เกษตรกรเลี้ยงหมูฉะเชิงเทราเดือดร้อนหนัก ภัยแล้งยังคุกคามต่อเนื่อง ผลผลิตน้อย และถูกซ้ำเติมด้วยราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น

18 Apr 2016

นายเสน่ห์ นัยเนตร ประธานสหกรณ์ปศุสัตว์และสีตว์น้ำฉะเชิงเทรา เผยว่า ภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นทำให้ผู้เลี้ยงสุกรในกลุ่ม 160 ราย และผู้เลี้ยงหมูในพื้นที่ฉะเชิงเทราได้รับผลกระทบ จากการลดการเลี้ยงลง ประกอบกับยังมีโรคที่เกิดจากการน้ำไม่เพียงพอและอากาศร้อนจัดทำให้มีสุกรออกสู่ตลาดลดลงจากเดิม ขณะเดียวกัน ต้นทุนการเลี้ยงสุกรยังปรับสูงขึ้น จากการที่เกษตรกรต้องซื้อน้ำเพื่อใช้ในการทำความสะอาดและใช้เลี้ยงสุกรใน ฟาร์ม และต้องเผชิญกับราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนสุกรหน้าฟาร์มปรับเพิ่มขึ้น

"ภัยแล้งในปีนี้รุนแรงและกินระยะเวลานานกว่าทุกปีผ่านมา ประกอบกับอากาศที่ร้อนจัดในเดือนเมษายนและพฤษภาคมทำให้ประสิทธิภาพการผลิตไม่เต็มที่ แม่หมูให้ลูกลดลง หมูขุนก็โตช้า บางเขตแล้งจัดต้องหยุดเลี้ยง นอกจากนี้ยังมีโรคที่มากับอากาศร้อนมาอีก ทำให้ผลผลิตหมูออกสู่ตลาดในช่วงนี้จึงลดลง บวกกับต้นทุนการเลี้ยงเพิ่มจากที่ต้องซื้อน้ำจากแหล่งอื่นมาใช้ และราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับตัวสูงขึ้น เกษตรกรเดือดร้อนเพราะต้องแบกต้นทุนที่สูงขึ้นแต่รายได้ลดลงจากผลผลิตที่ลดลง" นายเสน่ห์กล่าว

โดยปกติ ในช่วงฤดูแล้ง แม้ว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูจะเตรียมสำรองน้ำรองรับภัยแล้งอยู่แล้ว แต่ปีนี้ฝนจะทิ้งช่วงนาน ทำให้เกษตรกรต้องแบกต้นทุนในการซื้อน้ำนานขึ้น ถ้าฝนทิ้งช่วงเป็นเวลา 2 เดือนต้นทุนเพิ่มเป็น 70-73 บาทต่อกิโลกรัม จากปีก่อนที่ต้นทุน กก.ละ 65-67 บาท

นายเสน่ห์ ยังกล่าวต่อว่า หากสถานการณ์ภัยแล้งยังไม่คลี่คลายหลังเดือนพฤษภาคมจะกระทบต่อเนื่องในรอบการเลี้ยงเดือนตุลาคม และยังมีความกังวลกับราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น รำข้าว ที่ได้รับผลกระทบภัยแล้งด้วยทำให้ราคารำข้าวขณะนี้อยู่ที่ กก.ละ 9.80 บาท เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ที่ 7.80 บาท

"วิกฤติภัยแล้งปีนี้ เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูต้องเผชิญกับปัญหาหลายด้าน ทั้งเรื่องขาดน้ำ ยังมาเจอราคาวัตถุดิบปรับตัวขึ้นอีก เกษตรกรมีรายได้ลดลงจากผลผลิตที่ลดลง นอกจากนี้หมูที่ออกสู่ตลาดน้อยอาจจะส่งผลต่อด้านราคาหมู" นายเสหน่ห์กล่าว

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit