"การบริการการแพทย์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล" ถือเป็นงานบริการที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบสุขภาพของประเทศ โดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า การที่ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้รับการปฏิบัติการทางการแพทย์ขั้นสูงตั้งแต่เมื่ออยู่นอกโรงพยาบาล ทำให้มีอัตราการรอดชีวิตสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นการบริการการแพทย์ฉุกเฉินจำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการทำหน้าที่บริบาลผู้ป่วยฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล อันเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ป่วยฉุกเฉิน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พุทธศักราช 2551 และเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 ได้มีประกาศ "พระราชกฤษฎีกากำหนดให้สาขาฉุกเฉินการแพทย์เป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2564" โดยให้มีคณะกรรมการวิชาชีพทำหน้าที่ในการขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาฉุกเฉินการแพทย์ ซึ่งผู้ที่มีสิทธิขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ ต้องได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรสาขาอื่นที่เทียบเท่าปริญญาด้านฉุกเฉินการแพทย์"
ด้าน ประเทศไทยได้เริ่มมีการจัดการศึกษาด้านฉุกเฉินการแพทย์ระดับปริญญามาแล้วประมาณ 13 ปี ตราบจนปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้สำเร็จการศึกษาสาขาฉุกเฉินการแพทย์ที่มีความสามารถในระดับนี้จำนวน 674 คน (ข้อมูลเดือนเมษายน พ.ศ. 2565) อัตราการผลิตบัณฑิตฉุกเฉินการแพทย์ เพียงปีละ 180-200 คนเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของประเทศ
คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ โดย โรงเรียนวิทยาศาสตร์การแพทย์ สาขาวิชาฉุกเฉินทางการแพทย์ (ต่อเนื่อง) ได้จัดทำหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฉุกเฉินการแพทย์ เพื่อผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ความชำนาญ และทักษะด้านฉุกเฉินการแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการผดุงชีวิต รวมทั้งป้องกันการเสียชีวิตหรือการรุนแรงขึ้นของการบาดเจ็บหรืออาการป่วย อีกทั้งยังได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือกับองค์กรภาคีเครือข่ายอีก 9 สถาบัน ประกอบด้วย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ สถาบันพระบรมราชชนก และ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เพื่อผลิตบัณฑิตฉุกเฉินการแพทย์ ด้วยการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาตั้งเป้าผลิตจำนวนบัณฑิต 15,000 คน ใน 10 ปี จากปัจจุบันเพียงปีละ 200 คน เพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านบุคลาการทางการแพทย์ให้เพียงพอในอนาคต เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ หลักสี่ ชั้น 2 ห้อง Magic 2 กรุงเทพฯ
อาจารย์ นายแพทย์สุขสันต์ กนกศิลป์ อาจารย์ประจำหลักสูตรฉุกเฉินการแพทย์ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า "เพราะการเจ็บป่วยไม่ได้เกิดเฉพาะโรงพยาบาล ความช่วยเหลือ ณ จุดเกิดเหตุ จึงสำคัญมากเพราะจะทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการรอดชีวิตได้สูงกว่า"
การผลิตบัณฑิตฉุกเฉินการแพทย์ จะมีทักษะความรู้ความสามารถในระดับผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาฉุกเฉินการแพทย์ ซึ่งจะครอบคลุมทั้งด้านคุณธรรม จริยธรรม และเจตคติที่ดี มีความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริง หลักการ ทฤษฎี และแนวปฏิบัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ฉุกเฉิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานฉุกเฉิน ระบบสุขภาพของประเทศไทย ระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทยและนานาชาติ หลักการพื้นฐานด้านระบบคุณภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วย รวมทั้งมาตรฐานการปฏิบัติการฉุกเฉิน รวมถึงจะมีทักษะ ความสามารถปฏิบัติงาน ซึ่งนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ควรทำได้เมื่อได้รับมอบหมาย ประกอบด้วย ทักษะด้านกระบวนการคิด (Cognitive Skills) ทักษะการหยั่งรู้และความคิดสร้างสรรค์ (Logical, Intuitive and Creative Thinking) หรือทักษะการปฏิบัติ/วิธีปฏิบัติที่มีความคล่องแคล่วและความชำนาญในการปฏิบัติตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติได้อย่างดีเยี่ยม รวมทั้งได้พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของหน่วยปฏิบัติการและสถานพยาบาลที่เป็นแหล่งฝึกปฏิบัติการ เรียนรู้วิธีการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ ซึ่งผลิตบัณฑิตได้ตรงต่อความต้องการของผู้ใช้ที่สุด ด้วยการสร้างและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้บัณฑิต สามารถต่อยอดการผลิตนักฉุกเฉินการแพทย์เฉพาะทางได้ และพัฒนาต้นแบบของรูปแบบการศึกษาแนวใหม่ในการผลิตบัณฑิตสายวิชาชีพด้านสุขภาพ ที่เป็นสาขาขาดแคลนของประเทศ
ที่ผ่านมา คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในฐานะหน่วยงานจัดการศึกษาด้านฉุกเฉินการแพทย์ระดับปริญญาในประเทศไทย ได้ร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ มีนโยบายในเรื่องการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา นำมาสู่การบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการผลิตบัณฑิตฉุกเฉินการแพทย์ เพื่อตอบสนองนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ร่วมกันกับภาคีเครือข่าย 10 สถาบัน ผลิตบัณฑิตฉุกเฉินการแพทย์ โดย โครงการดังกล่าวมีระยะเวลาการดำเนินการปีงบประมาณ 2566 - 2575 (เริ่มรับผู้เรียนปีงบประมาณ 2566 - 2570 เริ่มมีผู้จบการศึกษาปี 2568 เป็นต้นไป) จำนวนบัณฑิตที่คาดว่าจะผลิต 15,000 คน ตั้งเป้าผลสัมฤทธิ์ บัณฑิตฉุกเฉินการแพทย์ที่จะสำเร็จการศึกษา ต้องสามารถปฏิบัติงานด้านฉุกเฉินการแพทย์ โดยครอบคลุมความรู้ทักษะ และความสามารถในระดับผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาฉุกเฉินการแพทย์
ด้าน นางสาวพุธิตา อาริสโตเรนัส นักฉุกเฉินการแพทย์ เผยถึงคุณสมบัติและรายละเอียดการเรียนการสอนว่า "หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฉุกเฉินการแพทย์ มุ่งเน้นผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ความชำนาญ และทักษะด้านฉุกเฉินการแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการผดุงชีวิต รวมทั้งป้องกันการเสียชีวิตหรือการรุนแรงขึ้นของการบาดเจ็บหรืออาการป่วย"
ฉะนั้นผู้ที่มีคุณสมบัติเบื้องต้น คือต้องเป็นผู้ที่จบการศึกษาระดับมัธยมปลายหรือเทียบเท่า สามารถเข้าเรียนในหลักสูตรฉุกเฉินการแพทย์ หลักสูตร 4 ปี หรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง หรือ เทียบเท่าในสาขาเวชกิจฉุกเฉิน ปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์หรือสาขาวิชาอื่นที่เกี่ยวข้องและได้รับอนุมัติให้สำเร็จการศึกษาก่อนวันเปิดภาคเรียน รุ่นละ 30 คน สามารถเข้าเรียนต่อในหลักสูตร 2 ปี เมื่อจบการศึกษาจะได้รับปริญญาตรีวิทยาศาสตรบัณฑิต (ฉุกเฉินการแพทย์) นักศึกษาจะได้รับการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์รวมถึงการอัพสกิลผ่านประสบการณ์จริงทั้งด้านความรู้ โดยเน้นความรู้เชิงทฤษฎีและ/หรือข้อเท็จจริงเป็นหลัก เช่น ความรู้ทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานฉุกเฉิน ระบบสุขภาพของประเทศไทย ระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทยและนานาชาติหลักการพื้นฐานด้านระบบคุณภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วย รวมทั้งมาตรฐานการปฏิบัติการฉุกเฉิน
ภายหลังจากจบการศึกษาแล้ว นักศึกษาจะมีความเชี่ยวชาญในการทำงานของนักฉุกเฉินการแพทย์ คือการบริบาลและดูแลรักษาผู้ป่วยนอกสถานพยาบาล และในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล เป็นการกู้ชีพชั้นสูง การทำหัตถการและการบริหารยาฉุกเฉิน การรักษาและส่งต่อไปยังสถานพยาบาลฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ป่วยพ้นจากภาวะวิกฤติ นอกจากนี้ ยังมีบทบาทในการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินไทย เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย โดยกลุ่มปฎิบัติการช่วยเหลือผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่อาสาสมัครกู้ชีพฉุกเฉิน ใช้เวลาอบรมทั้งหมด 40 ชั่วโมง พนักงานฉุกเฉินการแพทย์ ใช้เวลาอบรมทั้งหมด 115 ชั่วโมง เจ้าพนักงานฉุกเฉินการแพทย์ จบการศึกษาระดับมัธยมปลายหรือเทียบเท่า เข้าเรียนในหลักสูตร 2 ปี
สำหรับอาชีพที่สามารถประกอบได้หลังจากนี้ นอกจาก นักฉุกเฉินการแพทย์หรือนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ ยังมี ผู้สอนในองค์กรการศึกษาหรือฝึกอบรม นักวิชาการ นักวิจัยด้วย
ท้ายสุดสำหรับผู้สนใจเข้าศึกษาในหลักสูตร หาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
โรงเรียนวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ หลักสูตรฉุกเฉินการแพทย์ (ต่อเนื่อง) วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เบอร์โทรศัพท์: 02 576 6000 ต่อ 8752 อีเมล : [email protected] Facebook Fanpage> https://www.facebook.com/PARACRA.CON
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit