โรงงานน้ำตาลตะวันออกทยอยเปิดหีบแล้ว สศข.6 แนะเกษตรกรตัดอ้อยสดคงความหวาน

15 Dec 2014

นายพลเชษฐ์ ตราโช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 6 (สศข.6) ชลบุรี สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึง สถานการณ์การผลิตอ้อยโรงงานภาคตะวันออก ปีการผลิต 2557/58 ว่า มีพื้นที่ปลูกอ้อยในภาคตะวันออกจะมีพื้นที่ปลูก 372,924 ไร่ ผลผลิต 4,039,785 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 10,833 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งปลูกมากในพื้นที่ 6 จังหวัด คือ จังหวัดสระแก้ว มีพื้นที่ปลูก 200,241 ไร่ (ร้อยละ 54) รองลงมา คือ จังหวัดชลบุรี มีพื้นที่ปลูก 100,974 ไร่ (ร้อยละ 27) จังหวัดฉะเชิงเทรา มีพื้นที่ปลูก 39,204 ไร่ (ร้อยละ 11) จังหวัดจันทบุรี มีพื้นที่ปลูก 14,518 ไร่ (ร้อยละ 4) จังหวัดปราจีนบุรี มีพื้นที่ปลูก 11,874 ไร่ (ร้อยละ 3) และจังหวัดระยอง 6,113 ไร่ มีพื้นที่ปลูก (ร้อยละ 2) ของพื้นที่ปลูกในภาคตะวันออก ตามลำดับ

ในการนี้ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) มีมติประกาศเปิดการหีบอ้อยฤดูกาลผลิต 2557/58 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2557 เป็นต้นไป และกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นของปีการผลิต 2557/58 เท่ากับฤดูกาลก่อนหน้าที่ 900 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความหวาน 10 ซี.ซี.เอส และราคาขึ้นลง 54 บาทต่อ ซี.ซี.เอส และได้จัดสรรปริมาณอ้อยให้แก่โรงงานในฤดูการผลิต ปี 2557/58 (6 ตุลาคม 2557) ซึ่งโรงงานน้ำตาลในภาคตะวันออก ได้รับจัดสรรปริมาณอ้อยเข้าหีบรวมทั้งสิ้น 4,520,000 ตัน โดยมีโรงงานน้ำตาลเปิดหีบรวม 4 โรง ดังนี้ คือ บริษัท น้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด จังหวัดสระแก้ว ได้รับจัดสรร 2,628,000 ตัน บริษัทน้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี จังหวัดชลบุรี ได้รับจัดสรร 466,000 ตัน บริษัท น้ำตาลระยอง จำกัด จังหวัดชลบุรี ได้รับจัดสรร 660,000 ตัน และบริษัทสหการน้ำตาลชลบุรี จำกัด จังหวัดชลบุรี ได้รับจัดสรร 766,000 ตัน

สำหรับโรงงานในภาคตะวันออกมีความพร้อมและเปิดหีบอ้อย ณ วันที่ 1 ธันวาคม 2557 คือบริษัท น้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด จังหวัดสระแก้ว ส่วนบริษัทน้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี จังหวัดชลบุรี จะเปิดหีบวันที่ 8 ธันวาคม 2557 บริษัท น้ำตาลระยอง จำกัด จังหวัดชลบุรี จะเปิดหีบวันที่ 9 ธันวาคม 2557 และบริษัทสหการน้ำตาลชลบุรี จำกัด จังหวัดชลบุรี จะเปิดรับอ้อยจากเกษตรกรในวันที่ 15 ธันวาคม 2557 และจะเปิดเดินเครื่องจักรเมื่อปริมาณอ้อยเพียงพอ

นายพลเชษฐ์ ทิ้งท้ายว่า ทั้งนี้ ควรเร่งรณรงค์ให้เกษตรกรตัดอ้อยสดส่งโรงงานมากขึ้นซึ่งจะส่งผลดีต่อเกษตรกรชาวไร่จะทำให้ความหวานและปริมาณน้ำตาลต่อตันอ้อยเพิ่มขึ้น และราคาที่เกษตรกรได้รับเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยขณะนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เร่งดำเนินการกำหนดเขตพื้นที่เหมาะสมสำหรับการปลูกอ้อย (Zoning) รวมทั้งการลดพื้นที่ทำนาที่ไม่เหมาะสมแต่มีความเหมาะสมต่อการปลูกอ้อย ให้สอดคล้องกับความต้องการของโรงงาน ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งเกษตรกรและโรงงานน้ำตาลด้วยกัน

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit