นายทรงธรรม จั่นทรัพย์ ที่ปรึกษาด้านการเกษตร สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) กล่าวถึง การพัฒนาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะแหล่งปลูกยางใหม่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีการรวมกลุ่มเป็นสถาบันเกษตรกรที่มีความเข้มแข็ง มีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าสถานการณ์ราคายางในปัจจุบันจะมีผลกระทบอยู่มาก แต่การสร้างฐานกลุ่มเครือข่ายผู้ปลูกยางพาราทุกภูมิภาคให้มีความเข้มแข็งเชื่อมโยงกันและช่วยเหลือให้คำแนะนำซึ่งกันและกัน เป็นเรื่องที่น่าภูมิใจและเป็นไปตามแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เน้นการพึ่งพาตนเอง ที่สำคัญคือยางพาราเป็นพืชอุตสาหกรรมที่ปลูกเพื่อความมั่งคั่งในอนาคต และรักษาสภาพแวดล้อม ปลูกยางครั้งเดียวให้ผลผลิตได้ยาวนานมากกว่า 20 ปี ปัญหาที่ผ่านมาคือชาวสวนยางไทยมีความสามารถด้านการผลิต ปลูกยางได้ผลดี แม้ในพื้นที่สูง หากชาวสวนยางไทยสามารถเข้าถึงการตลาดได้ด้วย จะทำให้อาชีพการทำสวนยางไทยไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ เพราะปริมาณการใช้ยางทั่วโลกยังมีอยู่มากมาย และจากข้อมูลที่มีอยู่ชี้ว่าโลกไม่ลดการใช้ยางแน่นอน อย่างไรก็ดี ขณะนี้ภาครัฐได้เร่งพิจารณา พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย เพื่อตราเป็นกฎหมายออกมาบังคับใช้ โดยควบรวมหน่วยงานยาง 3 หน่วยงาน คือ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) และสถาบันวิจัยยาง (สวย.) เป็น “การยางแห่งประเทศไทย” เพื่อร่วมพัฒนายางพาราของประเทศไทยให้มีภารกิจครอบคลุมเกือบทุกด้าน ทั้งด้านการผลิต การวิจัยพัฒนา การตลาด และผลิตภัณฑ์ยาง หากไม่ติดขัด คงได้เห็นองค์กรใหม่เร็วๆ นี้
นายปรีชา บุญคงแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดแพร่ (ผอ.สกย.จ.แพร่) กล่าวว่า สกย.จ.แพร่ ดูแลการปฏิบัติงานของ ศูนย์ปฏิบัติการสงเคราะห์สวนยางจังหวัดอุตรดิตถ์ (ศปจ.อุตรดิตถ์) และ ศปจ.น่าน รวมถึงกลุ่มชาวสวนยาง สกย.ระดับจังหวัด โดยมีนโยบายสนับสนุนให้รวมกลุ่มชาวสวนยางและเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย เพื่อให้กลุ่มช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการประกอบอาชีพการทำสวนยาง การแปรรูปผลผลิต การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาพัฒนาการดำเนินกิจกรรม เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มมูลค่าผลผลิต และที่สำคัญคือสร้างผู้นำกลุ่มเครือข่ายให้มีเวทีร่วมเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลข่าวสารซึ่งกันและกัน ทำให้กิจกรรมมีการพัฒนาไปสู่ความเข้มแข็งและยั่งยืน และหนึ่งในกิจกรรมนั้นคือการจัดประชุมสัมมนากลุ่มชาวสวนยางระดับจังหวัดครั้งนี้ ประกอบด้วยผู้นำกลุ่มชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกร เกษตรกรชาวสวนยาง รวม 350 คน ร่วมสัมมนา เพื่อถ่ายทอดนโยบายแนวทางการดำเนินงานด้านกลุ่มเครือข่ายชาวสวนยางของ สกย.และประชุมเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต่อไป
นายวรวุฒิ ทีคำแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสงเคราะห์สวนยางจังหวัดน่าน (ผอ.ศปจ.น่าน) กล่าวว่า ศปจ.น่านมีภารกิจในการดูแลให้คำแนะนำและความรู้ด้านวิชาการต่าง ๆ แก่เกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดน่าน ซึ่งมีเกษตรกรประกอบอาชีพการทำสวนยาง รวม 13 อำเภอ จาก 15 อำเภอ มีพื้นที่ปลูกยาง 316,107 ไร่ เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการปลูกยาง 245,967 ไร่ ในปี 2557 มีปริมาณยางรวม 6,928 ตัน มีการรวมกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางรวม 65 กลุ่ม มีตลาดยาง 63 ตลาดย่อย โดยมีสหกรณ์กองทุนสวนยาง 1 แห่ง คือ สหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดน่าน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit