เกษตรฯ เผยสถานการณ์ผลิตไม้ผล ปี 2564 และแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ช่วง COVID-19

11 Feb 2021
กระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับ Fruit Board ประเมินสถานการณ์ผลิตไม้ผลปี 2564 และแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ช่วง COVID-19 ชี้ภาพรวมผลผลิตเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะทุเรียนเหตุเพราะสภาพอากาศเหมาะสม ส่งผลดีต่อเกษตรกรนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยผลถึงผลการประชุมคณะทำงานจัดทำข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคเหนือ (ลิ้นจี่และลำไย) ครั้งที่ 1/2564 และผลการประชุมคณะทำงานจัดทำข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคตะวันออก (ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง) ครั้งที่ 2/2564 เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ได้ร่วมกันวิเคราะห์ และจัดทำข้อมูลประมาณการผลผลิตไม้ผลที่กำลังจะให้ผลผลิตที่สามารถเก็บเกี่ยวได้เป็นส่วนมากตั้งแต่เดือนเมษายน - มิถุนายน 2564 ซึ่งขณะนี้เกษตรกรได้มีการเตรียมต้นและมีการบริหารจัดการสวนตามหลักวิชาการ เพื่อให้ต้นไม้ผลพร้อมเข้าสู่ระยะการออกดอก และเจริญพัฒนาต่อไปอย่างเต็มที่สำหรับการติดผลในฤดูกาลผลิตแต่ละภาค มีดังนี้ภาคเหนือ คือ ลิ้นจี่และลำไยปีนี้ออกดอกมากขึ้น เนื่องจากต้นมีการพักตัวเพื่อสะสมอาหารได้มาก สาเหตุจากช่วงปลายปีอุณหภูมิได้ลดลงจนหนาวเย็นเกิดความเหมาะสมต่อการกระตุ้นการออกดอก คาดการณ์สถานการณ์การผลิตแต่ละชนิด ดังนี้ ลิ้นจี่จาก 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา เชียงใหม่ และน่าน จะมีผลผลิตรวมกันทั้งสิ้น 30,716 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.39 จากปี 2563 ซึ่งมีผลผลิต 29,425 ตัน และลำไยจาก 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา เชียงใหม่ น่าน แพร่ ลำปาง ลำพูน และตาก จะมีผลผลิตในฤดูรวมกันทั้งสิ้น 692,386 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.67 จากปี 2563 ซึ่งมีผลผลิต 559,854 ตันภาคตะวันออก คือ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง จาก 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ระยอง และจังหวัดตราด สภาพอากาศในช่วงปลายปีที่ผ่านมา อุณหภูมิลดลงมีความเหมาะสมต่อการเจริญพัฒนาของตาดอกในไม้ผลเขตร้อนชื้น ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณที่ดีสำหรับเกษตรกรโดยเฉพาะอย่างยิ่งทุเรียนซึ่งเป็นสินค้า champion product สำคัญของภาคตะวันออก ในปีนี้ทุเรียนมีการออกดอกมากขึ้น และขณะนี้ออกดอกครบ 100% แล้ว มีแนวโน้มการให้ผลผลิตสูงขึ้น เนื่องจากพื้นที่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่มังคุด เงาะ และลองกองเพิ่งจะเริ่มทยอยการออกดอก อีกทั้งพื้นที่ปลูกและพื้นที่ให้ผลผลิตลดลง จึงมีแนวโน้มการให้ผลผลิตลดลง คาดการณ์สถานการณ์การผลิต ดังนี้ ทุเรียน จะมีผลผลิตรวมทั้งสิ้น 633,476 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.17 จากปีที่แล้วซึ่งมีผลผลิต 550,035 ตัน มังคุด จะมีผลผลิตรวมทั้งสิ้น 157,207 ตัน ลดลงร้อยละ 25.97 จากปีที่ผ่านมาซึ่งมีผลผลิต 212,345 ตัน เงาะ จะมีผลผลิตรวมทั้งสิ้น 197,438 ตัน ลดลงร้อยละ 6.27 จากปี 2563 ซึ่งมีผลผลิต 210,637 ตัน และลองกอง คาดการณ์ว่าจะมีผลผลิตรวมกันทั้งสิ้น 19,617 ตัน ลดลงร้อยละ 12.75 จากปี 2563 ซึ่งมีผลผลิต 22,484 ตันภาคใต้ ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง จาก 14 จังหวัด ขณะนี้คณะทำงานจัดทำข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคใต้ได้ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ กำหนดกรอบแนวทางการจัดทำข้อมูลประมาณการผลผลิต ตลอดจนทบทวนข้อมูลการผลิตของปีที่ผ่านมาเพื่อนำมาใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับการจัดทำข้อมูลประมาณการผลผลิตครั้งที่ 1/2561 ในช่วงเดือนมีนาคมต่อไป อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID - 19 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลกในขณะนี้ ประกอบกับผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ครั้งที่ 1/2564 มีมติเห็นชอบแนวทางบริหารจัดการผลไม้ ปี 2564 - 2566 ซึ่งเป็นแนวทางบริหารจัดการผลไม้ในระยะปานกลาง (3 ปี) ที่เน้นความสอดคล้องตามยุคสมัยปัจจุบันซึ่งมีเทคโนโลยีและเครื่องมือสื่อสารที่อำนวยความสะดวกมากขึ้นในยุค 4.0 ตลอดจนให้เข้ากับสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 โดยเน้นช่องทางการซื้อขายออนไลน์ซึ่งมีประสิทธิภาพในการกระจายได้สูง เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนวิถีการขายรูปแบบใหม่ ไม่ต้องอาศัยพ่อค้าคนกลาง โดยขอให้คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) ทุกจังหวัดส่งเสริมและสนับสนุนอำนวยความสะดวกเกษตรกรในพื้นที่ ให้สามารถกระจายผลผลิตด้วยวิธีการค้าออนไลน์ให้มากขึ้น ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะฝ่ายเลขานุการ Fruit Board ได้จัดทำแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ช่วงวิกฤตการณ์ COVID-19 ซึ่งเน้นการป้องกันและพึงระวังตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง ทั้งการเก็บเกี่ยวและการจัดการในสวนผลไม้จนถึงการขนส่งไปยังผู้บริโภคให้มีการปฏิบัติที่ปลอดภัย ดังนี้ ต้นทาง โดยจัดการความเสี่ยง และควบคุมจุดวิกฤตซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดหนักตามประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) ด้วยความเหมาะสมต่อการทำงานการทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ แยกพื้นที่การผลิต ควบคุมผู้ส่งออก การเก็บรักษา และตลอดสายการผลิตกำหนดให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เช่น หน้ากากอนามัย และถุงมืออย่างเหมาะสม มีการเว้นระยะห่าง จำกัดจำนวนคนงานที่อยู่ในพื้นที่การผลิต ลดการปฏิสัมพันธ์ และจัดสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขอนามัยอย่างเพียงพอ รวมถึงการทำความสะอาดพื้นผิวที่มีการสัมผัสบ่อย ๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ พนักงานหรือผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับอาหารต้องหมั่นสังเกตตัวเองหากมีอาการบ่งชี้ว่าอาจได้รับเชื้อ ไม่ควรมาทำงาน และดำเนินการตามมาตรการลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อทันทีกลางทาง-ปลายทาง ให้ปฏิบัติตามประกาศของกรมการขนส่งทางบกที่กำหนดมาตรการปฏิบัติเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 สำหรับผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่มีการเข้า-ออกพื้นที่ควบคุมสูงสุดไว้ ดังต่อไปนี้
เกษตรฯ เผยสถานการณ์ผลิตไม้ผล ปี 2564 และแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ช่วง COVID-19

2.1 ผู้ประกอบการขนส่งต้องทำความสะอาดยานพาหนะด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทั้งภายในและภายนอกตัวยานพาหนะก่อนบรรทุกสินค้าทุกครั้ง กรณีบรรทุกขนส่งสินค้าประเภทอาหารสดจะต้องมีเอกสารรับรองว่าสินค้าผ่านมาตรการตรวจสอบความปลอดภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดไว้ประจำรถด้วย เช่น กรณีอาหารทะเลต้องมีเอกสารรับรองจากกรมประมง เป็นต้น

2.2 ผู้ประกอบการขนส่งต้องกำชับให้พนักงานขับรถควรอยู่แต่ในรถไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้องระหว่างการขนถ่ายสินค้าและสัมผัสกับตัวสินค้าตลอดการขนส่ง โดยจะต้องดูแลเรื่องความสะอาดของตนเอง สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา และมีแอลกอฮอล์เจลติดตัวไว้ทำความสะอาดมืออย่างสม่ำเสมอ หากมีความจำเป็นที่พนักงานขับรถจะต้องสัมผัสกับตัวสินค้า พนักงานขับรถต้องสวมถุงมือยางและสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาจนกว่าจะทำการขนส่งสินค้าเสร็จ

2.3 ผู้ประกอบการขนส่งต้องกำชับให้เจ้าหน้าที่สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะปฏิบัติงานและมีการตรวจสอบสภาพร่างกายเจ้าหน้าที่และพนักงานขับรถ โดยจัดให้มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายเพื่อคัดกรองรายวันก่อนปฏิบัติงานทุกวัน หากพบเจ้าหน้าที่หรือพนักงานขับรถคนใดที่มีอุณหภูมิสูงเกินกว่า 37.5 องศาเซลเซียส หรือมีอาการไอ เจ็บคอ หอบ เหนื่อย จะต้องไม่อนุญาตให้ทำงานหรือเข้ามาภายในสถานประกอบการจนกว่าจะได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัส COVID-19

2.4 ผู้ประกอบการขนส่งจะต้องดูแลและทำความสะอาดภายในบริเวณสถานประกอบการและบริเวณสถานที่ขนถ่ายสินค้าด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคเพื่อให้มั่นใจว่ามีความสะอาดเพียงพอและปลอดเชื้อไวรัส COVID-19

2.5 ผู้ประกอบการขนส่งต้องปฏิบัติตามมาตรการและแนวทางการดำเนินการเพื่อเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ที่กำหนดโดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอย่างเคร่งครัด

เกษตรฯ เผยสถานการณ์ผลิตไม้ผล ปี 2564 และแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ช่วง COVID-19