เขตสุขภาพที่ 6 จับมือ คณะแพทย์ จุฬาฯ เร่งพัฒนาศักยภาพ “คลินิกหมอครอบครัว” ดูแล “อาชีวศาสตร์” กลุ่มแรงงานไทย-ต่างด้าว

16 Nov 2018

โรงพยาบาลชลบุรี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลบ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพแห่งชาติ (ศสช.) จัดงาน "เชื่อมสถาบัน สานเครือข่าย DHS Academy สู่ศตวรรษที่ 21 ภาคตะวันออก" ใน โครงการพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพในศตวรรษที่ 21 โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) องค์การอนามัยโลก (WHO) และ มูลนิธิไชน่าเมดิคัลบอร์ดประจำประเทศไทย (CMB) ให้การสนับสนุน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสถาบันการศึกษากับโรงพยาบาลชุมชน ในการพัฒนาศักยภาพรวมถึงสมรรถนะกลุ่มหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิ เน้นคลินิกหมอครอบครัว ด้วยหลักเรียนร่วมสหวิชาชีพ (Interprofessional Education-IPE) และการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) ที่จะมาช่วยดูแลเรื่องอาชีวเวชศาสตร์ในกลุ่มแรงงานไทยและต่างชาติในพื้นที่อุตสาหกรรม โดย นพ.โสภณ เมฆธน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เกียรติร่วมบรรยายพิเศษ "กำลังคนที่ตอบสนองต่อกลุ่มหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิ" และ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา อดีตผู้ตรวจฯ สธ. เขตสุขภาพที่ 6 เป็นประธานเปิดงาน ร่วมด้วย นพ.ชุติเดช ตาบ-องครักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลบุรี ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ดร.ลีวีอู เวดราสโก Technical Officer World Health Organization (WHO) และ ศ.พญ.วณิชา ชื่นกองแก้ว เลขาธิการ ศสช. ณ ห้องประชุมเฉลิมราชสมบัติ ชั้น 9 อาคารเฉลิมราชสมบัติ โรงพยาบาลชลบุรี จ.ชลบุรี โดยมีบุคลากรสาธารณสุขให้ความสนใจเข้าร่วมกว่า 200 คน เมื่อเร็ว ๆ นี้

เขตสุขภาพที่ 6 จับมือ คณะแพทย์ จุฬาฯ เร่งพัฒนาศักยภาพ “คลินิกหมอครอบครัว” ดูแล “อาชีวศาสตร์” กลุ่มแรงงานไทย-ต่างด้าว

นพ.โสภณ เมฆธน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ที่ปรึกษา รมว.สธ.) กล่าวว่า สธ.มีนโยบายปฏิรูประบบบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ โดยมุ่งหวังให้ประชาชนสามารถจัดการตนเองด้านสุขภาพ ผ่านทีมหมอครอบครัว ซึ่งจะมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเป็นหัวหน้าทีม คอยให้คำปรึกษาและร่วมดูแลประชาชน ถือเป็นการส่งแพทย์ลงสู่พื้นที่ตำบล หวังให้ประชาชนมีแพทย์เป็นญาติ ตั้งเป้าในอีก 10 ปี ข้างหน้า คนไทยทุกคนจะมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวประจำตัวใน 4 ด้าน ได้แก่ จัดระบบบริการคลินิกหมอครอบครัว (Primary Care Cluster) ประกอบด้วย แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว 1 คน พยาบาลวิชาชีพ 4 คน นักวิชาการหรือเจ้าพนักงานสาธารณสุข 4 คน ทันตาภิบาล 1 คน แพทย์แผนไทย 1 คน เจ้าพนักงานเภสัชกรรม 1 คน โดยหมอครอบครัว 1 ทีม ดูแลประชาชนในอัตราส่วน 1: 10,000 คน 2.กระบวนการเวชศาสตร์ครอบครัวมุ่งเน้นเอาผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ไม่ได้มุ่งที่โรคหรือการรักษาโรคเพียงอย่างเดียว แต่ต้องสามารถช่วยแก้ไขปัญหาให้ผู้ป่วยได้ในแบบองค์รวม ทั้งตัวผู้ป่วย ครอบครัว และสังคมรอบตัว 3.เชื่อมโยงกับระบบสุขภาพอำเภอและคณะกรรมการสุขภาพอำเภอ เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพ และ 4.เชื่อมโยงระบบบริการด้วยระบบส่งต่อแบบไร้รอยต่อในเขตบริการสุขภาพ

"หลักการของเวชศาสตร์ครอบครัว ทุกสหสาขาวิชาชีพด้านสาธารณสุขในทีมหมอครอบครัว ต้องรู้ลึกในสาขาวิชาชีพของตนเองเพื่อที่จะสามารถรักษาโรค รู้กว้างในด้านเวชศาสตร์ครอบครัวรวมถึงบริบทของชุมชน เพื่อดูแลประชาชนในองค์รวมครบรอบด้าน ยังต้องมีทักษะในการทำงานเป็นทีมในพื้นที่ชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของการดูแลประชาชนในพื้นที่เขตอุตสาหกรรม" ที่ปรึกษา รมว.สธ. ระบุ

ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ อดีตผู้ตรวจฯ สธ. เขตสุขภาพที่ 6 กล่าวว่า สำหรับเวชศาสตร์ครอบครัวของเขตพื้นที่สุขภาพเขต 6 ซึ่งเป็นพื้นที่พิเศษเนื่องจากเป็นเขตอุตสาหกรรม จำเป็นต้องมีระบบการดูแลด้านสาธารณสุขที่ครบวงจรแก่ประชาชนที่อยู่ในวัยทำงาน หรือ "อาชีวเวชศาสตร์" ทั้งการป้องกันการเกิดโรคที่เน้นเป็นพิเศษ การดูแลสุขอนามัย และการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งทั้งหมดเป็นการทำงานร่วมกับชุมชน

"การผลักดันเรื่องเวชศาสตร์ครอบครัวที่เสริมด้วยอาชีวเวชศาสตร์ เป็นนโยบายที่ทางรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขได้ให้เขตสุขภาพที่ 6 ทำงานร่วมกับคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่การพัฒนาระบบให้บริการในพื้นที่ ไปจนถึงด้านการพัฒนาการเรียนการสอนของทางคณะแพทยศาสตร์ ที่จะเน้น Community Based Learning สำหรับนิสิตแพทย์ ที่ต่อไปจะยึดการเรียนรู้จากพื้นที่จริงในชุมชนเป็นหลัก ซึ่งตอนนี้หลักสูตรเสร็จแล้วและอยู่ในระหว่างการนำมาใช้ โดยหวังผลให้ประชาชนในพื้นที่เข้าถึงการบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาสุขภาพได้มากทั้งในส่วนของประชาชนเองและงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล อย่างเขตสุขภาพที่ 6 ก็มีโรงพยาบาลบ้านโพธิ์ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำลเทพราช ใน จ.ฉะเชิงเทรา เป็นต้นแบบในเรื่องดังกล่าว" นพ.ธเรศ ชี้แจงเพิ่มเติม

ขณะที่ ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เป็นพี่เลี้ยงช่วยในการผลิตบัณฑิตแพทย์ในเขตสุขภาพที่ 6 มานานแล้ว แต่สิ่งที่กำลังทำอยู่คือการปรับหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตของทางจุฬาฯ เพื่อให้นิสิตเข้ากับชุมชนได้มากขึ้น เชี่ยวชาญการรักษาอาการเจ็บป่วยในเคสทั่วไประดับปฐมภูมิและทุติยภูมิมากขึ้น จากเดิมที่มุ่งพัฒนาการรักษาในระดับตติยภูมิ โดยใช้พื้นที่เขตสุขภาพที่ 6 เป็นหนึ่งในฐานการเรียนรู้

"หลักสูตรใหม่ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ที่เราเปิดในปีการศึกษา 2561 เป็นต้นมา จะเพิ่มระยะเวลาให้นิสิตมีโอกาสได้เลือกเรียนตามความถนัดมากขึ้น จะได้เรียนอย่างมีความสุขเพราะได้ศึกษาในสิ่งที่ตนเองชอบ จะพบว่านิสิตแพทย์ จุฬาฯ จะมีความสามารถในหลายๆ ด้าน หลายคนมีความสนใจในเรื่องการทำวิจัย หรือบางกลุ่มต้องการเรียนเชิงลึก ขณะที่บางคนต้องการเรียนในเรื่องของชุมชน แน่นอนว่านิสิตที่มีความสนใจในการเป็นแพทย์ในชุมชนนั้น จะทำให้เขามีความสนใจในการศึกษาเพิ่มเติม อันนี้จะได้ประโยชน์ทั้งตัวผู้เรียนและตัวชุมชนด้วย แต่ส่วนพื้นฐานของการเป็นแพทย์ หลักสูตรใหม่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง บัณฑิตแพทย์ทุกคนจะมีความรู้เท่าเทียมกัน หากแต่จะมีพหุศักยภาพของตนเองที่จะไปเพิ่มมูลค่าในสิ่งที่ตัวเองต้องการได้" คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว

นพ.ชุติเดช ตาบ-องครักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลบุรี กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี โรงพยาบาลชลบุรีได้รับความช่วยเหลือจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าช่วยเป็นพี่เลี้ยงในกระบวนการเรียนการสอนด้านการแพทย์ รวมถึงคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยลัยมหิดล ที่จะเข้ามาให้ความร่วมมือและช่วยส่งเสริมการเรียนการสอนด้านการแพทย์ในอนาคต นอกจากนี้ โรงพยาบาลชลบุรียังได้ขยายองค์ความรู้พร้อมพัฒนาด้านการแพทย์เพื่อประชาชนในพื้นที่ ร่วมกับโรงพยาบาลพุทธโสธร จ.ฉะเชิงเทรา โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี และโรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี โดยในอนาคตจะขยายให้มีสถาบันทางการแพทย์ครบทุกจังหวัดทั่วภาคตะวันออก และเร่งขับเคลื่อนเรื่องหลักสูตรเวชศาสตร์ชุมชน (District Health System-DHS) ที่เน้นการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) และคลินิกหมอครอบครัว ในการผลิตบุคลากรทางการแพทย์และสุขภาพ

ดร.ลีวีอู เวดราสโก Technical Officer WHO กล่าวตบท้ายว่า องค์การอนามัยโลกทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ต่างมุ่งที่จะสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุมประชาชนในทุกระดับ โดยรากฐานของหลักประกันสุขภาพนี้ คือระบบดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งมีการนำไปใช้งานในทั่วโลก เพราะเป็นสิ่งที่เข้ามาดูแลชุมชนและผู้คน โดยแนวคิดนี้จะช่วยให้การดูแลสุขภาพเข้าไปถึงผู้คนได้มากขึ้น

"เราจะสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวในทุกหนทางที่เป็นไปได้ พร้อมเชื่อมต่อประสบการณ์จากนานาประเทศ อีกทั้งยังจะแบ่งปันประสบการณ์ที่ดีจากประเทศไทยให้กับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงนานาประเทศในอนาคต" ดร.ลีวีอู กล่าว

HTML::image( HTML::image( HTML::image(
ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit