กระทรวงเกษตรฯ ปรับเปลี่ยนพื้นที่เป้าหมายขุดบ่อบาดาลในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง ระยะเร่งด่วน

16 Sep 2016

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้ง ปี 2558/59 ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการให้ปรับเปลี่ยนสถานที่ดำเนินงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง ระยะเร่งด่วน ประจำปีงบประมาณ 2559 (งบกลาง) จำนวน 370 แห่ง เนื่องจากสาเหตุต่างๆ อาทิ เกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายไม่ยินยอมให้ขุด พื้นที่นั้นไม่มีศักยภาพที่จะขุดบ่อบาดาล หรือบางพื้นที่ที่ชี้เป้าจะขุดแต่มีหน่วยงานอื่นไปขุดก่อน ซึ่งหากขุดซ้ำก็จะเกิดความซ้ำซ้อน เป็นต้น จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานงานกับฝ่ายเลขาฯ ของกระทรวงเกษตรฯ เพื่อให้การปรับเปลี่ยนย้ายจุดขุดบ่อบาดาลสอดคล้องกับแผนการทำการเกษตรในอนาคต เนื่องจากจะเชื่อมโยงกับการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำการเกษตรในบางแห่งด้วย นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณายกเลิกการดำเนินโครงการตามแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้ง ปี 2558/59 (มาตราที่ 4) จำนวน 91 โครงการ วงเงินรวม 51 ล้านบาท เนื่องจากขณะนี้ได้เลยช่วงฤดูแล้งไปแล้ว อีกทั้งการจัดสิ่งของบางอย่างเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงฤดูแล้งก็ไม่มีความจำเป็น จึงได้ขออนุมัตินำเงินคืนงบกลางของรัฐบาล โดยกำหนดให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้

ขณะที่ด้านสถานการณ์น้ำในขณะนี้ (15 ก.ย.59) ลมมรสุมที่เกิดขึ้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือได้ลดกำลังลง และคาดว่าจะออกจากประเทศไทยภายในวันนี้ ซึ่งผลกระทบจากการเกิดร่องมรสุมพาดผ่านส่งผลให้เกิดฝนตกหนักในบางพื้นที่และมีน้ำท่วม อย่างไรก็ตาม จากปริมาณฝนที่ตกช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในลำน้ำสายหลักได้ โดยทำให้การกักเก็บน้ำใน 4 เขื่อนหลักเพิ่มขึ้นประมาณ 300 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทำการระบายน้ำลง โดยมีจุดที่ต้องเฝ้าติดตามคือ ลุ่มน้ำยมทางด้านที่ลงมาจังหวัดสุโขทัย ซึ่งขณะนี้ปริมาณน้ำใกล้จะเต็ม และคาดว่าจากนี้ไปจนถึงวันพรุ่งนี้ เวลาประมาณ 21.00 น. ที่ต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้ตั้งวอล์รูมเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในทุกชั่วโมงเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่พื้นที่เมืองและพื้นที่ทำการเกษตร

" การบริหารจัดการน้ำต้องดำเนินการให้เกิดความสมดุล ระหว่างพื้นที่เมือง และพื้นที่ทำการเกษตร หากประเมินแล้วพบว่า สถานการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทำการเกษตรก็ต้องรีบแจ้งให้เกษตรกรทราบล่วงหน้า โดยหน่วยงานภาครัฐต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ทั้งกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน กระทรวงมหาดไทย และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดและระมัดระวังไม่ให้เกิดความเสียหายในภาพรวม โดยให้ความสำคัญทั้งการบริหารจัดการน้ำ และความมั่นคงในระบบนิเวศน์ด้วย" พลเอก ฉัตรชัย กล่าว

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit