คู่ค้า SMEs ซีพีเอฟตอบรับ "เครดิตเทอม 30 วัน" เสริมแกร่ง ปรับตัวรับวิกฤตโควิดระลอกใหม่

29 Jan 2021

ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กว่า 6 พันราย ตอบรับโครงการ Faster Payment ให้เครดิตเทอมภายใน 30 วัน เป็นประโยชน์ ช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่อง เสริมแกร่งเอสเอ็มอีไทยพยุงธุรกิจรับมือวิกฤติเศรษฐกิจได้ ตอบรับความมุ่งมั่นซีพีเอฟในการพัฒนาคู่ค้าธุรกิจเติบโตไปด้วยกัน

คู่ค้า SMEs ซีพีเอฟตอบรับ "เครดิตเทอม 30 วัน" เสริมแกร่ง ปรับตัวรับวิกฤตโควิดระลอกใหม่

สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) ในหลายมิติ ทั้ง รายได้ที่ลดลงเพราะยอดสั่งซื้อสินค้าลดลง ทำให้กระแสเงินสดลดลง แต่ค่าใช้จ่ายยังคงที่ ขณะที่ต้นทุนเพิ่มขึ้นจากดอกเบี้ยเงินกู้ ค่าใช้จ่ายเรื่องความปลอดภัยของพนักงาน เป็นต้น ส่งผลให้คู่ค้าบางรายจำเป็นต้องเลิกจ้างพนักงาน หรือหยุดกิจการ ดังนั้น ซีพีเอฟ ริเริ่มโดย นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ ได้ดำเนินโครงการ Faster Payment ปรับระยะเวลาเครดิตเทอมภายใน 30 วันตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 เพื่อช่วยเหลือคู่ค้าซีพีเอฟที่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท ต่อรายสามารถประคับประคองธุรกิจให้เดินหน้าฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปได้อย่างมั่นคง และสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ดี รวมถึงการดูแลพนักงานให้ปลอดภัยจากโรคระบาดได้

นายสุรนาท ตั้งจิตรชอบ เจ้าของ หจก.ตั้งจิตรเทรดดิ้ง กล่าวว่า การได้รับเครดิตเทอมใน 30 วันมาช่วยปลดล็อคสภาพคล่องของ SMEs ที่เผชิญกับยอดสั่งซื้อลดลงมาก ช่วยให้มีเงินหมุนเวียนในธุรกิจเพียงพอ ไม่ต้องกู้เงินจากแหล่งอื่นซึ่งเพิ่มภาระดอกเบี้ย ช่วยให้ผู้ประกอบการอยู่ได้ ช่วยรักษากิจการให้อยู่รอด และรักษาลูกจ้างไว้

นายไพศาล การกระโทก เจ้าของกิจการ หจก. เชิดพงษ์การโยธา จ.นครราชสีมา เสริมว่า เครดิตเทอมภายใน 30 วันจากซีพีเอฟ ช่วยแก้ปัญหาเรื่องสภาพคล่องของ SMEs ให้มีเงินหมุนเวียนในการธุรกิจเร็วขึ้น ช่วยให้ธุรกิจมีทุนไปขยายงานใหม่ สร้างรายได้มาชดเชยรายได้ที่หายไปในช่วงวิกฤตได้

เช่นเดียวกับ นายเสรี บุญศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ป.ณัชชานันท์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง จึงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มาก จำนวนงานหายไป การได้รับเครดิต ช่วยให้บริษัทมีสภาพคล่องดีขึ้น มีเงินทุนมาใช้ซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับโครงการใหม่ๆ ได้

สำหรับ ธุรกิจ SMEs ที่ไม่ได้ประสบกับปัญหาสภาพคล่องมากนัก โครงการ Faster Payment ช่วยเพิ่มขีดความสามารถคู่ค้า SMEs ในการปรับตัว หรือพัฒนาธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโต และรองรับกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้

นายยศศริ พาณิชย์วรชัยกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเอส คอมเมอร์เชียล เทรด จำกัด ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษสำหรับไข่ไก่ของซีพีเอฟ กล่าวว่า โครงการ Faster Payment ช่วยให้ผู้ประกอบการมีเงินหมุนเวียนเร็วขึ้น ช่วยให้บริษัทมีเงินทุนมาใช้ยกระดับมาตรการความปลอดภัยต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพนักงานและลูกค้าได้ โดยไม่ต้องหาเงินจากแหล่งทุนอื่นๆ และซีพีเอฟยังสนับสนุนการพัฒนาระบบออนไลน์มาใช้ช่วยให้คู่ค้าไม่ต้องเดินทาง ลดความเสี่ยงจากโรคระบาดได้

ขณะที่ นางสาว ลัดดาวัลย์ ดำริห์ชอบ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอวา ริช ผู้จัดหาน้ำดื่มให้กับซีพีเอฟ กล่าวว่า โครงการนี้ช่วยให้สภาพคล่องของบริษัทดีขึ้น และมีทุนไปต่อยอดในการปรับปรุงคุณภาพการบริการให้กับลูกค้าได้อีกด้วย