กว่าหมื่นรายชื่อเรียกร้องบริษัทยาหยุดผูกขาดตลาดขายยาไวรัสตับอักเสบซีเม็ดละสามหมื่น

15 Jun 2015

นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ตัวแทนจากมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ที่สร้างแคมเปญผ่าน Change.org/StopGilead พร้อมผู้ร่วมลงชื่อกว่าหมื่นคน เรียกร้องให้บริษัทกิลิแอดฯ ถอนคำขอสิทธิบัตรของยาทุกฉบับในประเทศไทย เพื่อให้ไทยสามารถผลิตหรือนำเข้ายาที่มีคุณภาพทัดเทียมในราคาที่เหมาะสม ผู้ป่วยหลายแสนคนจะได้เข้าถึงยาที่จำเป็นต่อการรักษาชีวิต

นายเฉลิมศักดิ์ และผู้สนับสนุนยังขอให้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ตระหนักถึงประโยชน์ด้านสาธารณสุขของคนไทย ไม่ปกป้องผลประโยชน์ของบรรษัทยาข้ามชาติ และขอให้กระทรวงสาธารณสุข พิจารณานำมาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐ (Compulsory License: CL) เพื่อให้ตัวยาเข้าอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และผู้ป่วยสามารถรับการรักษาด้วยยานี้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย“ผู้ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบซีน้อยคนนักที่จะได้รับการรักษาด้วยยาใหม่นี้ เพราะราคาที่แพงแสนแพง ยาใหม่นี้ที่ชื่อ “โซฟอสบูเวียร์” ที่ขายในสหรัฐฯ มีราคาประมาณ 30,000 บาทต่อเม็ด ต้องกินทุกวันเป็นเวลา 3 เดือน รวมแล้วก็ต้องมีเงิน 2.5 ล้านบาทถึงจะกินยานี้ให้หายจากโรคได้”

นายเฉลิมศักดิ์ยังกล่าวอีกว่า นักวิเคราะห์บางคนประเมินว่าต้นทุนการผลิตที่แท้จริงอาจมีราคาไม่ถึง 100 บาทต่อเม็ด ทั้งยังมีบริษัทยาในอินเดียที่ทำสัญญาการผลิตร่วมกับกิลิแอดฯ และสามารถขายยาตัวเดียวกันได้ในราคา 300 บาทต่อเม็ด แต่ก็ไม่สามารถขายยาให้ไทยได้ เนื่องจากข้อตกลงระหว่างบริษัทยาในอินเดียและกิลิแอดฯ ระบุเงื่อนไขให้บริษัทอินเดียผลิตและขายยาชนิดนี้ให้กับบางประเทศเท่านั้น ซึ่งไม่รวมประเทศไทย ไทยจึงไม่สามารถนำเข้ายาราคาถูกนี้จากอินเดียได้

“ทั้งหมดนี้ จึงเป็นเรื่องน่าเศร้าและไร้คุณธรรมอย่างที่สุด ทั้งๆ ที่รู้ว่ามียารักษาให้หายขาดได้ แต่คนอีกหลายล้านที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีกลับไม่มีโอกาสใช้ยาเพียงเพราะการผูกขาดตลาด”

“ข้อเรียกร้องให้ถอนคำขอสิทธิบัตรยาต่อบริษัทยากิลิแอดฯ เช่นนี้เคยสำเร็จมาแล้วในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2556 ส่งผลให้องค์การเภสัชกรรมสามารถนำเข้าและผลิตยาต้านไวรัสเอชไอวีสูตรรวมเม็ดได้เองในราคาที่เหมาะสม และผู้ติดเชื้อเอชไอวีในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสามารถรักษาด้วยยานี้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย” นายเฉลิมศักดิ์ กล่าวนอกจากการเคลื่อนไหวในประเทศไทยแล้ว ตลอดปีที่ผ่านมายังมีการรณรงค์โดยภาคประชาสังคมในหลายประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐฯ รัซเซีย ยูเครน บราซิล อาร์เจนตินา ซึ่งล้วนเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีในประเทศของตน แรงกดดันส่วนหนึ่งทำให้กิลิแอดฯ หันมาทำสัญญากับบริษัทผู้ผลิตยาหลายแห่งเพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาใน 91 ประเทศกำลังพัฒนา แต่ก็มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อกิลิแอดฯ ว่ายอมให้ประเทศเหล่านั้น เพราะมีจำนวนผู้ป่วยไม่มาก

ดูเรื่องรณรงค์นี้บน Change.org (หรืออ่านจากเอกสารแนบ): หยุดผูกขาดตลาดยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีอย่างไม่ชอบธรรมข่าวที่เกี่ยวข้อง: ภาคประชาสังคมทั่วโลกเรียกร้องบริษัทยาเพิ่มการเข้าถึงการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีเรื่องรณรงค์ยอดนิยมประจำสัปดาห์บน Change.org

Change.org คือเว็บไซต์ที่ประชาชนทั่วไปสามารถใช้สร้างการรณรงค์ เพื่อระดมความร่วมมือในการสร้างความเปลี่ยนแปลงและสร้างสรรค์สิ่งดีๆ สู่สังคม

ตั้งแต่คุณแม่ที่รณรงค์ให้ยุติการฉายหนังโหดบนรถทัวร์ที่เมืองไทย ไปจนถึงการรณรงค์ให้ธนาคารยกเลิกค่าธรรมเนียมบัตรเดบิตในสหรัฐอเมริกา มีผู้ใช้ Change.org มากกว่า 100 ล้านคนในกว่า 196 ประเทศทั่วโลก ปัจจุบัน Change.org มีสาขาในกว่า 20 ประเทศทั่วโลก โดยของไทยมีผู้ใช้แล้วกว่า 1,000,000 คน และมีการรณรงค์ที่ประสบความสำเร็จไปแล้วมากมายข้อมูลเพิ่มเติมwww.change.orghttp://www.facebook.com/changeorgthailand http://www.twitter.com/changethailand

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit