รศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า จากการที่ วสท.เข้าตรวจสอบเครนที่อาคารเกิดเหตุเบื้องต้น คาดว่าอาจมาจากความประมาทของคนขับเครนบนชั้น 17 ระหว่างกำลังยกวัสดุเหล็กนั่งร้านลอยขึ้นไป เกิดอาการ "ช๊อคโหลด" หรือระบบติดขัดกลางคัน ทำให้เครนสะบัดหงายหลังและเกิดแรงเหวี่ยงจนทำให้วัสดุแผ่นเหล็กนั่งร้านที่ผูกมัดไว้หลุดร่วงลงมาทะลุหลังคาโรงยิมของโรงเรียน จึงควรหาข้อมูลว่าคนขับมีทักษะความเชี่ยวชาญเพียงพอหรือไม่ ผู้ให้สัญญาณแก่คนขับเครนและผู้ควบคุมงานได้อยู่ปฏิบัติงานจนเสร็จสิ้นการยกของหรือไม่ ทั้งนี้ในช่วงบ่ายวันรุ่งขึ้นหลังเกิดเหตุ ทาง กทม.ด้วยความร่วมมือจาก วสท.ได้รื้อถอนเครนที่ห้อยค้างอยู่ข้างอาคารเกิดเหตุลงมาเป็นที่เรียบร้อยแล้วเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุซ้ำซ้อน
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการให้เช่าและตัวแทนจำหน่ายปั้นจั่นกว่า 200 ราย และมีการใช้งานเครนรวมทั่วประเทศกว่า 1,500 เครื่อง ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สถิติเกิดอุบัติเหตุจากเครนก่อสร้างกว่า 20 ครั้ง ได้สร้างผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนผู้สัญจร ผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินมากมาย และยังคงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นตามปริมาณกิจกรรมของการก่อสร้างรูปแบบต่างๆ จึงขอฝากรัฐบาลชุดใหม่และทุกฝ่ายจะต้องร่วมแก้ไขปัญหา เข้มงวดในการปฏิบัติตามข้อบังคับและหลักความปลอดภัย เช่น ตามข้อบัญญัติ กทม.ห้ามส่วนหนึ่งส่วนใดของเครนออกนอกพื้นที่ก่อสร้าง, การแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดตั้งเครน ควรให้มีการแจ้งเพื่อติดตั้งเครน ซึ่งต้องมีผู้รับผิดชอบความปลอดภัยลงนามกำกับ, ผู้ดำเนินการการก่อสร้างผู้ดำเนินการก่อสร้างหรือเจ้าของอาคารต้องทำประกันภัยบุคคลที่ 3 การดูแลบำรุงรักษาเครนตามกำหนดในคู่มือ, การพัฒนาบุคลากรและมาตรการความปลอดัยในพื้นที่ก่อสร้าง การส่งเสริมความรู้และความเชี่ยวชาญแก่ผู้ปฎิบัติงาน การบำรุงรักษาเครนตามที่คู่มือกำหนด เป็นต้น
คุณหฤษฏ์ ศรีนุกูล คณะอนุกรรมการยกหิ้วและปั้นจั่นไทย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า จาการตรวจสอบพบว่าเป็นเครนชนิดเดอร์ริค มีแขนกระดกสำหรับยกวัสดุขึ้น-ลง เครนในที่เกิดเหตุ มีอุปกรณ์หยุดการทำงานกรณ๊ฉุกเฉินเป็นปกติ คาดว่าอาจเกิดจากผู้ขับเครนไม่เชี่ยวชาญ และทีมควบคุมอาจบกพร่อง เช่น ระหว่างยก แขนเครนอาจไปเกี่ยวโครงสร้างตึก หรือขาดการสื่อสารระหว่างผู้ให้สัญญาณกับคนขับเครน เป็นต้น ในหลักการใช้เครนให้ปลอดภัยนั้นมี 4 บุคลากร ที่เกี่ยวข้องต้องทำงานประสานกัน คือ 1. ผู้ขับเครน ซึ่งต้องมีใบอนุญาติ ผ่านการอบรมความรู้และทักษะความเชี่ยวชาญตามมาตรฐาน 2. ผู้ให้สัญญาณแก่ผู้ขับเครน 3. ผู้ผูกรัดวัสดุ 4.ผู้ควบคุมการใช้เครน ทั้งนี้ ในการประกอบหรือติดตั้ง หรือแก้ไขดัดแปลงเครนนั้น จะต้องมีวิศวกรเครื่องกลมาควบคุมการปฏิบัติงานดังกล่าวตลอดเวลาซึ่งต้องมีใบอนุญาตตามวิชาชีพวิศวกร
วสท.ขอเสนอรัฐบาลชุดใหม่ แนวทางการลดอุบัติเหตุจากเครนก่อสร้าง เพื่อเสริมสร้างกรุงเทพมหานครและเมืองต่างๆ ประเทศไทยให้เป็น "เมืองน่าอยู่และปลอดภัย" โดยต้องเข้มงวดต่อการปฏิบัติตามหน้าที่และความรับผิดชอบโดยคำนึงถึงคุณภาพและความปลอดภัย 1. เสนอข้อบังคับให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นหน่วยงานดำเนินงานทดสอบและประเมินความรู้ความสามารถของผู้ขับเครน โดยเฉพาะทักษะการขับเครนประเภทหอสูงและรถเครน 2. กำหนดอายุการใช้งานเครน ในสหรัฐและหลายประเทศกำหนดอายุการใช้งานเครน ไว้ 25 ปี ส่วนสิงคโปร์กำหนด 15 ปี และต่ออายุได้อีก 5 ปี หลังจากผ่านการทดสอบคุณภาพแล้ว 3.ด้านผู้ออกแบบ ต้องออกแบบและจัดทำรายละเอียดในการออกแบบที่ชัดเจนและสามารถนำไปใช้ในการดำเนินการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารได้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่พึงกระทำตามวิชาชีพ 4. ด้านวิศวกรผู้ควบคุมงาน ต้องอำนวยการอย่างมีประสิทธิภาพหรือควบคุมให้มีการป้องกันภยันตรายที่อาจเกิดต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน ในสถานที่ก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารที่กำหนดไว้ 5. ด้านผู้ดำเนินการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเข้มงวด 6. ด้านเจ้าของอาคาร ต้องกำกับดูแลการก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารและการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ประกอบอาคาร รวมทั้งการรื้อถอนและเคลื่อนย้ายอาคาร ดูแลการป้องกันภัยอันตรายในสถานที่ก่อสร้างอย่างเคร่งครัด
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit