ถ้าพูดถึงโลกปัจจุบัน “สื่อ” เปรียบเสมือนประตูบ้านที่ต้องเปิดออกเพื่อพบเจอเรื่องราวใหม่ๆ ทุกวัน ซึ่งการใช้สื่อก็เพื่อจุดประสงค์ที่แตกต่างกันออกไปไม่ว่าจะเป็นเพื่อการประชาสัมพันธ์ การเรียนรู้ หรือการรณรงค์ และเพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญการผลิตสื่อให้เท่าทันสังคมยุคใหม่และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปทุกวัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จึงได้จัดตั้งโครงการร่วมบริหารหลักสูตร ศล.บ.มีเดียอาตส์ และหลักสูตร วท.บ.เทคโนโลยีมีเดีย
และเพื่อพัฒนาและผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญแตกต่างกันไป ผศ.บุญเลี้ยง แก้วนาพันธ์ ประธานหลักสูตรมีเดียอาตส์ กล่าวว่า โครงการนี้แบ่งออกเป็น 3 หลักสูตร คือ หลักสูตรมีเดียอาตส์ ซึ่งมีสาขาวิชาเอก สามสาขา คือ ออกแบบกราฟิก สาขาอนิเมชั่น และ และสาขาภาพยนตร์
หลักสูตรมีเดียทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ เป็นหลักสูตรที่นำความคิดสร้างสรรค์มาบูรณาการศาสตร์ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ โดยผลิตสื่อด้าน เสียง กราฟิก ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว 2 และ 3 มิติ ผลิตหุ่นจำลอง เพื่อนำไปใช้ในการผลิตสื่อ สื่อสารทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ สื่อปการเรียนการสอน การวิจัย ที่เกี่ยวข้อง
สาขาเทคโนโลยีมีเดีย เน้นการบูรณาการเทคโนโลยีมีเดีย ศิลปะ และการรับรู้ของมนุษย์ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบสนองการดำรงชีวิตของมนุษย์
“เราจัดนิทรรศการแสดงผลงานนักศึกษามีเดีย หรือ Creative media ขึ้นทุกปีครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 เมื่อต้นเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา ณ หอศิลป์กรุงเทพฯ เราคัดเลือก 40 ผลงานนักศึกษาจากร้อยกว่าชิ้น ซึ่งทุกชิ้นเป็นลิขสิทธิ์ทางปัญญาของ มจธ. และการนำมาจัดแสดงในงานโดยมีจุดประสงค์เพื่อใช้เป็นโอกาสให้นักศึกษาผู้ผลิตสื่อได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เสพย์สื่อทั่วไปโดยตรงที่ไม่ใช่แค่อาจารย์ผู้สอนหรือเพื่อนในห้องเรียน”
ผลงานที่น่าสนใจ อาทิ การออกแบบสัญลักษณ์เพื่อแสดงจุดจอดรถตู้โดยสารร่วมบริการบริเวณอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดย ธันยพัฒน์ อารมณ์ชื่น, ธาดารัตน์ เฉวียงหงษ์ และ อภิรัตน์ ฤกษ์อภิเดชา เป็นการออกแบบป้ายสัญลักษณ์ที่จะช่วยนำทางผู้ใช้บริการรถตู้ที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิให้สามารถหาจุดจอดได้อย่างรวดเร็วและเข้าใจง่ายซึ่งหลังจากมีการทดลองติดตั้งในช่วงระยะสั้นๆ พบว่าเป็นที่ถูกใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างมาก และในงาน Creative media ที่ผ่านมานี้ได้มีการส่งมอบป้ายสัญลักษณ์ให้กับทางกรุงเทพฯ เพื่อดำเนินการต่อเป็นที่เรียบร้อย อย่างไรก็ตามผลงานนี้เป็นการพัฒนาร่วมกันของนักศึกษาถึง 9 คน แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ศึกษาในส่วนที่แตกต่างกันออกไป ตั้งแต่การออกแบบ User Interface สำหรัแอพลิเคชั่นบนมือถือ อาศัยหลัก 3 Step คือ สะดวก ใช้ง่าย รวดเร็ว โดย ภูมิ สุคันธพันธ์ และ ชนทิพา มาลี และการศึกษาอิทธิพลของอินฟอร์เมชั่น โมชั่นกราฟิก ในการสื่อสารข้อมูล เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน โดย ณัฐนันท์ แย้มนุ่น ซึ่งขยายผลถึงการพัฒนาเป็นแอพลิเคชั่น ThaiVans บนสมาร์ทโฟน โดย ชลธิชา สินปรุ, พรกมล รัตนจุล และ วิชุดา กาญจเคหะ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงทดลองตัว Beta ทั้งในระบบ Andriod และ ios สำหรับการเปิดให้ใช้อย่างเต็มรูปแบบนั้นจะเป็นเมื่อไหร่สามารถติดตามได้ใน Facebook : thaivans
นอกจากนั้นยังมีอีกหนึ่งผลงานที่น่าสนใจ คือ การศึกษาเอกลักษณ์จากลวดลายบนผืนผ้าทอไทยเพื่อประยุกต์ใช้ในการออกแบบเลขนศิลป์กรณีศึกษา ผ้าทอตีนจกบ้านหาดเสี้ยว จังหวัดสุโขทัย ของสองสาวจากสาขาวิชามีเดียอาตส์ บุษกร รุจิรายุกต์ และ วรรธิชา อเนกสิทธิสิน โดย วรรธิชา กล่าวว่า ที่ทำผลงานนี้เพราะชื่นชอบผ้าไทยอยู่แล้ว ผ้าไทยมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น แต่เห็นว่าคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะวัยรุ่นไม่ค่อยรู้จักลวดลายของผ้าไทยมากนัก รวมถึงมีทัศนคติที่ว่าลวดลายผ้าไทยนั้นค่อนข้างเชยและโบราณ จึงไม่นิยมนำมาสวมใส่ในชีวิตประจำวัน
“ผ้าทอของไทยมีหลายประเภท แต่เราเลือกที่จะนำลวดลายของผ้าทอตีนจกมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบลวดลายกราฟฟิกซึ่งเป็นผ้าทอที่มีกรรมวิธีในการทอที่ยากที่สุดเพราะต้องทอกลับด้าน ผ้าทอตีนจกมีลายหลักโบราณ 9 ลาย เช่น ลายดอกสี่ขอ ลายดอกแปดขอ ลายดอกมนสิบหก ลายดอกเครือน้อย และลายดอกน้ำอ่าง ฯลฯ แต่ลายที่เราเลือกมาใช้คือ ลายดอกแปดขอ ซึ่งมีการออกแบบโดยคงลวดลายต้นแบบไว้เพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น โดยใช้หลักเลขาคณิตเข้ามาผสมกับดอกไม้ หรือสัตว์ และใช้สีที่เข้ากับยุคสมัยเพื่อเป็นการเผยแพร่ลวดลายผ้าไทยในรูปแบบที่ทันสมัยเพื่อให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจและใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น”
บุษกร กล่าวเสริมในตอนท้ายว่า ตอนนี้อยู่ในระหว่างการต่อยอดมาเป็นแบรนด์ NATHAI (‘ณ ไท’ Usual thing, Being special) เพื่อการสร้างสรรค์ผลงานลงไปในผลิตภัณฑ์ต่างๆ และหลังจากนี้น่าจะมีการออกแบบในลวดลายอื่นๆ ต่อไป โดยผู้ที่สนใจในด้านนี้สามารถติดตามความเคลื่อนไหว หรือแบ่งปันไอเดียกับน้องๆ กลุ่มนี้ได้ที่ Facebook : nathai.brand
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit