สพฉ. จับมือกรมแพทย์ทหารบก เตรียมอบรมบุคลากรรับมือภัยพิบัติ เน้นการทำงานเชิงรุกและรวดเร็ว ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ พร้อมรับการเกิดเหตุเต็มที่

19 Jul 2013

สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และ โรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน โรงพยาบาลค่ายอานันทมหิดล สังกัดกรมแพทย์ทหารบก กองทัพบก จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือด้านวิชาการและการสนับสนุนอุปกรณ์ชุดปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินเคลื่อนที่เร็วตอบโต้ภัยพิบัติ (Disaster Medical Emergency Response Team : DMERT) เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ปัจจุบันความรุนแรงของสาธารณภัยทั้งภัยธรรมชาติและภัยที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น มีระดับความรุนแรงมากขึ้น รวมถึงมีความถี่ในการเกิดเหตุที่สูงขึ้นด้วย ส่งผลให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน อาทิ เหตุการณ์ก่อการร้าย เหตุการณ์สึนามิ เหตุการณ์แผ่นดินไหว วาตภัย อุทกภัย ดังนั้นจึงจำเป็นที่เราจะต้องเรียนรู้ถึงการเตรียมตัวรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือยังขาดความรู้และทักษะในการเตรียมพร้อมและรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น และระบบการช่วยเหลือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีข้อจำกัด เช่น ไม่มีแผนเตรียมการรับมือกับวิกฤตที่มีประสิทธิภาพ ขาดการจัดการและแก้ไขเป็นระบบอย่างทันท่วงที หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรุนแรงกว่าที่คาดไว้ ระบบที่วางไว้ขัดข้อง หรือไม่มีความยืดหยุ่นในการทำงาน ดังนั้นเพื่อให้การปฏิบัติการมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อผู้ประสบภัยพิบัติและผู้ป่วยฉุกเฉินมากขึ้น สพฉ. จึงคัดเลือกให้โรงพยาบาลในสังกัดกรมแพทย์ทหารบก เข้ารับการอบรมชุดปฏิบัติการฉุกเฉินการการแพทย์ฉุกเฉินเคลื่อนที่เร็วตอบโต้ภัยพิบัติ

ทั้งนี้ในการพัฒนาดังกล่าว สพฉ.จะสนับสนุนในการจัดหาอุปกรณ์ของปฏิบัติการฉุกเฉินการการแพทย์ฉุกเฉินเคลื่อนที่เร็วตอบโต้ภัยพิบัติ พร้อมทั้งสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดฝึกอบรมและพัฒนาความรู้กับบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินของโรงพยาบาลเพื่อให้การช่วยเหลือมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับชุดปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินเคลื่อนที่เร็วตอบโต้ภัยพิบัติได้ถูกออกแบบขึ้นเพื่อรองรับการจัดการภัยพิบัติให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และทันต่อเหตุการณ์ โดยในทีมDMERT 1 ชุด จะประกอบด้วยแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน แพทย์ที่รับผิดชอบงานด้านสาธารณภัย หรือแพทย์ทั่วไป จำนวน 2 คน พยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินหรือสาธารณภัย จำนวน 4 คน เจ้าพนักงานฉุกเฉินการแพทย์ (EMT-I) เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน หรือผู้ช่วยพยาบาล 2 คน และ พนักงานฉุกเฉินการแพทย์ (EMT-B) หรืออาสาสมัครฉุกเฉินการแพทย์ (FR) 3 คน รวมชุดละ 11 คน ซึ่งทั้งหมดจะต้องผ่านการอบรมทั้งในส่วนของภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเพื่อให้รู้จักการประสานงาน การจัดการกับระบบการสื่อสาร การวางแผนในการช่วยเหลือเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ รวมทั้งการเคลื่อนย้ายในแนวดิ่งจากอาคารสูง โดยเฉพาะในเหตุการณ์ที่มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก หรือมีสถานการณ์ภัยพิบัติแทรกซ้อนอยู่ตลอดเวลา และเมื่อเกิดภัยพิบัติ ทีม DMERT จะต้องสามารถจัดทีมและออกช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที สามารถดำรงชีวิตและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ภัยพิบัติ ซึ่งจะมีอุปกรณ์ที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน เช่น เต้นท์สนาม เครื่องปั่นไฟ ถังน้ำ เครื่องมือทางการแพทย์ เตียงพยาบาล เครื่องมือสื่อสาร ฯลฯ ไปพร้อมกับทีม เสมือนตั้งเป็นโรงพยาบาลสนามย่อยๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย

ด้าน พลโทภานุวิชญ์ พุ่มหิรัญ เจ้ากรมแพทย์ทหารบก กล่าวว่า กองทัพบกตระหนักดีว่า ภารกิจในการช่วยเหลือประชาชนยามประสบปัญหาภัยพิบัตินั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นการพัฒนาการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินที่ประสบภัยพิบัติให้ก้าวหน้าไปอีกระดับ ทั้งในด้านวิชาการที่จะพัฒนาทักษะการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีข้อจำกัดและมีความยากลำบากในการช่วยเหลือ รวมถึงด้านกำลังคน อุปกรณ์ ที่จะมีการสนับสนุนเพิ่มมากขึ้นด้วย ทั้งนี้ในส่วนของกรมแพทย์ทหารบก และโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการจะสนับสนุนด้านเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ที่จำเป็นให้มีพร้อมใช้เมื่อต้องออกปฏิบัติการและจะจัดสรรสำรองอุปกรณ์ยาเวชภัณฑ์ให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ รวมถึงการเตรียมรถยนต์และเชื้อเพลิงให้พร้อมสำหรับการลำเลียงและการออกปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉิน และสนับสนุนการทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์มากที่สุด

-นท-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit