วิศวกรรมเกษตรธัญบุรี สร้างรถตัดต้นพันธุ์มันสำปะหลังแบบวางรายต้นแบบ

25 Feb 2015

บอล ตัวแทนผลงาน เล่าว่า โครงสร้างรถตัดต้นพันธุ์มันสำปะหลังแบบวางรายต้นแบบประกอบด้วย

1. โครงชุดตัด ใช้สำหรับติดตั้งชุดใบตัดและชุดลำเลียงเข้าและลำเลียงออก ใช้เหล็กกล่องขนาด 23x28 หนา 1.5 มม. ขนาดหน้าตัด 1 นิ้ว คูณ 2 นิ้ว

2. สายพานลำเลียงส่วนด้านบน-ด้านล่างและสายพานลำเลียงด้านหลัง ใช้เป็นสายพานแบน ทำหน้าที่รวบต้นมันเข้าไปหาใบตัดล่างและใบตัดบนเพื่อตัดโคนต้นและยอดของต้นมันสำปะหลังและเคลื่อนที่ไปยังด้านหลังเพื่อเข้าสู่กระบวนการลำเลียงออกด้านข้างเพื่อวางราย ออกแบบระบบลำเลียงเข้าทั้ง 2 ข้างให้มีระยะห่าง 72 ซม. และส่วนของลำเลียงออกด้านข้างให้เอียง 73 องศา เพื่อให้รองรับต้นมันที่ถูกตัดแล้ว ออกแบบโดยใช้เหล็กเพลาขนาด ø25.4x1080 โดยที่ปลายเพลาทั้ง 2 ด้านจะมีตุ๊กตาขนาด 1 นิ้วรองรับ โดยจะมีเฟืองโซ่ติดอยู่ที่ด้านบนของเพลาและใช้มอเตอร์ไฮดรอลิคเป็นตัวขับเคลื่อนสายพานเพื่อให้เพลาเคลื่อนที่ในระบบลำเลียงเข้าและลำเลียงออกวางราย

3. ชุดใบตัดล่าง-ใบตัดบน ทำหน้าที่ตัดต้นพันธุ์มันสำปะหลังที่โคนต้นและยอดของต้นพันธุ์มันสำปะหลัง ใบตัดที่ใช้จะเป็นใบเลื่อยวงเดือน ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 20 ซม. จำนวนฟัน 30 ฟัน โดยจะแบ่งเป็น ใบตัดล่าง 1 ใบและใบตัดบน 1 ใบ โดยจะออกแบบให้ใบตัดด้านล่างล้ำหน้าจากใบตัดบน เพื่อให้เกิดการตัดส่วนของลำต้นก่อนที่จะเข้าไปสู่กระบวนการตัดยอดต้น สาเหตุที่ใช้ใบเลื่อยวงเดือนเพราะว่า ในการตัดต้นมันโดยใช้ใบเลื่อยวงเดือน ต้นมันที่ถูกตัดจะมีรอยเรียบและเปอร์เซ็นต์การแตกหักน้อย

4. มอเตอร์ไฮดรอลิค ทำหน้าที่เป็นตัวขับเคลื่อนใบตัดล่าง-ใบตัดบน สายพานลำเลียงเข้าและสายพานลำเลียงออกโดยที่ด้านล่างของมอเตอร์ไฮดรอลิคจะต่อเข้ากับพู่เล่ย์ขนาด 3 นิ้ว และสายพานร่อง A เพื่อเป็นตัวขับสายพานเพื่อให้ใบตัดหมุน โดยที่ความเร็วของใบตัดจะขึ้นอยู่กับความเร็วรอบของเครื่องยนต์

5. ระบบส่งกำลัง (ใช้เพลา PTO เป็นตัวส่งกำลัง) ทำหน้าที่เป็นต้นกำลังในการขับเคลื่อนให้ปั๊มไฮดรอลิคหมุน เพื่อส่ง Pressure ไปยังชุดตัดและกระบอกไฮดรอลิคหลังจากนั้นน้ำมันไฮดรอลิคจะไหลเข้าไปที่มอเตอร์ไฮดรอลิคเพื่อขับให้ใบตัดล่าง-ใบตัดบน ชุดลำเลียงเข้าและลำเลียงออกให้ทำงาน โดยที่ความเร็วในการหมุนจะขึ้นอยู่กับแรงดันของน้ำมันไฮดรอลิค และความเร็วรอบของ PTO

หลักการทำงานของรถตัดต้นพันธุ์มันสำปะหลังแบบวางรายต้นแบบ เริ่มจากตัวรถแทรกเตอร์ KUBOTA L3608 ขนาด 36 แรงม้า ส่งถ่ายกำลังด้วยระบบไฮดรอลิค มายังกระบอกยกชุดตัดและในส่วนของชุดตัดทั้งหมด โดยที่ส่วนหน้าสุดของชุดตัดจะเป็นชุดรวบต้นมันสำปะหลัง ส่งเข้ามาหาชุดตัดล่างและชุดตัดบน ซึ่งชุดใบตัดล่างจะติดตั้งให้อยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 20 เซนติเมตร และชุดตัดบนจะอยู่สูงขึ้นไปจากใบตัดล่าง 140 เซนติเมตร ระบบผลักออกจะคอยรับต้นพันธุ์มันสำปะหลังเพื่อวางราย

โดยตนเองและเพื่อนได้ทำการทดสอบรถตัดต้นพันธุ์มันสำปะหลังแบบวางรายที่ความเร็วรอบเครื่องยนต์ 3 ระดับ คือ ที่ความเร็วรอบ 1,500 2,000 และ 2,500 รอบต่อนาที ตามลำดับ จากผลการทดสอบพบว่าการใช้ความเร็วรอบที่ดีที่สุดที่ความเร็วรอบ 2,500 รอบต่อนาที สามารถทำงานได้ดีที่สุด โดยมีความสามารถในการทำงาน 1ไร่ต่อชั่วโมง เปอร์เซ็นต์ความเสียหาย 22 เปอร์เซ็นต์ และการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่ 7 ลิตรต่อชั่วโมง ระหว่างที่ทำการทดสอบยังพบว่ารถตัดต้นพันธุ์มันสำปะหลังแบบวางรายยังมีข้อบกพร่องที่ต้องปรับปรุงแก้ไข “ต้นมันที่ออกมานั้นวางไม่เป็นระเบียบ” จึงจะนำมาปรับปรุงโดยการติดตั้ง “วาล์วควบคุมอัตราการไหลของไฮดรอลิค” เพราะเครื่องไม่มีวาล์วควบคุมอัตราการไหลของไฮดรอลิคจึงทำให้การทำงานของเครื่องไม่เต็มประสิทธิภาพจึงทำให้ระบบวางรายนั้นทำงานเร็วเกินไป ควรที่จะมีวาล์วควบคุมอัตราการไหลของไฮดรอลิคเพื่อที่จะได้จำกัดความเร็วของมอเตอร์ได้ เพราะจะทำให้การวางรายได้ผลดีขึ้น

รถตัดต้นพันธุ์มันสำปะหลังแบบวางรายเป็นเพียงรถต้นแบบ ราคาประมาณ 560,000 บาท เกษตรกรชาวมันสำปะหลัง ท่านใดสนใจ ตนเองยินดีให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่โทร.093-0137113,089-5802706

ชลธิชา ศรีอุบล กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี 02-549-4994

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit