JMT มั่นใจปี 62 โตต่อ จัดงบซื้อหนี้ปีนี้ 4.5 พันล้าน ประเมินกลุ่มแบงก์ขายเอ็นพีแอลต่อเนื่องลดค่าใช้จ่าย

04 Jan 2019

นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT ผู้ให้บริการติดตามเร่งรัดหนี้ และบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ ระดับแนวหน้าของไทย เปิดเผยถึง กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจหลักในปี 2562 เดินหน้าซื้อหนี้จากกลุ่มธนาคารพาณิชย์มาบริหาร ซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญหลักของบริษัท เบื้องต้นจัดสรรงบสำหรับซื้อหนี้เสีย 4,500 ล้านบาท เป็นวงเงินลงทุนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนจะสามารถซื้อหนี้เข้าพอร์ตเพิ่มเป็นมูลค่าเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับโอกาสและการบริหารจัดการของบริษัท โดยจะมุ่งคำนึงถึงความคุ้มค่าของผลตอบแทนเป็นหลัก

JMT มั่นใจปี 62 โตต่อ จัดงบซื้อหนี้ปีนี้ 4.5 พันล้าน ประเมินกลุ่มแบงก์ขายเอ็นพีแอลต่อเนื่องลดค่าใช้จ่าย

มองภาพรวมตลาดหนี้เสีย (NPL) ของปี 2562 ประเมินว่าอัตราหนี้เสียทั้งระบบน่าจะอยู่ที่ 2.9-3% ของสินเชื่อทั้งระบบ ใกล้เคียงกับสิ้นปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ 2.97% อย่างไรก็ตามจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า NPL ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในทุกๆ ปีตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ฉะนั้น ในเชิงของสภาพตลาด NPL บริษัทฯ จึงมั่นใจว่าปี 2562 จะสามารถซื้อหนี้เสียเข้าพอร์ตได้เพิ่มขึ้นตามเป้าหมาย

"งบซื้อหนี้ในปี 2562 จัดสรรไว้ 4,500 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และเชื่อว่าบริษัทฯ จะสามารถใช้เงินก้อนนี้ลงทุนซื้อหนี้ได้อย่างคุ้มค่า ภาพรวมหนี้เสียในระบบปีนี้ บริษัทฯ ประเมินคร่าวๆ ว่าจะอยู่ที่ 2.9 - 3% ใกล้เคียงกับปีก่อน โดยมองว่าสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตน่าจะทรงตัวจากปีก่อน ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอีและที่อยู่อาศัยนั้นจะปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งก็ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับบริษัทฯ" นายสุทธิรักษ์ กล่าว

นายสุทธิรักษ์ กล่าวเพิ่มว่า กรณีที่มีความกังวลว่าผู้ประกอบธุรกิจซื้อหนี้มาบริหารอาจจะได้รับผลกระทบหลังจากกลุ่มธนาคารจะหันมาบริหารหนี้เสียเอง บริษัทฯ ยืนยันว่าไม่มีความกังวลในประเด็นดังกล่าว เนื่องจากกลุ่มธนาคาร มีแผนกการบริหารจัดการหนี้เสียอยู่ก่อนแล้ว แต่เป็นก้อนหนี้ใหม่ และหนี้คุณภาพดี ซึ่งสามารถบริหารจัดการได้ง่าย และคุ้มค่ากับการลงทุนด้านทรัพยากรของแต่ละธนาคาร อย่างไรก็ตาม ในส่วนของหนี้เสียที่เป็นหนี้ก้อนเก่าและมีความยากในการติดตามจัดเก็บนั้น ทางธนาคารก็จะขายทอดตลาดให้กับผู้ซื้อหนี้เช่นเดิม ซึ่งบริษัทฯ เป็นผู้เชี่ยวชาญลำดับต้นในอุตสาหกรรม

"บริษัทฯ มีความเข้าใจเรื่องความกังวลที่เกิดขึ้น แต่ตามปกติแบงก์มีการบริหารหนี้เสียเองอยู่แล้ว แต่จะมุ่งเน้นไปที่หนี้ใหม่และหนี้ที่คุ้มค่ากับการเข้าไปบริหารจัดการ ส่วนหนี้ก้อนเดิม และหนี้ที่ยากกับการติดตาม ก็จะขายทอดตลาดมาตามกลไกของอุตสาหกรรม" นายสุทธิรักษ์ กล่าว

ในส่วนของภาพรวมผลประกอบการปี 2562 บริษัทฯ มั่นใจว่าจะสร้างสถิติสูงสุดครั้งใหม่ จากปี 2561 ที่รายได้จะเติบโต 30% หรือมีรายได้ประมาณ 1,361 ล้านบาท ตามการซื้อหนี้มาบริหารเพิ่มขึ้น ขณะที่สิ้นปี 2561 บริษัทฯ มีพอร์ตบริหารหนี้รวมมูลค่าทั้งสิ้นรวมมากกว่า 135,000 ล้านบาท

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit