สถาบันอาหารปัดฝุ่น “โครงการครัวไทยสู่โลกระยะที่ 2” อาหารไทยต้องปลอดภัยทั่วโลก... แก้วิกฤตเศรษฐกิจใน 1 ปี

22 Jan 2009

กรุงเทพฯ--22 ม.ค.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์

สถาบันอาหารเดินหน้าโครงการครัวไทยสู่โลกระยะที่ 2 คาดใช้งบ 2 พันล้านบาท กระตุ้นความเชื่อมั่นอาหารไทย ให้ปลอดภัยทั่วโลก ระดมกิจกรรมสร้างมาตรฐานคุณภาพความปลอดภัยในอาหาร และคุณภาพการผลิต ให้ครอบคลุมทั้งระบบห่วงโซ่การผลิตอาหาร ทั้งเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมอาหาร ด้วยระบบการสร้างคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์อาหาร(Food Value Creation) และรณรงค์ให้เกิดความเชื่อมั่นในระดับโลก หวังใช้ศักยภาพอุตสาหกรรมอาหารปลดวิกฤตเศรษฐกิจได้ภายใน 1 ปี

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลาแห่งความสำเร็จของโครงการครัวไทยสู่โลกระยะที่ 1 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 – พ.ศ. 2551 เป็นการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อการสร้างความ รู้จักอาหารไทย หรือ Thai Kitchen to the World ขยายช่องทาง(outlet)จำหน่ายอาหารไทยในต่างประเทศ พัฒนาบุคลากรเข้าสู่ระบบครัวไทยในต่างประเทศ ยืนยันภาพลักษณ์สู่เอกลักษณ์ร่วมของร้านและภัตตาคารอาหารไทยในต่างประเทศภายใต้เครื่องหมาย Thai select ซึ่งทั้งหมดนั้นถือเป็นการรณรงค์ด้าน Demand side แต่ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่แพร่ขยายไปทั่วโลกนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกประเทศต้องสร้างและเรียกความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา เมื่อมาตรฐานความปลอดภัยในอาหารเป็นเงื่อนไขแรกของอุตสาหกรรมอาหารโลก ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคทั่วโลกว่า “อาหารไทยปลอดภัยทั่วโลก” ดังนั้นก้าวต่อไปของโครงการครัวไทยสู่โลกระยะที่ 2 จึงเกิดขึ้นภายใต้แนวความคิด “เชื่อมั่นอาหารไทย : Thailand Food Forward” โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณราว 2,000 ล้านบาท และจะเห็นผลที่ชัดเจนได้ภายในเวลา 1 ปี ซึ่งจะเน้นไปที่กิจกรรมด้าน Supply side ได้แก่ การสร้างมาตรฐานคุณภาพความปลอดภัยในอาหาร และคุณภาพการผลิต ให้ครอบคลุมทั้งระบบห่วงโซ่การผลิตอาหาร เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมอาหาร ด้วยระบบการสร้างคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์อาหาร(Food Value Creation) และรณรงค์ให้เกิดความเชื่อมั่นในระดับโลก”

โครงการครัวไทยสู่โลกระยะที่ 2 เกิดขึ้นภายใต้แนวความคิด เชื่อมั่นอาหารไทย : Thailand Food Forward ประกอบด้วยกิจกรรมหลัก อาทิ โครงการ Eat Safe เป็นโครงการที่ตอกย้ำความชัดเจนของผลิตภัณฑ์อาหารไทยว่าปลอดภัยและมีคุณภาพ ผ่านกิจกรรม Road show, โครงการสร้างสัญลักษณ์และเครื่องหมายคุณภาพ AQP : Assure Quality Product พัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายในระดับ Premium,

โครงการพัฒนาตลาดเสมือนจริง(Virtual Market) ผ่านเวปไซด์ www.foodfromthailand.com โครงการพัฒนาฐานข้อมูลเชื่อมงานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยี กับภาคการผลิต,โครงการสร้างระบบมาตรฐาน ความปลอดภัยในอาหารให้ครอบคลุมทุกมาตรฐานทั่วโลก เช่น GMP HACCP BRC ISO22000 และนำระบบ Traceability System มาใช้ในทุกผลิตภัณฑ์ (ปัจจุบันในเฉพาะผลิตภัณฑ์กุ้ง และสับปะรด)

นอกจากนี้ ยังคงดำเนินการต่อเนื่องจากครัวไทยระยะที่ 1 โดยผลักดันให้เกิดร้าน/ภัตตาคารอาหารไทยในต่างประเทศ 20,000 ร้าน และขยายเครื่องหมาย Thai select ให้กับร้านอาหารไทยทั่วโลก รวมทั้งสร้างและรักษาภาพลักษณ์ร้านอาหารไทย เน้นการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคในเรื่ององค์ความรู้ วัฒนธรรม ความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาหารไทยและบริโภคอาหารไทย

นายยุทธศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในการดำเนินงานโครงการครัวไทยสู่โลกระยะที่ 1 ที่ผ่านมานั้น ใช้งบประมาณราว 500 ล้านบาท สถาบันอาหาร ได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาอาหารไทยและครัวไทยสู่โลกขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางในการบริหารอำนวยการโครงการครัวไทยสู่โลก ได้พัฒนาศูนย์ข้อมูลสารสนเทศด้านอาหารไทยและร้านอาหารไทย รวมทั้งพัฒนาระบบการจัดการเพื่อให้บริการและอำนวยความสะดวกในการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างผู้ผลิตอาหารไทย ผู้นำเข้าหรือค้าปลีกอาหารไทยในต่างประเทศ และร้านอาหารไทยในต่างประเทศ ผ่านเว็บไซต์ของโครงการครัวไทยสู่โลก (www.thaikitchen.org) ปัจจุบันมีรายชื่อพ่อครัวแม่ครัวคนไทยที่แจ้งความประสงค์การทำงานในต่างประเทศและขึ้นทะเบียนกับศูนย์พัฒนาอาหารไทยและครัวไทยสู่โลกแล้วประมาณ 1,200 คน มีการพัฒนาผู้ปรุงอาหารไทย (พ่อครัว-แม่ครัว) ทั่วโลกแล้วประมาณ 800 คน และจนถึงธันวาคมปี 2551 มีฐานข้อมูลร้านอาหารไทยทั่วโลกแล้วทั้งสิ้นประมาณ 13,200 แห่ง เพิ่มขึ้นจากในปี 2547 ที่มีจำนวนร้านอาหารไทยเพียง 5,821 ร้านทั่วโลก

นอกจากนี้ ศูนย์พัฒนาอาหารไทยและครัวไทยสู่โลกยังได้จัดกิจกรรมทางการตลาดโฆษณาและประชาสัมพันธ์โครงการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการให้คำปรึกษาการดำเนินธุรกิจ การลงทุนด้านอาหารไทยและร้านอาหารไทยแก่ผู้ประกอบการร้านอาหาร ผู้เกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไป โดยมีผู้สนใจมารับคำปรึกษาแล้วกว่า 500 คน และประเทศที่มีคนสนใจอยากจะไปลงทุนมากที่สุดคือสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และออสเตรเลีย ตามลำดับ

ในส่วนการประชาสัมพันธ์ในภาพรวม สถาบันอาหารได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และบริษัทการบินไทย กระตุ้นการรับรู้เรื่องอาหารไทย โดยการจัดงานเทศกาลอาหารและวัฒนธรรมไทย การประชาสัมพันธ์อาหารไทยในสื่อต่างๆ โดยการจัดทำคู่มือตำรับอาหารไทย การทำหนังสือแนะนำอาหารไทย และร้านอาหารไทยในเมืองหลวงที่สำคัญทั่วโลก

นอกจากนี้กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ยังดำเนินการมอบตราสัญลักษณ์เครื่องหมาย Thai Select เพื่อการให้การันตีร้านอาหารไทยระดับคุณภาพ มีร้านอาหารที่ได้รับตราสัญลักษณ์เครื่องหมาย Thai Select แล้ว 1,160 ร้านทั่วโลก

ขณะเดียวกันสถาบันอาหารได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จัดทำโครงการการพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิตอาหารหรือผู้ประกอบการระดับ SME ให้สามารถพัฒนาตนเองเข้าสู่กรอบการประกันความปลอดภัยอาหารภายใต้ระบบ Hazard Analysis Critical Control Point (HACCP) เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันในการส่งออกของผู้ผลิตอาหารของไทยโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมมีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมกว่า 600 โรงงานได้รับการยกระดับมาตรฐานการผลิตอาหารปลอดภัยแล้ว

ในกระบวนการผลิตภาพสำคัญของประเทศนั้น ผลิตภาพทางอาหารยังเป็นกระบวนการที่สามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งได้อย่างไม่มีข้อจำกัด อีกทั้งผลิตภาพทางอุตสาหกรรมอาหาร ก็เป็นปัจจัยสำคัญให้เกิดการขับเคลื่อนกระบวนการผลิตในภาคการเกษตรทั้งระบบซึ่งเกี่ยวข้องกับประชากรเกือบ 70% ของจำนวนประชากรไทย 65 ล้านคนทั่วประเทศ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นภารกิจของสถาบันอาหารที่ต้องรักษาความเข้มแข็งนี้ให้คงอยู่และเสริมสร้างให้เกิดความเข้มแข็งยิ่งขึ้นต่อไป

รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ : บริษัท โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด

สุขกมล งามสม โทรศัพท์ 089 484 9894, 02 158 9416-8

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit