สรุปภาพรวมกองทุนรวมครึ่งปีแรก 2557

08 Jul 2014

ผ่านครึ่งแรกของปี 2557 ที่ล้วนเต็มไปด้วยความกังวล ความกลัว ความไม่แน่นอน โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของปีซึ่งสถานการณ์ต่างๆ ยังไม่ชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามเมื่อทุกอย่างเริ่มคลี่คลายและชัดเจนมากขึ้นก็ส่งผลให้บรรยากาศในการลงทุนก็เริ่มกลับมาคล้ายกับเมื่อปีที่แล้ว อุตสาหกรรมกองทุนรวมในประเทศไทยเรียกได้ว่าฝ่าฟันวิกฤตนี้มาได้อย่างสวยงาม โดยที่ครึ่งปีแรก มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของอุตสาหกรรมโตกว่า 17.05% มูลค่าทรัพยสินสุทธิที่ 3.6 ล้านล้านบาท ซึ่งตรงนี้ต้องยกเครดิตให้กับคนในอุตสาหกรรมในทุกภาคส่วนที่ช่วยกันส่งเสริม รวมทั้งออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มาเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ลงทุนในภาวะที่สินทรัพย์หลักในการลงทุนอย่างเช่น หุ้นในประเทศเกิดความไม่แน่นนอนและผันผวน

หากจะกล่าวถึงผลิตภัณฑ์ (ประเภทกองทุน) ที่ได้รับความนิยมจากผู้ลงทุนสูงสุดในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาเห็นจะหนีไม่พ้น กองทุนประเภท High Yield Bond ซึ่งเน้นลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศที่ได้รับการจัดอันดับเรตติ้งในระดับต่ำกว่าระดับที่สามารถลงทุนได้ (non-investment grade) และขายให้เฉพาะกลุ่มผู้ลงทุนประเภท Accredited Investor ซึ่งในเฉพาะครึ่งปีแรกนี้มีการเปิดกองทุนกันกว่า 100 กองทุน หรือคิดเป็นมากกว่า 25% ของจำนวนกองทุนที่ออกมาในปี 2557 นี้ ยิ่งไปกว่านั้นมูลค่าทรัพยสินสุทธิของกองทุนที่สามารถทำได้สูงกว่า 366,000 ล้านบาท เฉลี่ยแล้วกองทุนละ 3,600 ล้านบาท

กองทุนอีกกลุ่มที่ได้นับความนิยมจากผู้ลงทุนอย่างโดดเด่นนั้นก็คือ กลุ่มกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศแบบเจาะกลุ่มประเทศ (single country) และภูมิภาค (Region) ซึ่งมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเติบโตเฉลี่ยสูงสุดกว่า 71% จากปลายปีที่แล้ว ส่งผลให้ยอดของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนในกลุ่มนี้สูงถึงเกือบ 6 หมื่นล้านบาท โดยมีกองทุนเปิดใหม่ 15 กองทุน และมีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิกว่า 22,980 ล้านบาท ซึ่งนำโดยกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นยุโรปคิดเป็นยอดประมาณ 10,633 ล้านบาท (คิดเป็น 46%) ตามมาด้วย กองทุนหุ้น ญี่ปุ่น และ อเมริกา ที่ (15%) และ (14%) ตามลำดับ

ส่วน Trigger fund ยังคงออกมาเป็นทางเลือกให้ผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่อง เป็นแม้กระแสจะไม่แรงเหมือนปี 2556 ที่ผ่านมาก็ตาม และส่วนที่ต่างจากเมื่อปีที่แล้วก็คือ Trigger fund ส่วนใหญ่นั้นจะเน้นไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศรวมทั้งมีประเทศใหม่ๆอาทิ เกาหลีใต้ เยอรมัน และยุโรป เป็นต้น โดยตั้งแต่ต้นปี มี Trigger Fund ออกสู่ตลาด 34 กองทุน แบ่งเป็นที่เน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศ 22 กองทุน และลงทุนในหุ้นไทย 12 กองทุน มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมกว่า 14,000 ล้านบาท โดยมีส่วนแบ่งเท่าๆกันทั้ง 2 ประเภท ส่วนผลการดำเนินการนั้น Trigger Fund ที่เน้นลงทุนในหุ้นไทยสามารถลงทุนและทำผลตอบแทนได้ตามเป้าหมายจำนวน 7 กองทุน และ 5 กองทุนสำหรับกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ยังคงมี Trigger Fund ที่เหลือค้างมาจากปีที่แล้วและไม่สามารถทำผลตอบแทนได้ตามเป้าหมายจึงต้องเปลี่ยนไปเป็นกองทุนหุ้นแบบปกติจำนวน 27 กองทุน ซึ่งโดยเฉลี่ยผลตอบแทนนั้นติดลบที่ -10% ซึ่งนี้คือสิ่งที่ยืนยันว่าการลงทุนใน Trigger Fund นั้นขึ้นอยู่กับจังหวะและเวลาในการลงทุนเป็นสำคัญ

ส่วนกลุ่มกองทุนที่เน้นลงทุนหุ้นไทยยังคงมีเม็ดเงินไหลเข้าแต่เบาบางเพียง 2,115 ล้านบาท โดยมาจาก กองทุนหุ้นขนาดกลางและเล็ก (Equity General) ประมาณ 330 ล้านบาท และเป็นส่วนของกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large Cap) 1,785 ล้านบาท ซึ่งลดลงกว่า 95% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2556 แต่อย่างไรก็ตามถือว่ามีจำนวนมากที่สุดนับแต่ปี 2548 (หากไม่นับปี 2556)

LTF และ RMF เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะเม็ดเงินไหลออกสุทธิของ LTF ที่ไหลออกเพียง -1,792 ล้านบาท ในครึ่งแรกของปีนี้ ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อยผิดปกติจากในอดีตที่ผ่านมา และน้อยที่สุดในช่วงครึ่งแรกของปีตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ส่วนหนึ่งคงเป็นผลมาจากการที่นักลงทุนยังคงรอให้ผลตอบแทนดีดกลับขึ้นมาสูงขึ้นอีกครั้งแล้วค่อยทำการขายคืนประกอบกับนักลงทุนบางส่วนเริ่มมีการทยอยลงทุนตั้งแต่ต้นปี

ขณะที่ RMF ยังคงได้รับความนิยมจากผู้ลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆโดยทำสถิติมีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิติดต่อกัน ไตรมาส 9 นับแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 โดยที่ครึ่งแรกปีนี้มีเงินไหลเข้ากว่า 1,765 ล้านบาท ทำให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมของ RMF นั้นสูงเกือบ 150,000ล้านบาท และนับเป็นครั้งแรกที่สัดสวนของ RMF ทีเน้นลงทุนในหุ้นมีส่วนแบ่งสูงสุดที่ 37.42% แซงหน้าประเภทที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่มีส่วนแบ่งอยู่ที่ 35.92% ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีที่ผู้ลงทุนเริ่มเห็นความสำคัญของการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มมากขึ้นเพื่อสร้างโอกาสในการรับผลตอบแทนให้สอดคล้องกับระดับการรับความเสี่ยงและเป้าหมายทางการลงทุนของแต่ละคน

ผลตอบแทนกองทุนรวมประเภทต่างๆ

ผลตอบแทนกองทุนในครึ่งปีแรกปีนี้ ต้องเรียกว่าสดใสและยอดเยี่ยมในทุกประเภทกองทุน โดยเฉลี่ยแล้วไม่มีประเภทกองทุนใดเลยที่ค่าเฉลี่ยผลตอบแทนติดลบ ซึ่งกลุ่มที่ทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้สูงที่สุดคือ กลุ่มกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นไทย นำโดยกองทุนหุ้นขนาดกลางและเล็ก (Equity General) ทำผลตอบแทนได้เฉลี่ย 13.98% และกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large Cap) ก็ทำได้ดีเช่นกันที่เฉลี่ย 12.9% ขณะที่ SET Index ทำได้ 14.40% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่ประเมินตลาดผิดทำให้ผลตอบแทนนั้นน้อยกว่า SET Index ส่วนกองทุนที่สร้างตอบแทนได้ดีตามอีกกลุ่มเห็นจะเป็น กลุ่มกองทุนทองคำและน้ำมัน ที่สามารถทำผลตอบแทนเฉลี่ยบวกอยู่ที่ 8.85% และ 7.44% ตามลำดับ

ครึ่งปีแรกนี้กองทุนตราสารหนี้ที่ลงทุนในต่างประเทศดูจะทำผลตอบแทนได้ดีกว่ากองทุนตราสารหนี้ที่ลงทุนในประเทศโดยเฉพาะกลุ่ม Emerging Market Bond ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 5.98% และ กลุ่ม Global Bond ที่ 3.6%ขณะที่ ตราสารหนี้ที่ลงทุนในประเทศ ทั้งระยะสั้นและยาวทำได้เฉลี่ยที่ 1-2%

กลุ่มสุดท้ายที่นักลงทุนในหุ้นให้ความนิยมสูงสุดนั้นก็คือ กลุ่มกองทุนหุ้นที่ลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งต่างทำผลตอบแทนได้น่าผิดหวังเล็กน้อยเนื่องจากตลาดเหล่านั้นโตมาค่อนข้างมากเมื่อปีที่แล้ว โดยทั้ง 3 กลุ่มหลัก โดย กลุ่ม Asia Pacific ex-Japan Equity ทำได้เฉลี่ย 2.89% กลุ่ม Emerging Market Equity ทำได้เฉลี่ย 4.46% และ กลุ่ม Global Equity ทำได้เฉลี่ย 3.14%

และหากจะเจาะลึกลงไปในรายละเอียดก็จะเห็นได้ว่ากลุ่มกองทุนที่ลงทุนใน หุ้นญี่ปุ่น ดูจะประสบปัญหามากที่สุดโดยทำผลตอบแทนเฉลี่ย -4.25% และที่เน้นลงทุนในหุ้นจีนติดลบเฉลี่ย -3.19% ขณะที่กลุ่มที่เน้นลงทุนใน อเมริกาและยุโรป นั้นให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเท่าๆกันที่ประมาณ 5-5.5% เท่านั้น

ทั้งนี้ผลตอบแทนดังกล่าวเป็นเพียงข้อมูลผลตอบแทนระยะสั้น (6เดือน) ดังนั้นจึงอยากให้ผู้ลงทุนพิจารณาถึงผลตอบแทนในระยะยาวด้วยเช่นกันเนื่องจากการลงทุนในตราสารที่มีความผันผวนสูงอย่างหุ้น นั้นต้องเน้นลงทุนในระยะยาว

*ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2557

**ที่มา: บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) www.morningstarthailand.com

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit