเด็ก จากสำนักพิมพ์ ประภาคาร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด กล่าวเสริมว่า “พอเรารู้ว่าจะต้องนำโจทย์จากนามานุกรมวรรณคดีไทยมาทำ 6 เรื่อง ซึ่งเราจะเอานิทานที่เด็กๆ ยังไม่ค่อยรู้จักมาทำ คือเรื่องนกน้อยเลือกหัวหน้า, พระรถเสนพอเพียง, พลายงามผู้พิชิต, สินสมุทรจอมพลัง, สีหนารถปราบยักษ์ และอุทัยใฝ่ใจธรรม ในยุคนี้เรามุ่งเน้นถึงหลักค่านิยม 12 ประการเข้ามาผนวกในเล่มด้วย ใน 6 เล่มกระจายไปเรื่องละ 2 ค่านิยม ซึ่งหนังสือชุดนี้เป็นความตั้งใจที่จะถวายพระองค์ท่านด้วย”

ในฐานะนักเขียนนิทานสำหรับเด็ก คุณตุ๊บปอง เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป กรรมการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก กล่าวว่า “เป็นคนที่ผูกพันกับวรรณคดีไทยมาตั้งแต่เด็ก อย่างเรื่องกำเนิดพระสังข์ เขียนด้วยความประทับใจในเนื้อหา พระนางจันทราเทวีได้บอกกับมนุษย์ทุกคนว่า ไม่ว่าลูกจะเป็นอย่างไรแม่ก็รักลูกอย่างไม่มีเงื่อนไข จริงๆเรื่องพระสังข์นั้น กินใจเรามาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว แม่เคยเล่าให้ฟังและชอบมาก จริงๆ แล้ววรรณคดีไทยถ้าย้อนกลับไปจะอยู่ในใจของเราทุกคน เพียงแต่ว่าเราจำได้มากน้อยแค่ไหน พอมีโอกาสแล้วเราถือว่าเป็นมงคลที่ได้ทำเรื่องนี้“ นอกจากการสอนให้เด็กรักการอ่านแล้ว การสร้างให้เด็กรู้จักคิดเป็นจะช่วยพัฒนาเด็กให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ดร.สุวัฒน์ เสนอแนะว่า “ผู้ที่จะกำกับเรื่องจากวรรณคดีไทยต้องเข้าใจถึงแก่นแท้ เพราะต้องหยิบเอาเฉพาะจุดที่เด็กจะสนใจมานำเสนอ เหล่านี้นับเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่น่ารักเหมาะกับเด็ก พระองค์ท่านได้รับการปลูกฝังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชินีนาถให้ทรงอ่านนิทานมาตั้งแต่เด็กๆ พระองค์ท่านรับสั่งว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญและต้องทำตั้งแต่เด็ก ต้องสร้างสรรค์ให้เด็กมีความคิด มีจินตนาการ หนังสือเหล่านี้เองที่จะทำให้เขามีจินตนาการเกิดความซาบซึ้งในสิ่งดีงามที่บรรพบุรุษสร้างไว้ พ่อแม่จะต้องตั้งคำถามให้เด็กคิดตั้งแต่เด็ก ไม่ใช่ให้เด็กจำอย่างเดียว ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญมาก เราต้องช่วยกันสร้าง ไม่ใช่เล่าให้ฟังอย่างเดียว ต้องถามให้เขาคิดและต้องกระตุ้นให้เขาหาคำตอบด้วย”

อย่างไรก็ตาม การอ่านและการศึกษาวรรณคดีไทยโดยใช้นิทานเป็นพื้นฐานเป็นอีกหนึ่งหนทางที่ทำให้เด็กฉลาด เพราะเด็กจะได้พัฒนาทักษะรอบด้านโดยมีหนังสือเป็นสื่อ นอกจากนี้ยังเป็นการรักษาคุณค่าของวรรณคดีไทยเอาไว้ไม่ให้สูญหาย เพื่อจะได้ธำรงไว้เป็นสมบัติของชาติต่อไป

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit