ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) หรือ สมศ. กล่าวว่า คุณลักษณะของเยาวชน นักเรียนนักศึกษาที่พึงประสงค์ในปัจจุบันสู่การเป็นนักเรียน นักศึกษาคุณภาพนั้นต้องประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 3 ส่วน ได้แก่ "เก่ง ดี งาม" โดย "เก่ง" คือการที่ผู้เรียนจะต้องมีความรู้ความสามารถตามหลักสูตร และตามเกณฑ์มาตรฐานการทดสอบความรู้ความสามารถในระดับชาติ "ดี" คือการที่ผู้เรียนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณค่า มีคุณธรรมจริยธรรม และ "งาม" คือการที่ผู้เรียนมีบุคลิกภาพ กริยามารยาทที่เหมาะสมตามกาลเทศะ มีความอ่อนน้อมถ่อมตนรู้จักการเคารพผู้ที่อาวุโสกว่าโดยแสดงกริยามารยาทดังกล่าว ผ่านมาจากความรู้สึกภายในอย่างแท้จริง
ทั้งนี้การที่เยาวชนจะมีลักษณะอันพึงประสงค์ดังกล่าวต้องพัฒนาจากแนวคิด "คุณภาพศิษย์สะท้อนคุณภาพครู" ซึ่งเป็นแนวคิดหลักในการส่งเสริมมาตรฐานการศึกษาของ สมศ. ตลอดระยะเวลากว่า 15 ปี ของการดำเนินงานของ สมศ. โดย ครูผู้สอนจะต้องมีความรู้ ความสามารถทั้งทางวิชาการและวิชาชีพ สามารถจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนให้มีความรู้ความสามารถได้ตามที่หลักสูตรกำหนด ตลอดจน ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับผู้เรียน เพื่อเป็นหลักในการส่งเสริมให้ศิษย์เป็นคนดีมีคุณธรรมโดยครูผู้สอนจะต้องเป็นบุคคลที่เป็นต้นแบบ เพื่อการสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เรียนในการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและสร้างประโยชน์ให้กับสังคม
ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ กล่าวต่อว่า เกี่ยวกับคุณภาพของเด็กในปัจจุบันว่า ตัวบ่งชี้มาตรฐานและคุณภาพการศึกษาของไทย นอกจากการพิจารณาทักษะด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ ตัวแปรสำคัญหนึ่งของการวัดคือทักษะด้านภาษาอังกฤษ จากข้อมูลผลคะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ปีล่าสุด เด็กไทย ได้คะแนนภาษาอังกฤษ เฉลี่ย 23.44 จากคะแนนเต็ม 100 ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ย 2 อันดับรั้งท้ายกับวิชาคณิตศาสตร์ รวมถึงจากข้อมูล EF English Proficiency index ปี 2015 เปิดเผยข้อมูลความสามารถด้านภาษาอังกฤษของเด็กไทยอยู่ลำดับที่ 62 ของโลกซึ่งอยู่ในกลุ่ม Very Low Efficiency หรือระดับต่ำมากในขณะที่ สิงคโปร์ลำดับที่ 12 มาเลเซีย 14 ซึ่งได้รับการจัดอยู่ในกลุ่มระดับสูง
และในปี 2559 นี้เป็นปีที่การการศึกษาไทยกำลังก้าวสู่การปฏิรูปครั้งยิ่งใหญ่ จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ประเทศไทยจะมีแนวทางการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของเด็กไทยผ่านการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบต่างๆ อาทิ การพัฒนาการเรียนการสอนใหม่ การเปลี่ยนวิธีการถ่ายทอดสาระวิชาของครู การปรับหลักสูตรใหม่ ฯลฯ เพื่อให้เด็กสามารถเข้าใจและได้ฝึกครบทุกทักษะทั้งการฟัง พูด อ่าน และเขียน ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับผลสัมฤทธ์ด้านภาษาของเด็กไทย โดยจากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษาเพื่อประเมินคุณภาพภายนอกรอบสามที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปในปีที่ผ่านมานั้น สมศ. พบตัวอย่าง ความสำเร็จของสถานศึกษาที่มีความสามารถในการส่งเสริมด้านวิชาภาษาอังกฤษ โรงเรียนมัธยมป่ากลาง อำเภอปัว จังหวัดน่าน ที่เสริมความแข็งแกร่งทางด้านภาษาอังกฤษให้กับผู้เรียนชาวไทยภูเขาที่มาจากหลากหลายชาติพันธุ์ในพื้นที่ให้มีความสามารถทางด้านภาษาจนสามารถคว้ารางวัลระดับเขตต่างๆ มาได้มากมาย ศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน นายนิคม พลทิพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมป่ากลาง กล่าวว่า มัธยมป่ากลางเป็นสถานศึกษาขนาดกลาง มีจำนวนบุคลากร 36 คน และมีผู้เรียนทั้งสิ้น 600 คน โดยบุคลากรและนักเรียนในสถานศึกษาจะมีชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ประกอบด้วยคนเมือง ม้ง ลั๊วะ เมี่ยน และไทลื้อ ซึ่งแต่ละชาติพันธุ์ก็จะมีภาษา เอกลักษณ์ ทางวัฒนธรรมที่เป็นของตนเอง และด้วยความหลากหลายทางชาติพันธุ์จึงถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายของสถานศึกษาในการที่จะพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนให้ประสบความสำเร็จ โดยใช้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษเป็นภาษาพื้นฐานในการสื่อสาร โดยสถานศึกษายังมุ่งเน้นถึงแนวทางการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนด้านภาษาอังกฤษเป็นสำคัญ ในฐานะภาษาสากล ด้วยการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ใช้ภาษาอังกฤษนอกเหนือจากในคาบเรียน เช่นการส่งเสริมให้ผู้เรียนฝึกสนทนากันเป็นภาษาอังกฤษ หรือผู้เรียนกับอาจารย์วิชาภาษาอังกฤษ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความเคยชินในการใช้ภาษา จนสามารถทำให้สามารถคว้ารางวัลวิชาการระดับเขตต่างๆ มาได้มากมายอาทิรองชนะเลิศการแข่งขันการพูดภาษาอังกฤษแบบไม่ได้เตรียมมาก่อน (Impromptu Speech) และรองชนะเลิศการแข่งขันเล่านิทานภาษาอังกฤษ เป็นต้น
ทั้งนี้ การที่ผู้เรียนจะมีทักษะทางภาษาอังกฤษที่ดี ครูผู้สอนมีส่วนสำคัญอย่างมาก ดังนั้น สถานศึกษาจึงมีนโยบายพัฒนาความรู้วิชาภาษาอังกฤษให้กับครูในสถานศึกษาด้วยการส่งไปอบรมเพิ่มเติมให้เกิดความเชี่ยวชาญ เพื่อให้ครูผู้สอนสามารถส่งต่อความเชี่ยวชาญด้านภาษาให้กับผู้เรียนได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ โดยสถานศึกษามีการส่งเสริมให้บุคลากรในสถานศึกษาเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับผู้เรียน เพราะผู้สอนคือต้นแบบที่ดีให้ของผู้เรียน โดยในส่วนของครูผู้สอนจะต้องมีความสามารถ ไม่หยุดที่จะเรียนรู้กับสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา เพื่อให้เพื่อสร้างผู้เรียนให้มีคุณลักษณะที่สมบูรณ์ ซึ่งหากเราสามารถทำได้ดังที่ตั้งใจเอาไว้เช่นนี้แล้ว ครูผู้สอนก็จะเกิดความภาคภูมิใจที่ได้เห็นผู้เรียนก้าวไปสู่ความสำเร็จ ทั้งนี้ก็เพื่ออนาคตของผู้เรียนทุกคน นายนิคม กล่าว
นายจิรายุ จันทร์เพ็ง อาจารย์โรงเรียนมัธยมป่ากลาง (ครูดีเด่นระดับประเทศ พ.ศ.2556) กล่าวว่า แต่เดิมโรงเรียนมัธยมป่ากลาง ประสบปัญหาเรื่องนักเรียนโดดเรียน ทะเลาะวิวาท และยาเสพติดที่ระบาดไปทั่วในชุมชน และสถานศึกษาในขณะนั้น ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงแก้ปัญหาโดยการใช้โรงเรียนเป็นฐานพิจารณาว่า ผู้เรียน โรงเรียน ชุมชน ต้องการอะไร แล้วจึงดำเนินการแก้ไขปัญหานั้น ด้วยวิธีการจัดการกับปัญหาอย่างเป็นระบบ เริ่มจากขั้นที่ 1 วิเคราะห์ผู้เรียนเพื่อระบุปัญหา ขั้นที่ 2 ศึกษาข้อมูลพื้นฐาน ดูสภาพ ขั้นที่ 3 ตัดสินใจเลือกวิธีการแก้ปัญหา ขั้นที่ 4 พัฒนาวิธีการแก้ไขปัญหาให้สอดมีความสอดคล้องและเหมาะสมกับผู้เรียน ขั้นที่ 5 นำวิธีการที่ได้ไปใช้แก้ปัญหา และขั้นที่ 6 สรุปผลการพัฒนาและรายงาน
นอกจากนี้ ยังมีการใช้กิจกรรมบำบัด ด้วยการนำวิชาลูกเสือ และวงโยทวาธิตเข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อพัฒนาระเบียบวินัย และเป็นการให้ผู้เรียนที่มีปัญหาใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และนำจุดเด่นของความเป็นชาติพันธุ์ ให้นักเรียนแต่งกายด้วยเสื้อผ้าประจำเผ่าเป็นชุดการแสดงวงโยธวาทิต สร้างความแปลกแตกต่าง แต่ก็ทำให้ผู้เรียนได้แสดงศักยภาพ สร้างความภาคภูมิใจที่ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้รับการยอมรับ จนได้รับรางวัลเหรียญเงินการประกวดวงโยทวาธิตนักเรียน นักศึกษาชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทาน 3 ปีซ้อน ในปี 2549-2551 ซึ่งจากการมุ่งมั่นแก้ปัญหาอย่างจริงจังทำให้ปัญหาการโดดเรียนและทะเลาะวิวาท และปัญหายาเสพติด หมดไปจากโรงเรียนมัธยมป่ากลาง ผู้เรียนที่เคยมีปัญหา ก็เลิกพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง ต่างๆ จนหมดสิ้น ผู้เรียนมีระเบียบวินัยและมีสมาธิในการเรียนมากขึ้น นายจิรายุ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับคณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือเข้าไปที่ www.onesqa.or.th
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit