ซินโครตรอน จับมือ สดร. มทส. ร่วมสร้างเครื่องเคลือบกระจกกล้องดูดาวฝีมือคนไทย ใหญ่สุดในภูมิภาคอาเซียน ลดงบประมาณแผ่นดินได้กว่า 36 ล้านบาท

24 Aug 2015

ศ.น.ท.ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบัน กล่าวว่า “กล้องโทรทรรศน์ที่ติดตั้ง ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา หรือหอดูดาวแห่งชาติ ที่ตั้งอยู่บริเวณอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกระจก 2.4 เมตร ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนประกอบเป็นกระจกเคลือบผิวด้วยอลูมิเนียม มีคุณสมบัติในการสะท้อนแสงได้ดี ทำให้การบันทึกภาพวัตถุบนท้องฟ้าที่อยู่ไกลมากๆ และมีแสงสว่างน้อยเป็นเรื่องง่าย แต่หลังจากที่มีการใช้งานประมาณ 2 ปี การสะท้อนแสงของอลูมิเนียมที่เคลือบบนผิวกระจกจะเสื่อมสภาพลง ทำให้ภาพที่บันทึกได้มีคุณภาพลดลงตามไปด้วย การซ่อมบำรุงด้วยการเคลือบผิวอลูมิเนียมใหม่จึงเป็นสิ่งจำเป็น แต่ด้วยข้อจำกัดของขนาดกระจกที่ใหญ่ถึง 2.4 เมตร และน้ำหนักที่มากถึง 1.5 ตัน จึงทำให้ในประเทศไทยยังไม่มีที่ใดสามารถให้บริการเคลือบได้ และการจะนำเข้าเครื่องเคลือบกระจกจากต่างประเทศต้องใช้เงินลงทุนสูงถึง 50 ล้านบาท สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) (สซ.) จึงร่วมกับ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ออกแบบและพัฒนาระบบเคลือบกระจก เพื่อผลิตเครื่องเคลือบกระจกขนาดใหญ่ที่มีเทคโนโลยีการเคลือบกระจกที่ทันสมัยและคุณภาพดีทัดเทียมกับการนำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนี้ เครื่องเคลือบกระจกดังกล่าวยังสามารถเคลือบกระจกสะท้อนแสงของกล้องโทรทรรศน์ที่มีขนาดเล็กกว่า 2.4 เมตร ซึ่งสามารถให้บริการแก่สถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ได้ด้วย ขณะนี้ได้ดำเนินการสร้างและประกอบชิ้นส่วนเสร็จเรียบร้อยแล้วและได้ติดตั้ง ณ อุทยานดาราศาสตร์ จ.เชียงใหม่ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558 อีกทั้งได้มีพิธีเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2558 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการทำงานของเครื่องเคลือบกระจกเป็นครั้งแรกอีกด้วย”

นายสำเริง ด้วงนิล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาวิศวกรรม กล่าวว่า “การออกแบบและสร้างเครื่องเคลือบกระจกดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถทางเทคโนโลยีตลอดจนฝีมือช่างที่สะสมมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง จึงจะสามารถออกแบบและสร้างเครื่องเคลือบกระจกที่มีคุณภาพสูงได้ ตลอดระยะเวลาไม่ต่ำกว่าสิบปีที่ผ่านมาสถาบันฯ ได้สั่งสมประสบการณ์ในการออกแบบพัฒนา จัดสร้างอุปกรณ์และเครื่องมือสุญญากาศระดับสูงให้บริการแก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนมาโดยตลอด ซึ่งเป็นฐานของการพัฒนาเครื่องเคลือบกระจกนี้ เทคโนโลยีเคลือบกระจกที่ใช้ เป็นระบบสุญญากาศ เคลือบด้วยวิธีการสปัตเตอริ่ง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้การเรียงตัวของโลหะบนพื้นผิวกระจกมีความเรียบสม่ำเสมอ อีกทั้งสามารถความคุมความบางของโลหะได้ในระดับนาโนเมตร ซึ่งถือเป็นหน่วยที่บางมาก นอกจากนี้ระบบยังถูกออกแบบให้ใช้ได้กับโลหะหลากหลายประเภท ตั้งแต่ อลูมิเนียม ทองคำ ทองแดง และซิลิกา เพื่อการนำไปใช้งานที่แตกต่างกัน

การจัดสร้างและพัฒนาระบบเคลือบกระจกฯ ใช้งบประมาณดำเนินการ 14 ล้านบาท ซึ่งหากสั่งซื้อจากต่างประเทศจะมีราคาไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 50 ล้านบาท ทำให้สามารถประหยัดงบประมาณของแผ่นดินไปถึง 36 ล้านบาท หรือประมาณ 72% จากการนำเข้าระบบดังกล่าวฯ ผลงานนี้ถือเป็นหนึ่งความภาคภูมิใจของคนไทยที่สามารถผลิตขึ้นได้เองและมีราคาถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศมากกว่าครึ่ง เทคโนโลยีที่เกิดจากการพัฒนาเครื่องเคลือบกระจกนี้ สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาเป็นนวัตกรรมสำหรับภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้งานเทคโนโลยีเครื่องกระจกได้หลากหลายไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมฮาร์ดไดรฟ์ อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ และอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภค เช่น การเคลือบฟิล์มบางที่ต้องการการสะท้อนแสงได้ดีสำหรับเลนส์แว่นตาหรือกล้องถ่ายรูป ฟิล์มบางที่มีความโปร่งแสงแต่ป้องกันความร้อนได้ดี สำหรับกระจกรถยนต์หรือติดกระจกบนอาคารสูง ฟิล์มบางที่มีคุณสมบัติการนำไฟฟ้าสำหรับอุปกรณ์จอสัมผัส เช่น Touch screen บนจอมือถือหรือจอคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ”

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit