“เหมืองลี้มีรัก” ต้นแบบการจัดการเหมืองแห่งแรกของประเทศไทย สู่แหล่งน้ำช่วยภัยแล้งเพื่อชุมชน

12 Sep 2016

"ตั้งแต่ก่อนลงมือทำงาน เราก็วางแผนและออกแบบกันว่าในทุกกระบวนการดำเนินงานจนวันสุดท้าย เราจะบริหารจัดการพื้นที่นี้อย่างไรให้เกิดประโยชน์กับชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมมากที่สุด" ชนะ ภูมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-ปฏิบัติการ เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง กล่าวด้วยความภาคภูมิใจในพิธีส่งมอบ "โครงการพัฒนาเหมืองต้นแบบ โดยเอสซีจี เพื่อวิถีชุมชน" แห่งแรกในประเทศไทย ที่ อ.ลี้ จ.ลำพูน บนเนื้อที่กว่า 250 ไร่ เพื่อให้ชุมชนใช้เป็นแหล่งน้ำสำหรับทำการเกษตรและบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน พร้อมทั้งยังตั้งเป้าเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต

“เหมืองลี้มีรัก” ต้นแบบการจัดการเหมืองแห่งแรกของประเทศไทย สู่แหล่งน้ำช่วยภัยแล้งเพื่อชุมชน

คุณชนะ เล่าย้อนไปถึงที่มาของแนวคิดในการปิดเหมืองอย่างยั่งยืนที่เกิดขึ้น ณ เหมืองลี้ จ.ลำพูน ในวันนี้ ว่าเป็นการดำเนินงานภายใต้อุดมการณ์ 4 ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติของทุกธุรกิจในเครือเอสซีจี ได้แก่ ตั้งมั่นในความเป็นธรรม มุ่งมั่นในความเป็นเลิศ เชื่อมั่นในคุณค่าของคน และถือมั่นในความรับผิดชอบ ต่อสังคม โดยเริ่มต้นจากกลุ่มวิศวกรของเอสซีจีที่ลงพื้นที่พูดคุยกับชุมชน ทำให้พบว่าชุมชนมีความต้องการใช้น้ำเพื่อทำการเกษตร เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้งมายาวนาน จึงได้น้อมรับเสียงสะท้อนในด้านต่างๆ เพื่อนำมาพัฒนากระบวนการผลิตจนถึงกระบวนการปิดเหมือง ที่นอกจากจะต้องสอดคล้องกับมาตรฐานอุตสาหกรรมแล้ว ยังต้องเป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมด้วย

"แนวคิดของอุดมการณ์ 4 เหล่านี้มันฝังอยู่ในตัวพวกเราชาวเอสซีจี จากที่ได้เห็นรุ่นพี่ในองค์กรคิดปฏิบัติและตัดสินใจในเรื่องต่างๆ โดยยึดความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นตัวตั้ง ทุกธุรกิจอุตสาหกรรมที่เราไปดำเนินงาน เราจะเน้นการฟื้นฟู และดูแลพื้นที่ไปพร้อมๆ กันเสมอ เช่นเดียวกับเหมืองลี้แห่งนี้ ที่เราได้วางแผนการฟื้นฟูเหมืองไว้ตั้งแต่ก่อนจะเปิดเหมืองวันแรกในปี พ.ศ.2539 เพื่อให้การฟื้นฟูเกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริง" คุณชนะกล่าว

ปี พ.ศ.2545 เมื่อการผลิตเหมืองถ่านหินแห่งนี้เสร็จสิ้น จึงได้พัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรสำหรับชุมชน และปรับปรุงทัศนียภาพของพื้นที่รอบเหมืองให้มีความงดงาม โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทั้งชุมชน รวมไปถึงภาครัฐอย่างกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ได้ผลักดันนโยบายเหมืองแร่สีเขียวให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อเป็นการพัฒนาทรัพยากรแร่ของชาติให้เกิดสมดุลอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับการดำเนินงานของเอสซีจีในพื้นที่เหมืองลี้แห่งนี้"เป้าหมายของภาครัฐคือ เราต้องการตอบโจทย์ให้ได้ว่าจะทำอย่างไรให้เหมืองและชุมชนอยู่ด้วยกันได้ ชาวบ้านมักจะถามว่ามีเหมืองมาแล้วพวกเขาจะได้อะไร เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือผู้ประกอบการธุรกิจจะต้องได้รับการยอมรับจากชุมชน" ชาติ หงส์เทียมจันทร์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานการเหมืองแร่กล่าว

เริ่มต้นจากการดำเนินธุรกิจเหมืองแร่ตามหลักมาตรฐานความปลอดภัยของชุมชนและสิ่งแวดล้อม และเมื่อถึงวันสุดท้ายของการประกอบการ เหมือนแห่งนี้ก็ถูกวางแผนให้ส่งต่อพื้นที่ที่มีคุณภาพกลับคืนสู่ชุมชน

"แต่จะต้องเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย เป็นที่ที่ชุมชนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ นี่คือเป้าหมายที่ภาครัฐวางไว้ ซึ่งก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้ วันนี้เราดีใจที่เอสซีจีทำได้สำเร็จ สามารถเป็นโครงการต้นแบบสำหรับกิจการเหมืองแร่อื่นๆ ทั่วประเทศได้เป็นอย่างดี" อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานการเหมืองแร่กล่าว ในฝั่งของชุมชน ความต้องการแหล่งน้ำสำหรับทำการเกษตรเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ปัญหาภัยแล้งถือเป็นปัญหาที่น่าวิตกกังวลมากที่สุด

"พวกเราคิดกันว่าอยากได้แหล่งน้ำดิบ อย่างน้อยในพื้นที่บริเวณนี้ก็จะช่วยครอบครัวเกษตรกรได้มากกว่า 37 ครัวเรือน หรือกว่าร้อยคน และในอนาคตก็อาจจะพัฒนาต่อไปเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำได้ด้วย" นิรันดร์ ด่านไพบูลย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูนกล่าว

เมื่อรับรู้ถึงความต้องการของคนในพื้นที่แล้ว โครงการพัฒนาเหมืองต้นแบบ โดยเอสซีจี เพื่อวิถีชุมชน ก็เริ่มเคลื่อนตัวสู่กระบวนการถัดมา คือการประสานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและนักวิชาการ เพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพน้ำ ดำเนินการปรับเสถียรภาพบ่อให้เหมาะกับการกักเก็บน้ำ ควบคู่กับการดูแลคุณภาพน้ำกว่า 3 ล้านลูกบาศก์เมตรให้เหมาะสมกับการใช้ทำการเกษตร รวมทั้งยังมีการปลูกต้นไม้ และดูแลงานภูมิสถาปัตย์ให้พื้นที่โดยรอบ โดยออกแบบพื้นที่ให้เป็นจุดชมวิวและเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจที่มองเห็นบ่อน้ำขนาดใหญ่ล้อมรอบด้วยทุ่งนากว่า 100 ไร่ จากความทุ่มเท และความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน เพื่อที่จะขับเคลื่อนโครงการ "เหมืองลี้มีรัก" ให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนสู่ชุมชน

"โจทย์ต่อไปคือการสร้างความร่วมมือในชุมชน ให้ช่วยกันดูแลแหล่งน้ำที่แห่งนี้ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ตลอดไป ผมต้องขอบคุณเอสซีจีที่ริเริ่มและลงมือทำอย่างจริงจัง ทำให้เราได้เห็นตัวอย่างว่า การจัดการธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน มีแนวทางอย่างไร และเรายังคาดหวังว่าการทำธุรกิจเหมืองแร่ที่เคยเป็นภาพลบในสายตาทุกคนจะหมดไป ด้วยการดึงชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานจนกระทั่งส่งมอบสู่ชุมชนซึ่งจะเป็นบทสรุปที่ดีที่สุดของการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน บนแนวทางการสร้าง Green Mining หรือเครือข่ายเหมืองแร่สีเขียวให้เกิดขึ้น" อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานการเหมืองแร่กล่าว

ปัจจุบัน "โครงการพัฒนาเหมืองต้นแบบ โดยเอสซีจี เพื่อวิถีชุมชน" มีพื้นที่กักเก็บน้ำในเหมืองขนาด 70 ไร่ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการเกษตรให้กับชุมชนทั้งสิ้น37 ครัวเรือน บนพื้นที่การเกษตร 104 ไร่ "เหมืองลี้มีรัก" จึงเป็นเสมือนตัวแทนของพลังแห่งความร่วมมือร่วมใจ ระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐ และชุมชน และถือเป็นต้นแบบในการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม ด้วยการคิดเชิงบูรณาการที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นรูปธรรม

HTML::image( HTML::image( HTML::image(
ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit