นายคมกริช สวัสดิรมย์ อาจารย์ประธานหลักสูตรสาขาวิชาศิลปะไทย เปิดเผยว่า ด้วยพระมหาจำเริญ เจ้าอาวาสวัดนิเวศน์ธรรมมาราม (วัดวังยายหุ่น) จังหวัดสุพรรณบุรี ได้ทำบูรณะพระอุโบสถ์หลังเก่า เป็นวิหารหลวงพ่อรอด ซึ่งภายในวิหารยังไม่มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง จึงได้ทำเรื่องมาทางมหาวิทยาลัย ตามนโยบายของทางมหาวิทยาลัยมีโครงการทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ จึงได้มอบให้สาขาวิชาศิลปะไทย คณะศิลปกรรมศาสตร์ดำเนินกิจกรรมจิตรกรรมฝาผนังวิหารวัดวังยายหุ่น ทางสาขาวิชาจึงได้ดำเนินการภาพจิตรกรรมฝาผนังพุทธประวัติ ในการลงมือเขียนภาพได้อิงมาตามแบบการเขียนจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ์โบราณ ไม่ว่าจะเป็นการอิงมาจากจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ์วัดคงคาราม จังหวัดราชบุรี และอิงมาจากหนังสือป่าหิมพานต์ ตามพระราชเสาวนีย์ ศาสตราจารย์ปรีชา เถาทอง บวกกับจิตรกรรมร่วมสมัยผสมผสานงานศิลปะ โดยได้ดำเนินการเขียนภาพจิตรกรรม 4 ด้านได้แก่ ด้านหน้า-ด้านหลัง พระประธาน ขนาด 4.5 x 6 เมตร ด้านข้างซ้าย-ขวา ของโบสถ์ ขนาด 4 x 10เมตร ผนังด้านหน้าพระประธาน เป็นเรื่องราวมารผจญ ด้านหลังพระประธาน เป็นเรื่องไตรภูมิ ผนังทั้งด้านซ้ายและขวามือ 2 ด้านเขียนภาพหิมพานต์และพุทธเจ้าเสวยวิมุตติสุข
สำหรับพุทธประวัติทั้งหมดถ่ายทอดเรื่องราวออกมาให้เข้ากับบรรยากาศวิหารเนื่องจากภายในมีบ่อน้ำอยู่ข้างใน พยายามคลุมโทนเย็น 80 % โทนร้อน 20 % เมื่อเข้าไปให้รู้สึกสงบร่มเย็น จิตรกรรมฝาผนังวิหารของวัดวังยายหุ่นเป็นการผสมผสานการเขียนจิตรฝาผนังพระอุโบสถ์แต่ละภาคเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งแต่ละภาคมีเอกลักษณ์เป็นของแต่ละภาค เช่นภาคเหนือ-อีสาน เป็นเรื่องราวนิทานชาดกพื้นบ้าน นิทานปรัมปรา ซึ่งนอกจากความสวยงามของศิลปะที่ได้สร้างสรรค์ลงไปแล้ว แท้ที่สุดของการเขียนจิตรกรรมฝาผนังคือการสอดแทรกคติธรรมลงไป นอกจากนี้จิตรกรรมฝาผนังวิหารวัดวังยายหุ่นยังได้เขียนตัวการ์ตูนPikachu, Magikarp, Gyarados, Poke Ball ตัวละครในเกมส์โปเกมอนซึ่งกำลังฮิตทั่วบ้านทั่วเมืองในขณะนี้ ตัวละครกอลลัม ในหนัง The Lord of the Rings โทนี่ โทนี่ ช็อปเปอร์ ในการ์ตูนวันพีช ภาพการ์ตูนนักเตะฟุตบอลยุโรป ร่วมไปต้นบุรุษผลต้นแรกในป่าหิมพานต์ลงไปในภาพ ซึ่งเป็นการแสดงออกในเรื่องของสังคมในยุคปัจจุบัน ในการวาดตัวละครสอดแทรกลงไปเพื่อเป็นการบันทึกเวลา ณ ยุคสมัยไหนช่วงสมัย 2559 เกิดอะไรขึ้นบ้าง สำหรับในการดำเนินโครงการดังกล่าว ใช้ระยะเวลาในดำเนินโครงการ 4 เดือน เป็นผลงานจิตอาสาของอาจารย์ นักศึกษาทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน ซึ่งในการทำงานเป็นเหมือนการเปิดห้องเรียนอีกห้องหนึ่ง ซึ่งนักศึกษาจะได้รับประสบการณ์ ก่อนออกไปทำงาน เรียนรู้เทคนิคต่างๆ จากการทำงาน
ทางด้านพระมหาจำเริญ เจ้าอาวาสวัดนิเวศน์ธรรมมาราม (วัดวังยายหุ่น) กล่าวว่า ทางวัดได้บูรณะอุโบสถหลังเก่า เป็นวิหารหลวงพ่อรอด ภายในผนังวิหารยังเป็นปูนสีขาว ทางวัดอยากให้ภายในวิหารมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องของพระพุทธเจ้า ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ได้เปิดสอนทางด้านนี้ โดยทางคณะศิลปกรรมศาสตร์ ได้รับอาสาเข้ามาเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีเพราะว่าทุกคนต่างมาด้วยใจ ด้วยหน้าที่ชาวพุทธ ไม่ทอดทิ้ง และมีความผูกพันกับศาสนา โดยจิตอาสาเหล่านี้ต่างมีศิลปะอยู่ในหัวใจ เรื่องราวพุทธประวัติในฝาผนังวิหารที่สอดแทรกคติธรรม ถูกเขียนภาพจิตรกรรมด้วยความเป็นศิลปินอย่างแท้จริง สำหรับตัวการ์ตูนปิกาจู ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ดึงดูดความสนใจ ซึ่งตัวการ์ตูนอาจจะสามารถเรียกความสนใจให้คนเข้าวัดมากขึ้น แต่แท้ที่จริงคุณค่าของการงานจิตรกรรมฝาผนังมีคุณค่าในตัวของงาน ความงดงามของงานศิลปะไทย
"กล้วย" นายวสุศักดิ์ วงษ์นาค นักศึกษาสาขาวิชาศิลปะไทย เล่าว่า ส่วนตัวเป็นคนที่หลงใหลในงานทางด้านนี้ เวลาว่างจะฝึกวาดงานประเภทนี้ ซึ่งตนเองได้นำภาพที่ตนเองวาดเสร็จไปถวายวัดที่บ้าน อาจเป็นภาพที่มีขนาดไม่ใหญ่ เหมือนกับการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังวิหาร งานนี้เป็นงานใหญ่ครั้งแรก ซึ่งตนเองขอบคุณทางมหาวิทยาลัย ที่ได้ให้ตนเองและเพื่อนได้มีโอกาสในการแสดงฝีมือ ซึ่งจะเป็นเครื่องตื่นใจในฐานะว่าที่ศิลปินแขนงนี้ในอนาคตที่ต้องออกไปเป็นศิลปินทางด้านศิลปะไทยอย่างเต็มตัว และรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของความเป็นไทยไม่หายไปจากสังคมไทย
"เฟม" นางสาวศรัญญา ขันธ์สัมฤทธิ์ นักศึกษาสาขาวิชาศิลปะไทย เล่าว่า ในการทำงานครั้งนี้ ได้ช่วยอาจารย์ในการทำงาน นำความรู้ที่เรียนมาใช้ และยังได้เรียนรู้เทคนิคที่เกิดขึ้นระหว่างทำงาน เวลาส่วนใหญ่ที่ทำงานเป็นเวลาว่างจากการเรียน และวันเสาร์-วันอาทิตย์ การเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังวิหารกว่าจะได้ 1 ภาพ ต้องใช้ระยะเวลา แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยความชอบและเรื่องที่จะเรียนทางด้านสาขาวิชานี้ เป็นความสุขที่ได้ลงมือทำ ไม่ว่าจะเป็นเส้น สี ทางได้ลงไปในภาพ
"ฟลุ๊ค" นายนัยธรรม สว่างจิต นักศึกษาสาขาวิชาศิลปะไทย เล่าว่า รู้สึกภูมิใจที่ได้ทำงานครั้งนี้ ด้วยความเป็นเอกลักษณ์ของงานศิลปะแขนงนี้ระหว่างทำงานมีความสุข เป็นงานที่ชอบ ซึ่งเมื่อได้เห็นงานที่ช่วยกันทำเสร็จความรู้สึกบรรยายไม่ถูก งานที่เขียนจะถูกนำไปติดตั้งในวิหารวัดวังยายหุ่น จะอยู่คู่วิหาร เหมือนกับงานจิตรกรรมฝาผนังที่อาจารย์พาไปดูตามวัดต่างๆ ในฐานะของนักศึกษาสาขาศิลปะไทยและเป็นชาวพุทธ ถือเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้อยู่คู่สังคมไทย
"อีฟ" นางสางสุรางครา เชื้อนิล นักศึกษาสาขาวิชาศิลปะไทย เล่าว่า ระหว่างที่ทำงานได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ จากอาจารย์และรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์ในการทำงานทางด้านนี้ งานทางด้านนี้ต้องอาศัยใจรัก เพราะว่า ต้องใช้เวลาในการนั่งเขียนภาพ กว่าจะได้ต้องอดทนสูง และต้องมีความละเอียด ดีใจและภูมิใจที่ได้ทำงานครั้งนี้ เป็นการฝึกฝีมือก่อนออกไปเป็นศิลปินอย่างเต็มตัว ชีวิตในการทำงานไม่เหมือนกับการเรียน ต้องมีความรับผิด ที่เลือกเรียนสาขาวิชาศิลปะไทย ชอบความเป็นเอกลักษณ์ความเป็นไทย อยากให้ศิลปะไทยมีคนสืบทอดต่อไปสำหรับผู้สนใจในงานจิตรกรรมฝาผนังวิหารสามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ที่วัดวังยายหุ่น จังหวัดสุพรรณบุรี
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit