รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ภายใต้การกำกับดูแลของหอการค้าไทย มีเจตนาที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยฯ ดำเนินการสอนอย่างมีวิวัฒนาการประกอบด้วยวิชาการยุคใหม่ ให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความเข้าใจธุรกิจการค้าที่ทันสมัย ดังนั้น ภารกิจที่สำคัญของ ม.หอการค้าไทย คือการให้บริการวิชาการแก่สังคม เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความสามารถทัดเทียมกับนานาชาติ ม.หอการค้าไทย จึงมีประสบการณ์การร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งจากต่างประเทศ ทั้งการร่วมกันพัฒนาหลักสูตร วิชาการ งานวิจัย ด้วยเล็งเห็นประโยชน์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ จนกระทั่งเกิดความร่วมมือครั้งใหม่กับมหาวิทยาลัยฮาร์เบอร์สเปซ จากบาร์เซโลน่า ประเทศสเปน ซึ่งมีเจตนารมย์ที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ผู้เรียน โดยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญที่มากประสบการณ์ในสายธุรกิจ และวงการสตาร์ทอัพระดับโลก โดยมีความคาดหวังที่จะผลิตบุคลากร ที่สามารถตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจได้ทันที ด้วยวิชาการที่ทันสมัย ควบคู่กับการปฏิบัติเสมือนทำงานจริง สอดคล้องกับทักษะแนวใหม่ที่เรียกว่า 21st-Century Skill หรือทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง และเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิตไปพร้อมกับโลกการทำงาน เชื่อมโยงกับโลกยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ภาครัฐมีแนวคิดที่ต้องการจะสนับสนุนให้มีการขยายฐานหลักสูตรของมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก ให้เข้ามาเปิดการเรียนการสอนในประเทศไทย เพื่อขยายขีดความสามารถของคนรุ่นใหม่ ที่จะกลายเป็นกำลังสำคัญของตลาดแรงงานและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต
รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ประธาน HARBOUR.SPACE @UTCC กล่าวว่า โครงการหลักสูตร Harbour.Space @UTCC เกิดจากวิสัยทัศน์ที่ ม.หอการค้าไทย ต้องการสร้างการเปลี่ยนผ่านวงการอุดมศึกษาของไทยให้ก้าวไกลทันโลกสมัยใหม่ ขยายขีดความสามารถของบุคลากรของชาติในอนาคต สามารถสร้างงาน อาชีพ นวัตกรรม หรือธุรกิจที่จะติดตัวผู้เรียนไปได้หลังจากสำเร็จการศึกษา ด้วยการสอนจากนักธุรกิจ เจ้าของแนวคิดนวัตกรรมที่มีประสบการณ์จริง ซึ่งต่างจากการศึกษาในรูปแบบเดิม ๆ และจะสร้างคุณลักษณะพิเศษในตัวผู้เรียนคือ นอกจากการสร้างทักษะด้านการเป็นผู้ประกอบการ การสร้างนวัตกรรมที่สร้างการเปลี่ยนแปลงแก่สังคมโลกแล้ว ยังสร้างลักษณะนิสัยกล้าคิด กล้าริเริ่ม กล้าเผชิญความท้าทายอีกด้วย ทั้งนี้ HARBOUR.SPACE @UTCC ได้นำเสนอรูปแบบการศึกษาที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อน ด้วยการบูรณาการองค์ความรู้ด้านสตาร์ทอัพ เทคโนโลยี และการออกแบบ จากมืออาชีพระดับโลก ช่วยดึงศักยภาพในตัวนักศึกษาอย่างเต็มกำลังสามารถ
อีกปัจจัยที่ ม.ฮาร์เบอร์สเปซ เล็งเห็นถึงศักยภาพของ ม.หอการค้าไทย คือมาตรฐานทางวิชาการ กล่าวคือเมื่อทบทวนระบบของมาตรฐานทางวิชาการ งานวิจัยของคณาจารย์จาก ม.หอการค้าไทย ที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ พบว่ามีความสอดคล้องกับมาตรฐานและภารกิจการดำเนินงานของ ม.ฮาร์เบอร์สเปซ และอีกปัจจัยคือภาพลักษณ์และจุดยืนที่แข็งแกร่งของ ม.หอการค้าไทย ที่ต้องการสร้างนักธุรกิจรุ่นใหม่ สร้างจิตวิญญาณผู้ประกอบการที่ทันสมัยแก่ผู้เรียน เมื่อเกิดความร่วมมือระหว่าง ม.หอการค้าไทย และ ม.ฮาร์เบอร์สเปซ ในการสร้างหลักสูตร Harbour.Space @UTCC จึงเกิดเป็นการเรียนการสอนในรูปแบบ Mentoring Program คือเรียนพร้อมปฏิบัติควบคู่การโค้ชจากนักธุรกิจตัวจริง ในขณะเดียวกัน ม.ฮาร์เบอร์สเปซ มีความเห็นว่า ประเทศไทย เป็นสถานที่ที่มีความเหมาะสมด้านทรัพยากร โดยเฉพาะในแง่ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่โดดเด่นและมีชีวิตชีวา อาจารย์พิเศษชาวต่างประเทศซึ่งเป็นนักธุรกิจระดับโลกให้ความสนใจ เมื่อเดินทางมายังประเทศไทย นอกจากจะมาเพื่อปฏิบัติงานในด้านการสอน ก็สามารถใช้เวลาไปกับการท่องเที่ยว จึงนำมาสู่แนวทางการดำเนินงานในภาคการศึกษาล่าสุด ที่มีการจัดการเรียนการสอนขึ้นที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งได้สร้างประสบการณ์ที่สร้างสรรค์แก่ทั้งอาจารย์ผู้สอนและนักศึกษา ที่มีได้มากกว่าการเรียนผ่านระบบออนไลน์และสนับสนุนการท่องเที่ยวของประเทศในเวลาเดียวกัน
ดร.พันธิตรา ปัทมานนท์ Director of Operation, Harbour.Space @UTCC เปิดเผยถึงการดำเนินงานว่า การจัดการเรียนการสอนหลักสูตร Harbour.Space @UTCC ที่ จ.ภูเก็ต มีผลสืบเนื่องจากการเรียนการสอนในปีแรก ที่เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอนมาใช้ระบบออนไลน์ ซึ่งไม่สอดคล้องกับเจตนาของอาจารย์ผู้สอนและนักศึกษา ซึ่งมองว่าเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ที่จำเป็นต้องทำควบคู่กับการปฏิบัติจริง ประจวบเหมาะกับในรุ่นถัดมาอยู่ในช่วงเวลาที่มีโครงการนำร่องการเปิดประเทศ คือ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ซึ่งงดเว้นมาตรการการกักตัว 14 วันของนักท่องเที่ยว ในขณะที่การเรียนการสอนของหลักสูตรฯ ใช้เวลาเพียงแค่สามสัปดาห์ต่อหนึ่งโมดูลประกอบกับเหตุผลด้านเวลาของอาจารย์ผู้สอนที่มีอยู่อย่างจำกัด หากต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วันเพื่อให้สอดรับกับมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบกับการบริหารจัดการเวลาส่วนบุคคลของทั้งผู้สอนและผู้เรียน จึงมีความเห็นว่าควรริเริ่มจัดการเรียนการสอนแบบออนไซต์ในสถานที่ซึ่งปลอดภัย นั่นคือ จ.ภูเก็ต ที่จะสร้างความอุ่นใจแก่อาจารย์ผู้สอนและนักศึกษา ควบคู่กับการปฏิบัติตามมาตรการที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่ทุกฝ่ายซึ่งเข้าหลักเกณฑ์ของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ โดยทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการเรียนการสอน จำเป็นต้องรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตรวจหาเชื้อด้วยวิธีการ RT-PCR ก่อนเดินทางไม่เกิน 72 ชั่วโมง และตรวจหาเชื้อด้วย Antigen Test Kit (ATK) ที่โรงแรมทุกสัปดาห์โดยสถานพยาบาล เพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาดตลอดภาคการศึกษา ซึ่งในโอกาสนี้ ได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวมถึงหอการค้าจังหวัดภูเก็ต เป็นอย่างดี โดยการเรียนการสอนจัดขึ้นในระหว่างเดือนสิงหาคม - ธันวาคม 2564 วันละ 3 ชั่วโมง และในวันหยุด นักศึกษาจะได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันโดยจำกัดผู้เรียนไม่เกิน 50 คน
โดยรายวิชาที่เปิดสอน อาทิ HIGH-TECH Entrepreneurship, FINTECH, Interaction Design, Digital Marketing, DATA Science สอนโดยอาจารย์พิเศษ ซึ่งมีประสบการณ์ทางธุรกิจชั้นนำระดับโลก ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์และองค์ความรู้แก่ผู้เรียนอย่างเข้มข้น อีกทั้งยังจะช่วยส่งเสริมการสร้างโอกาสจากเครือข่ายทางธุรกิจที่มาจากต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้เรียนในภายภาคหน้าอีกด้วย
สำหรับหลักสูตร HARBOUR.SPACE @UTCC เปิดการสอนสำหรับนักศึกษาและผู้สนใจพัฒนาศักยภาพตนเองอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อก้าวสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพ และเป็นนักสร้างนวัตกรรมที่ดีที่สุด โดยค่าใช้จ่ายการเรียนในระดับปริญญาตรี 7 แสนบาทต่อปี และระดับปริญญาโท 8 แสนบาทต่อปี ท่านที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลและดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://harbour.space/campuses/bangkok หรือโทร. 02-697-6197
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit