ระหว่างการหารือ Mr.Murray Green ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อ จากประเทศออสเตรเลีย ตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรการรายงานข่าวในท้องถิ่นจึงจะเป็นไปอย่างถูกต้อง และรักษาคุณค่าของข่าวที่รายงานไว้ได้ ด้าน อ.ภัทรา บุรารักษ์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยพะเยา และในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งพะเยาทีวีชุมชน ระบุว่าที่ผ่านมาเป็นกระบวนการที่หน่วยงานวิชาการเช่นมหาวิทยาลัยเป็นผู้สนับสนุนและร่วมกำหนดเกณฑ์กับบุคลากรในทีวีชุมชนในการดำเนินการ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญแสดงความเห็นว่าความเที่ยงตรงของข้อเท็จจริงและความสมดุลของข่าวและสารคดีขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของการกำกับของภาคส่วนนั้นๆ เอง ที่ผ่านมา กสทช.ของออสเตรเลียจะพยายามไม่เข้ามาแทรกแซงแต่จะให้การสนับสนุนในเรื่องการจัดทำไกด์ไลน์หรือแนวปฏิบัติที่เหมาะสม
ทั้งนี้การหารือดังกล่าวเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง กสทช.กับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ภายใต้โครงการศึกษาแนวทางการประกอบกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลประเภทบริการชุมชน การดำเนินการในครั้งนี้จึงเป็นการเริ่มต้นที่จะศึกษาและกำหนดแนวทางการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ในคลื่นความถี่สำหรับการประกอบกิจการทีวีชุมชนของภาคประชาชนตามเจตนารมณ์ของกฎหมายเป็นครั้งแรก
สมศักดิ์ สิริพัฒนากุล ผู้อำนวยการสำนักกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล กสทช. เล่าถึงที่มาว่าภายหลังที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่าคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของสาธารณะตั้งแต่ปี 2540 ประกอบกับกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ที่บังคับใช้ ได้ให้หลักประกันการเข้าถึงคลื่นความถี่กับประชาชนไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบ เมื่อมีการจัดตั้ง กสทช.ในปลายปี 2554 จึงได้เริ่มต้นนโยบายเปลี่ยนผ่านไปสู่ทีวีดิจิตอล และกำหนดให้มีช่องระดับชาติ 36 ช่อง โดยแบ่งเป็นประเภทบริการสาธารณะ 12 ช่อง และช่องประเภทธุรกิจ 24 ช่อง รวมถึงช่องประเภทบริการชุมชน 12 ช่อง ในระดับท้องถิ่นหรือในแต่ละเขตบริการซึ่งถูกแบ่งออกเป็น 39 เขตบริการทั่วประเทศ ความร่วมมือกับองค์กรชำนัญการระหว่างประเทศอย่างไอที
ด้าน วิสิฐ อติพญากุล ผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคมและไอซีที สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ กล่าวถึงโครงการว่า ผลลัพธ์ของโครงการความร่วมมือกับ กสทช.นี้ เราคาดหวังจะเห็นแนวทางการประกอบกิจการโทรทัศน์ประเภทบริการชุมชน แนวทางการให้อนุญาต ตลอดจนการส่งเสริมและกำกับดูแล เราจึงต้องมองภาพใหญ่เพื่อกำหนดในเชิงนโยบายภาพรวม ซึ่งนับเป็นข้อท้าทายกับประชาชนที่ประสงค์จะประกอบกิจการในลักษณะนี้ และนอกจากการศึกษาแนวทางในครั้งนี้แล้ว ในลำดับต่อไปคือการนำร่องหรือทดลองออกอากาศทีวีชุมชนด้วยคลื่นความถี่จริงๆ ในบางพื้นที่ซึ่งในทางปฏิบัติอาจมีมากกว่าหนึ่งโมเดลปรากฎขึ้นก็เป็นได้
ส่วน ชัยวัฒน์ จันธิมา ผู้ประสานงานสถาบันปวงผญาพยาว และผู้ร่วมก่อตั้งพะเยาทีวีชุมชน มองว่าในฐานะองค์กรในระดับชุมชนที่ติดตามนโยบายเกี่ยวกับคลื่นความถี่ของภาคประชาชนและแสวงหาความร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่นอื่นเพื่อทดลองดำเนินการทีวีชุมชนในจังหวัดพะเยามากว่าสองปีแล้ว มองว่าแต่เดิมทีวีทุกช่องต่างเป็นของรัฐแต่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ทีวีดิจิตอลในขณะนี้กำลังนำไปสู่สิทธิของชุมชนที่จะได้ใช้คลื่นความถี่เพื่อทำ"ทีวีชุมชน"ได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่แน่นอนว่ามีข้อท้าทายมากว่าชุมชนจะจินตนาการว่าทีวีชุมชนควรจะเป็นไปในลักษณะใด ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าต้องต่างไปจากทีวีระดับชาติที่มีอยู่ และต้องสนองตอบความต้องการและประโยชน์ของคนในชุมชนนั้นๆ
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า กสทช. ควรต้องเดินหน้าเรื่องนี้ เพราะเป็นไปตามแผนแม่บทฯ และกฎหมายให้จัดสรรคลื่นความถี่สำหรับภาคประชาชนร้อยละ 20 และทำตามโรดแมปทีวีดิจิตอลให้ครบ 48 ช่อง เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงฟรีทีวีภาคพื้นดินในระดับท้องถิ่น แต่ครัวเรือนจะดูได้ต้องมีเครื่องรับในระบบดิจิตอล ดังนั้นบ้านใดที่ยังไม่ใช้คูปองแลกกล่องให้รีบใช้สิทธิ์ก่อนหมดอายุ เพราะทีวีชุมชนดูผ่านทีวีดาวเทียมไม่ได้....
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit