มูลนิธิบรมครู ร่วมกับ สำนักพิมพ์บันลือบุ๊คส์ สร้างปรากฎการณ์แห่งวงการการ์ตูนไทย นำสุดยอดวรรณกรรมเพชรน้ำเอก ชุด ปิศาจไทย ของครูเหม เวชกร จำนวนกว่า ๑๐๙ เรื่อง มาสร้างสรรค์เป็นการ์ตูนสยองหรรษา

10 Mar 2010

กรุงเทพฯ--10 มี.ค.--บันลือ กรุ๊ป

มูลนิธิบรมครู ร่วมกับ สำนักพิมพ์บันลือบุ๊คส์ สร้างปรากฎการณ์แห่งวงการการ์ตูนไทย นำสุดยอดวรรณกรรมเพชรน้ำเอก ชุด ปิศาจไทย ของครูเหม เวชกร จำนวนกว่า ๑๐๙ เรื่อง มาสร้างสรรค์เป็นการ์ตูนสยองหรรษา ฮาขนลุก ถ่ายทอดบทประพันธ์อมตะของครูเหมเป็นภาพการ์ตูนโดยนักวาดการ์ตูนมือทองของเมืองไทย “ปุ๋ย Devil” ก่อกำเนิดผลงาน “บรื๋อ! น่ากลัวก็ไม่บอก”

อาจารย์ประทวน เจริญจิตร ประธานมูลนิธิบรมครู กล่าวว่า “...ในแวดวงวรรณกรรมไทย นับถือว่าครูเหม เวชกร เป็นนักประพันธ์เรื่องผีอันดับหนึ่งของแผ่นดิน

ครูเหม เวชกร ถือเป็นนักเขียนเรื่องผี คนแรกของเมืองไทย อันที่จริงครูเหมสร้างบทประพันธ์ไว้หลายแนว เช่น พระสนมเอก หรือเรื่องลูกทุ่งหักมุม อย่าง หนุ่มนักธรรม แต่ที่มีชื่อเสียงที่สุดคือเรื่องสั้นแนวผี ชุด ปิศาจไทย ซึ่งครูเหมได้เริ่มสร้างสรรค์ไว้ตั้งแต่ปี ๒๔๗๘ มายาวนานกว่า ๗๐ ปี

บทประพันธ์เรื่องผีของครูเหม เวชกร มีเอกลักษณ์โดดเด่นกว่านิยายแนวผีอื่นๆ ที่เรื่องราวมีความสมจริง ผู้อ่านจะรู้สึกว่าเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้น และเนื้อเรื่องก็แฝงด้วยความงามของวิถีชีวิตแบบไทยๆ ที่ครูเหมจะสอดแทรกชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยในอดีตนับตั้งแต่สมัยที่ยังประหารนักโทษด้วยการ “กุดหัวขั้วแห้ง” การเดินเท้าไปไหว้พระบาทสระบุรี หรือกรุงเทพฯยังมีรถลาก บ้านเมืองของเราสมัยที่วัยรุ่นไทยพบปะกันตามราวสะพานแล้วร้องเพลง ลาวดำเนินทราย เรื่อยมาถึงสมัยสงครามโลกหลบภัยลูกระเบิด มาจนถึงต้นศตวรรษนี้เอง เรื่องผีของครูเหม ไม่ใช่ผีแหกอกเลือดท่วมสยดสยอง แต่เป็นการนำเสนอเรื่องราวในความเย็นยะเยียบที่น่าวังเวง ความน่ากลัวของเรื่องผีของครูเหมเป็นรสชาติหนึ่งแห่งการประพันธ์ที่หาได้ยาก ขณะเดียวกัน บทประพันธ์ของครูเหมก็มีความน่าซาบซึ้งตรึงใจเรื่องความรักความอาลัยของวิญญาณกับมนุษย์

ครูเหมมีกลวิธีในการแต่งบทประพันธ์ที่เหนือชั้นล้ำสมัยในยุคของท่าน เนื้อเรื่องมีเหตุมีผล มีทฤษฎีทางวิญญาณที่น่าฟัง แต่ละเรื่องจะส่งรับเรื่องราวกันอย่างน่าเพลิดเพลิน คงความทันสมัยมาจนทุกวันนี้ บทประพันธ์ของครูเหม เวชกร จะอยู่คู่วงวรรณกรรมไทยตลอดไปในฐานะวรรณกรรมคลาสสิกที่อุดมด้วยเสน่ห์และกลิ่นอายของความเป็นไทย ไม่มีวันตาย..”

มูลนิธิบรมครู เจ้าของลิขสิทธิ์ผลงานของครูเหม เวชกร มีความยินดีที่สำนักพิมพ์บันลือบุ๊คส์ ได้สร้างสรรค์ผลงานการ์ตูนภาพจากบทประพันธ์ของครูเหม เวชกร นับเป็นความร่วมมือในการอนุรักษ์และสืบอายุผลงานของบรมครูในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจะทำให้คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสสัมผัสและร่วมกันอนุรักษ์ผลงานบทประพันธ์ชิ้นเอกอันเสมือนมรดกวรรณกรรมของแผ่นดินให้คงอยู่ต่อไป

นายวิธิต อุตสาหจิต ประธานกลุ่มบริษัทบันลือกรุ๊ป ผู้ที่ได้รับสิทธิ์ในการนำบทประพันธ์ของครูเหม เวชกร มาจัดทำเป็นหนังสือการ์ตูนครั้งนี้ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ทางสำนักพิมพ์บันลือบุ๊คส์ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับความไว้วางใจจากมูลนิธิบรมครู ที่อนุญาตให้นำเค้าโครงเรื่องผี ผลงานอันทรงคุณค่าของครูเหม เวชกร มาสร้างสรรค์ในรูปแบบการ์ตูนแนวสยองปนสนุก โดยสำนักพิมพ์ฯ ได้มอบหมายให้ “ปุ๋ย Devil” นักเขียนการ์ตูนรุ่นใหญ่ มีฝีมือเป็นที่ยอมรับของนักอ่านการ์ตูน เป็นผู้เขียนการ์ตูนชุดนี้

ปุ๋ย Devil สามารถถ่ายทอดเรื่องราวน่าขนหัวลุกของครูเหม ให้ออกมาเป็นการ์ตูนที่มีความสนุกสนานครื้นเครงฮากวนๆ ได้อย่างลงตัว และได้ตีพิมพ์ในการ์ตูนมหาสนุกมาแล้ว จนได้รับการกล่าวขานเรียกร้องจากทั้งแฟนการ์ตูนของปุ๋ย Devil และผู้ที่นิยมชมชอบผลงานของครูเหม เวชกร บันลือบุ๊คส์จึงได้นำผลงานการ์ตูนชุดนี้มาจัดพิมพ์รวมเล่มในชื่อหนังสือว่า “บรื๋อ! น่ากลัวก็ไม่บอก” มีกำหนดออกวางตลาดพร้อมกัน ๒ ชุด ในเดือน มี.ค.

คือ ชุด ผีรีโทร และชุด ผีแอนด์เดอะแก๊ง โดยรวมผลงานของครูเหม เวชกร อาทิ ยักษ์วัดแจ้ง, ศาลาทางเปลี่ยว, น้ำมันผีพราย, เลขานุการผี, ผ้าป่าผีตาย และอื่นๆ รวมกว่า ๒๐ เรื่อง การร่วมมือกันนี้ถือเป็นการสร้างปรากฏการณ์ครั้งสำคัญให้แก่วงการการ์ตูนไทย และเป็นการสืบสานบทประพันธ์ของครูเหม เวชกร ซึ่งเป็นที่ยกย่องยอมรับของวงการวรรณกรรมให้คงอยู่ต่อไป”

“บรื๋อ! น่ากลัวก็ไม่บอก” ออกวางจำหน่ายพร้อมกันเดือนมีนาคมนี้ ๒ ชุด คือ ชุด ผีรีโทร และชุด ผีแอนด์เดอะแก๊ง จัดพิมพ์ด้วยกระดาษถนอมสายตา ราคาเล่มละ ๑๔๙ บาท สามารถหาซื้อได้ตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ และซื้อได้ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ ๓๘ และมหกรรมหนังสือนานาชาติครั้งที่ ๘ ระหว่างวันที่ ๒๖ มีนาคม ๕๓ ถึง ๖ เมษายน ๕๓ ได้ที่บู๊ธบรรลือสาส์น X๐๕โซนเมนฟอเย่ และบู๊ธ Y๓๘ โซน D

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2641-9955 ต่อ 302 ฝ่ายประชาสัมพันธ์กลุ่มบริษัทบันลือกรุ๊ป

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit