โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดตัว ‘แขนกลหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด’ เทคโนโลยีใหม่ในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมและข้อสะโพกเทียมในไทย

02 May 2013

กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดตัว “แขนกลหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด” เทคโนโลยีใหม่ในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมและข้อสะโพกเทียม พร้อมร่วมลงนามความร่วมมือด้านวิทยาการทางการแพทย์ กับสถาบันโรคข้อ ดอร์ สหรัฐอเมริกา โดยมี คณะผู้บริหารโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มร. เดนนิส บราวน์ , นพ.นำ ตันธุวนิตย์ , นพ. สิริพงศ์ รัตนไชย และ นพ. ลอว์เรนส์ ดอร์ ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันโรคข้อ ดอร์ สหรัฐอเมริกา โดยมี คุณนันทวัน แสงธรรมกิจกุล, คุณวิภารดี ภูวนาทนรานุบาล และ คุณชมะนันทน์ วรรณวินเวศร์ ร่วมพูดคุย ณ อาคารบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล คลินิก

‘ข้อเสื่อม’ เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากการใช้งานของข้อต่อจนเกิดการสึกหรอของกระดูกอ่อนผิวข้อ พบมากในผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปที่กระดูกข้อต่อเริ่มเสื่อมสภาพ โดยเฉพาะบริเวณข้อเข่าและสะโพก หรืออาจเกิดได้ในคนที่มีน้ำหนักตัวมาก ได้รับอุบัติเหตุบริเวณข้อต่อ มีการใช้ข้อต่อผิดลักษณะ หรือเป็นผลจากกรรมพันธุ์ ปัจจัยเหล่านี้คือสาเหตุของการทำลายกระดูกอ่อนผิวข้อที่มากขึ้นทุกวัน โดยร่างกายไม่สามารถสร้างทดแทนหรือซ่อมแซมได้ ผู้ป่วยจึงต้องเจ็บปวดทรมานจากอาการอักเสบและการทำงานของข้อต่อที่บกพร่อง ซึ่งส่งผลต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน

ปัจจุบัน ทางเลือกในการรักษาอาการข้อเสื่อมทำได้หลายวิธี ตั้งแต่ การรักษาโดยการไม่ใช้ยา เช่น การลดน้ำหนัก การออกกำลังกาย และการใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงข้อ หรือ การรักษาด้วยการใช้ยา ซึ่งมีหลายกลุ่มและมีประสิทธิภาพในการรักษาที่แตกต่างไปตามสาเหตุและอาการของผู้ป่วยแต่ละราย

โดย นพ. สิริพงศ์ รัตนไชย ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ, ข้อเทียม โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า นอกเหนือจากรวบรวมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และความก้าวหน้าทางเทคนิคและเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม ทางโรงพยาบาล ฯ ได้มุ่งเน้นการวางมาตรฐานการรักษาที่มีแบบแผนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของบุคลากรและสภาพแวดล้อมทั้งหมด โดยเฉพาะการวางแผนเพื่อกำหนดวิธีการรักษา และลำดับขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่ก่อนการผ่าตัดจนถึงการดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัด ด้วยความร่วมมือกับสถาบันโรคข้อ ดอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในการทำข้อตกลงความร่วมมือทางวิทยาการทางการแพทย์กับ นพ. ลอว์เรนส์ ดอร์ ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันโรคข้อ ดอร์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมและผู้พัฒนาเทคโนโลยีแขนกลหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ซึ่งเป็นวิธีที่เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายในสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศทั่วโลก โดยมีการอบรมแลกเปลี่ยนความรู้จนได้แนวทางปฏิบัติภายใต้แบบแผนเดียวกันทุกขั้นตอนการรักษา ตั้งแต่การลงทะเบียนซักประวัติผู้ป่วย การตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นด้วยเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ การให้คำปรึกษาที่เหมาะสมกับการดูแลผู้ป่วยเฉพาะราย รวมถึงการประชุมร่วมของบุคลากรทุกฝ่ายก่อนการผ่าตัด เพื่อวางแผนผ่าตัดและการดูแลหลังผ่าตัดที่สอดคล้องกับชีวิตประจำวันของผู้ป่วย ด้วยจุดมุ่งหมายให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดได้รับความบอบช้ำและมีผลข้างเคียงจากการผ่าตัดน้อยที่สุด ตลอดจนความสามารถในการกลับไปดำเนินชีวิตตามปกติได้รวดเร็วขึ้น

คุณแหน นันทวัน แสงธรรมกิจกุล กล่าวว่า “ปัญหาที่พบเกี่ยวกับอาการเข่าเสื่อม คือ มีอาการปวดเข่า ก็เพิ่งเป็นได้ไม่นานค่ะ ปัจจุบันเราอายุ 56 ปีแล้ว เริ่มมีบางครั้งที่นั่งนาน ๆ แล้วอยู่ ๆ พอจะลุกก็ลุกไม่ขึ้น ก็เกิดความกังวลขึ้นมาว่า วันหนึ่งจะเดินไม่ได้หรือเปล่า เพราะโดยปกติก็เป็นคนที่ไม่ได้มีการดูแลตัวเองเป็นพิเศษ ส่วนใหญ่คือเราจะทำงานอยู่ตลอดเวลา แล้วเราได้ยินมานานแล้วว่าในต่างประเทศมีการรักษาอาการข้อเข่าเสื่อมด้วยวิธีการผ่าตัดด้วยแขนกลหุ่นยนต์ที่เจ็บน้อยได้ผลที่ดี พอได้ทราบข้อมูลว่ามีการนำเทคโนโลยีนี้เข้ามาเพื่อการรักษาอาการข้อเข่าเสื่อมที่ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากเหมือนสมัยก่อน ทำให้รู้สึกมีความหวัง ความกังวลและความเครียดก็ลดลงไปมาก แล้วยิ่งที่คุณหมอบอกว่าเทคนิคผ่าตัดสมัยนี้ไม่ต้องผ่าข้อเข่าทั้งหมด สามารถกรอกระดูกเป็นส่วน ๆ ได้ ทำให้ไม่จำเป็นต้องรื้อเส้นเอ็นหรืออะไรที่อยู่บริเวณนั้น แผลก็หายเร็ว ไม่เจ็บมาก นั่นยิ่งทำให้เรารู้สึกสบายใจขึ้นมาก เป็นความอุ่นใจที่ได้รู้ว่าอาการข้อเข่าเสื่อมสามารถรักษาได้ผลดีจริง ๆ “

คุณเอก ชมะนันทน์ วรรณวินเวศร์ เสริมว่า “อาการเกี่ยวกับข้อเข่า เป็นเรื่องใกล้ตัวมาก เพราะตัวผมเองก็มีความผิดปกติตั้งแต่เกิด คือเมื่องอเข่าจะมีเสียงลั่นกรอบแกรบอยู่ข้างใน เคยไปหาหมอเขาก็บอกว่ายังไม่มีอะไรต้องเป็นห่วงหากอาการยังไม่ได้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ก็ทำให้เราเกิดความกังวลว่าในวันข้างหน้าอาการดังกล่าวอาจจะกลายเป็นปัญหาได้ เรื่องการผ่าตัดข้อเข่าด้วยแขนกลหุ่นยนต์ผมก็เคยได้ทราบข้อมูลจากต่างประเทศมาก่อนแล้วราวสองปี แต่พอได้มาเห็นและพูดคุยคนไข้ที่ได้รับการผ่าตัดเองจริง ๆ ก็ทึ่งมาก ที่หลังผ่าตัดเพียงสองสามวันก็สามารถเดินได้แล้ว มันฟื้นฟูเร็วกว่าการผ่าตัดไส้ติ่งหรือการผ่าตัดอีกหลาย ๆ อย่างที่เราเคยเห็นมา ก็ทำให้รู้สึกสบายใจขึ้น คิดว่าเป็นพัฒนาการด้านการแพทย์หนึ่งที่จะให้ประโยชน์ได้มาก โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีปัจจัยเอื้อต่อการเป็นข้อเข่าเสื่อมมากมาย ทั้งการใส่รองเท้าส้นสูง สะพายกระเป๋าหนัก ๆ หรือการนั่งทำงานที่ผิดท่าติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือในคนสูงอายุที่มีปัญหาเรื้อรังเกี่ยวกับข้อเข่า การผ่าตัดด้วยแขนกลหุ่นยนต์ที่สามารถรักษาได้ตรงจุดและแม่นยำ ทั้งยังพักฟื้นไม่นานและมีผลข้างเคียงน้อย จึงทำให้ผมรู้สึกอุ่นใจมากขึ้น”

-กผ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit