เชิดชูเกียรติ 10 ปูชนียบุคคล”ครูศิลป์ ช่างรัก” โครงการครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2558 ในงาน “นวัตศิลป์ไทย เทิดไท้องค์ราชินี”

19 Aug 2015

นางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. เปิดเผยว่า ในปีนี้ทางศศป.ได้จัดโครงการเชิดชูครูศิลป์ของแผ่นดิน ประจำปี 2558 เพื่อทำการยกย่องเชิดชูเกียรติงานสาขาเครื่องรักขึ้น เพื่อร่วมอนุรักษ์สืบสานและเก็บรวบรวมองค์ความรู้เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เล็งเห็นและตระหนักถึงคุณค่าของงานช่างแขนงนี้ให้อยู่คู่สังคมไทยสืบไปตราบนานเท่านาน โดยคณะทำงานได้จัดทำรายชื่อพร้อมประวัติและผลงานของครูช่างศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านในประเภทสาขา “เครื่องรัก” ซึ่งในปีนี้ต้องการสะท้อนถึงความเป็นไทย จึงได้เชิญครูช่างรัก ของไทยมาร่วมสร้างสรรผลงานร่วมกับช่างรักจากประเทศเพื่อนบ้านในแถบอาเซียน อาทิ บรูไน เวียตนาม เมียนมา เป็นต้น และเป็นการแสดงให้เห็นเอกลักษณ์ และการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมของไทยให้ยั่งยืนต่อไปทั้งนี้ ได้มีการนำเสนอให้กับคณะกรรมการคัดสรรรอบแรกจำนวนทั้งสิ้น 31 รายชื่อ และทำการคัดสรรเพื่อเก็บข้อมูลเชิงลึกเพื่อคัดเลือกในรอบสุดท้าย จนได้ครูศิลป์ของแผ่นดินจำนวน 10 ท่าน ดังนี้ ได้แก่ 1.นายมานพ วงศ์น้อย 2.นายม้วน รัตนาภรณ์ 3.นางสาวปัญชลี เดชคง 4.นางดวงกมล ใจคำปัน 5.นายเสถียร ณ วงศ์รักษ์ 6. นางบุญศรี เกิดทรง 7. ม.ล.พงษ์สวัสดิ์ สุขสวัสดิ์ 8. นางศศิธร มงคลเรืองฤทธิ์ 9. นางประเทือง สมศักดิ์ และ10. นายญาณ สองเมืองแก่น โดยประวัติและผลงานของครูศิลป์ของแผ่นดินในสาขาเครื่องรักทั้ง 10 ท่านนี้ ได้ถูกนำเสนอในรูปแบบของหนังสือและวิดิทัศน์เพื่อเพื่อเผยแพร่การทำงานและยกย่องเกียรติคุณในการทำงานอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรม พร้อมกับมีการจัดนิทรรศการเทิดทูนครู และเข้ารับโล่เชิดชูเกียรติเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2558 ณ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศที่ผ่านมาภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรม เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมและประเพณีของชาติ การสืบสาน ถ่ายทอดความรู้ความชำนาญ เทคนิค และกระบวนการสร้างสรรค์งานหัตถกรรมต่างๆ จำเป็นต้องมีปัจจัยสำคัญที่ช่วยถ่ายทอดความรู้เหล่านั้น ครูช่างนับได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่ช่วยสืบสาน ถ่ายทอดองค์ความรู้ ภูมิปัญญา ความชำนาญทางฝีมือจากรุ่นสู่รุ่น การยกย่องเชิดชูเกียรติผู้สืบทอดองค์ความรู้เหล่านี้ให้เป็น “ครูศิลป์ของแผ่นดิน” จึงเป็นเสมือนการรววบรวมชีวประวัติ ผลงานและเกียรติคุณช่างที่มีความชำนาญในงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของไทย ในสาขาต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่องค์ความรู้ ภูมิปัญญาและความภาคภูมิใจของครูช่างให้กับผู้สนใจในงานศิลปหัตถกรรม เยาวชน และสาธารณชนได้รู้จักอย่างกว้างขวางและเพื่อรักษาข้อมูลครูช่างไว้เป็นมรดกของชาติและถ่ายทอดให้แก่คนรุ่นหลังสืบต่อไป

งานเครื่องรัก เป็นงานช่างฝีมือดั้งเดิมประเภทหนึ่งของไทยซึ่งต้องอาศัย “ยางรัก” เป็นวัตถุดิบปัจจัยสำคัญสำหรับประกอบการสร้างสรรค์งานแต่ละประเภท ด้วยการตกแต่งในรูปลักษณ์และองค์ประกอบของงานแต่ละชนิดเป็นไปในลักษณะประณีตศิลป์ มัณฑนศิลป์และวิจิตรศิลป์ งานเครื่องรักดังกล่าวได้แก่ งานปิดทองทึบ งานปิดทองล่องชาด งานปิดทองล่องกระจกงานปิดทองลายฉลุ งานปิดทองลารดน้ำ งานปิดทองเขียนสีลายกำมะลอ งานเครื่องเขิน งานประดับกระจก และงานประดับมุกแกมเบื้อ เป็นต้น ผลงานช่างดังกล่าวเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงเอกลักษณ์ประจำชาติที่สร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยความประณีตบรรจงภายใต้ขนบธรรมเนียมและประเพณีอันแฝงไว้ด้วยแนวคิดและบ่งบอกถึง ภูมิปัญญาของคนไทยที่ได้รับการสั่งสมและสืบทอดกันลงมานานนับหลายร้อยปี กล่าวได้ว่างานเครื่องรักของไทย ถือเป็นงานช่างฝีมือดั้งเดิมที่มีแบบแผน ขนบ จารีตซึ่งเป็นการแสดงออกของงานศิลปกรรมของชาติไทยอย่างดียิ่ง ประกอบกับยุคสังคมไทยในปัจจุบันเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย งานช่างฝีมือดั้งเดิมหลายแขนงเริ่มสูญหายไปขาดคนสืบทอด นายช่างผู้มีความรู้ความชำนาญมีอายุมากขึ้น การสืบทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาลดน้อยลง จึงเป็นที่น่าเสียดายหากงานช่างแขนงนี้จะต้องเสี่ยงต่อการสูญหาย ดังนั้นโครงการเชิดชูครูศิลป์ของแผ่นดิน ประจำปี2558 จึงได้ทำการยกย่องเชิดชูเกียรติงานสาขา “เครื่องรัก” ขึ้น เพื่อร่วมอนุรักษ์ สืบสาน และเก็บรวบรวมองค์ความรู้เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เล็งเห็นและตระหนักถึงคุณค่าของงานช่างแขนงนี้ให้อยู่คู่สังคมไทยสืบไปตราบนานเท่านานทั้งนี้คุณสมบัติเบื้องต้น ของครูศิลป์ของแผ่นดิน ประกอบไปด้วย ข้อกำหนด 5 ข้อ ด้วยกัน ได้แก่ 1.เป็นผู้มีอายุไม่น้อยกว่า 50 ปี สัญชาติไทย และยังมีชีวิตอยู่ 2. เป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องและได้รับการยอมรับว่ามีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญและมีผลงานที่โดดเด่นในงานประเภทนั้น ๆ 3. เป็นผู้สืบทอด สร้างสรรค์และพัฒนางานในประเภทงานนั้นมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน 4. เป็นผู้อบรม สั่งสอน ถ่ายทอดความรู้ในประเภทงานนั้นๆ ให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจ และ 5. เป็นผู้ที่ไม่กระทำ และมีความประพฤติอันเสื่อมเสียในสังคม ชุมชน และวงการงานศิลปหัตถกรรม

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit