ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกก์ ภทรธนกุล ผู้ช่วยอธิการบดี งานด้านสื่อสารองค์กร บริหาร แบรนด์ และนิสิตเก่าสัมพันธ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยเครือข่าย Food For Fighters มูลนิธิคุวานันท์ พร้อมด้วย บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ร่วมกันดำเนินโครงการ "ข้าวแสนกล่อง" เพื่อจัดทำอาหารปรุงสุกพร้อมรับประทาน วันละ 5,000 กล่อง เป็นเวลา 30 วัน พร้อมด้วยถุงยังชีพเพื่อมอบให้กับประชาชนที่พักอาศัยในชุมชนแออัด และเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรง ประชาชนในชุมชนจึงจำเป็นต้องกักตัว เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เช่น ชุมชนบ่อนไก่ ชุมชนคลองเตย ชุมชนโค้งรถไฟยมราช ชุมชนคลองส้มป่อย ชุมชนสามัคคีพัฒนา ชุมชนสมหวัง ชุมชนริมคลองสามเสน รวมถึงโรงพยาบาลสนาม เช่น โรงพยาบาลสนาม จุฬาฯ โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ เป็นต้น
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ที่กลับมารุนแรงอีกครั้ง ส่งผลให้มีผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยในชุมชนแออัดของกรุงเทพมหานคร ซึ่งในบางชุมชนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเนื่องจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อในชุมชนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คนในชุมชนต้องหยุดงานเพื่อกักตัว ทำให้ขาดรายได้หรือมีรายได้ที่ลดลง ไม่สามารถออกจากบ้านเพื่อซื้อสิ่งของอุปโภค บริโภคได้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
ไปรษณีย์ไทยในฐานะหน่วยงานการสื่อสารและขนส่งของชาติ ในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตระหนักถึงผลกระทบของวิกฤต COVID-19 ที่ยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง จึงร่วมสนับสนุนงบประมาณจำนวน 300,000 บาท ในการจัดทำอาหารปรุงสุกพร้อมรับประทาน และถุงยังชีพ เพื่อส่งมอบไปยังประชาชนในชุมชนแออัด เพื่อลดผลกระทบและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนภายใต้สถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้น และเพื่อเป็นกำลังใจให้ทุกคนก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน
"ในช่วงการระบาดของเชื้อ COVID-19 ไปรษณีย์ไทยซึ่งมีภารกิจหลัก คือ การขนส่งเพื่อคนไทย ได้เป็นสื่อกลางในการสนับสนุนหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนเพื่อส่งต่อสิ่งของจำเป็นไปยังบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนทั่วประเทศ และยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าเพื่อคนไทยอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ไปรษณีย์ไทยยังเน้นย้ำการให้บริการภายใต้มาตรการความปลอดภัยอย่างเคร่งครัดโดยมีการคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิเจ้าหน้าที่ก่อนปฏิบัติหน้าที่ กำชับให้เจ้าหน้าที่ใส่หน้ากากอนามัย 100% ตลอดเวลาที่ปฏิบัติงาน ล้างมือด้วยเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อในศูนย์ไปรษณีย์ ที่ทำการไปรษณีย์ พัสดุ เครื่องคัดแยก รถยนต์ขนส่งเป็นประจำ พร้อมทั้งได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดสรรวัคซีนป้องกัน COVID-19 ให้กับเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ต้องพบปะกับผู้ใช้บริการ โดยเจ้าหน้าที่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ไปรษณีย์ไทยได้รับความอนุเคราะห์จากศูนย์บริการวัคซีน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการฉีดวัคซีนให้กับผู้ปฏิบัติงาน พร้อมกันนี้ยังได้ประสานงานแล้วกับกรมควบคุมโรคจัดสรรวัคซีนให้กับผู้ปฏิบัติงานอื่นๆ ในพื้นที่ไปรษณีย์กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และสำหรับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ภูมิภาค ไปรษณีย์ไทยได้ประสานหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่เพื่อขอรับการจัดสรรวัคซีน และได้ทยอยฉีดวัคซีนให้กับเจ้าหน้าที่ ทั่วประเทศแล้วอย่างเร่งด่วน เพื่อความปลอดภัย และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการทุกคน" ดร.ดนันท์ กล่าวสรุป
ติดตามข่าวสารไปรษณีย์ไทยเพิ่มเติมได้ที่
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit