กลุ่ม KTIS พร้อมลงทุนนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ ผลิตเอทานอล 6 แสนลิตรต่อวันต่อยอดสู่เคมีชีวภาพ

18 Mar 2019

นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริษัทฯ ได้อนุมัติให้บริษัท เคทิส ไบโอเอทานอล จำกัด (KTBE) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ KTIS ถือหุ้น 100% เข้าร่วมถือหุ้นร้อยละ 50 ในบริษัท จีจีซี เคทิส ไบโออินดัสเตรียล จำกัด (GKBI) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของกลุ่ม KTIS กับกลุ่มบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) ในอัตราส่วน 50 ต่อ 50 เพื่อดำเนินโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (NBC Project) ที่จังหวัดนครสวรรค์

กลุ่ม KTIS พร้อมลงทุนนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ ผลิตเอทานอล 6 แสนลิตรต่อวันต่อยอดสู่เคมีชีวภาพ

ทั้งนี้ การลงทุนโครงการในเฟสแรก จะใช้เงินลงทุนรวมไม่เกิน 7,500 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างโรงงาน 3 โรง ได้แก่ โรงหีบอ้อย กำลังการผลิต 24,000 ตันต่อวัน โรงผลิตเอทานอล กำลังการผลิต 600,000 ลิตรต่อวัน และโรงผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ กำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้า 85 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 475 ตันต่อชั่วโมง โดยแหล่งเงินทุนของโครงการนี้จะมาจากเงินทุนของผู้ถือหุ้นฝ่ายละไม่เกิน 1,300 ล้านบาท รวมเป็น 2,600 ล้านบาท ที่เหลือเป็นการกู้ยืมจากสถาบันการเงินในประเทศ

"การหีบอ้อยด้วยกำลังการผลิต 24,000 ตันต่อวัน เพื่อนำน้ำอ้อยที่ได้มาผลิตเป็นเอทานอลโดยตรงในช่วงฤดูหีบอ้อย และน้ำอ้อยส่วนที่เหลือจะทำให้เข้มข้นและนำมาผลิตเป็นเอทานอลในช่วงปิดหีบอ้อย ดังนั้น โครงการนี้จึงสามารถผลิตเอทานอลได้ตลอดทั้งปี ซึ่งเอทานอลที่ผลิตได้นี้จะนำมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพที่มีมูลค่าสูงขึ้น ส่วนชานอ้อยที่ได้จากการหีบอ้อยจะนำมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำสำหรับใช้ในโครงการ หรือหากมีส่วนเกินก็จะขายในบริเวณใกล้เคียง" นายณัฎฐปัญญ์กล่าว

ทั้งนี้ โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ถือเป็นการผนึกจุดแข็งของผู้ถือหุ้น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม KTIS ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการสร้างอ้อย และกลุ่ม GGC ที่มีความเชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม จึงมั่นใจได้ว่าโครงการนี้จะก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ชีวภาพใหม่ๆ ในอนาคต สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐที่ส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ซึ่งเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ อีกทั้งช่วยให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น ชุมชนใกล้เคียงก็จะมีเศรษฐกิจและสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit