บลจ.ไทยพาณิชย์ เผยธีมน่าสนใจในปี 2564 พร้อมมุ่งเฟ้นกองทุนตอบโจทย์ทุกกลุ่มทุกช่วงวัย

25 Feb 2021

นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยถึงแผนงานในปี 2564 ว่า บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายการเป็นบลจ.อันดับ 1 ที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า หรือ The Most Advanced Technology & Trusted Partner AMC โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ จึงได้มุ่งมั่นที่จะแสวงหาโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ สร้างผลตอบแทนที่ดี มีทางเลือกการลงทุนหลากหลายที่เหมาะสมกับลูกค้า พร้อมทั้งการนำเอาเทคโนโลยีมาพัฒนาเสริมความสามารถและประสิทธิภาพในการสร้างผลตอบแทน

บลจ.ไทยพาณิชย์ เผยธีมน่าสนใจในปี 2564 พร้อมมุ่งเฟ้นกองทุนตอบโจทย์ทุกกลุ่มทุกช่วงวัย

โดยในปี 2563 บลจ.ไทยพาณิชย์ มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การจัดการ (AUM) รวม 1,612,418 ล้านบาท เป็นอันดับ 1 ในอุตสาหกรรม ด้วยส่วนแบ่งตลาดสูงสุดที่ 19.48% ประกอบด้วยกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) มี AUM อยู่ที่ 506,542 ล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดที่ 25.41% ธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) มี AUM อยู่ที่ 164,047 ล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดที่ 13.14% และธุรกิจกองทุนรวม (Mutual Fund) มี AUM อยู่ที่ 941,830 ล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดที่ 18.70% ซึ่งรวมทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) มูลค่ารวม 53,292 ล้านบาท และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ 188,224 ล้านบาท (ข้อมูลจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ณ วันที่ 30 ธ.ค. 2564)

ทั้งนี้ มีแผนนำเสนอกองทุนครอบคลุมทุกสินทรัพย์ที่มีรูปแบบแปลกใหม่ เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละรายตามความสนใจและสอดคล้องกับสภาวะตลาดและการลงทุน รวมถึงมีการใช้ Machine Learning ขยายการลงทุนภูมิภาคอื่นทั่วโลก พร้อมทั้งพัฒนาให้มีการต่อยอดเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการกองทุนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

สำหรับการลงทุนในปี 2564 ได้แนะนำธีมที่น่าสนใจลงทุน ประกอบด้วย 1) ตลาดหุ้น Asia ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่มีท่าทีผ่อนคลายลง เนื่องจากมุ่งไปที่มาตรการการจับกลุ่มทางการค้าแทนการขึ้นภาษีนำเข้า จึงคาดว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกันภายในกลุ่ม นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีในเอเชียยังมีความน่าสนใจสูง อาทิ Tencent, Alibaba, Samsung และ TSMC ซึ่งมีอัตราการเติบโตของยอดขายเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลังสูงกว่ากลุ่มบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำในสหรัฐฯ ในขณะที่มูลค่าพื้นฐาน (12-month Forward P/E) ที่ถูกกว่า อีกทั้ง ตลาดหุ้นเอเชียยังได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของ Semiconductor cycle ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญในเอเชีย โดยเฉพาะในเกาหลี ถึงแม้ว่า กลุ่มประเทศในเอเชียจะได้รับวัคซีนป้องกัน COVID-19 ช้ากว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว แต่ Earnings และ Valuation มีความน่าสนใจกว่า ประกอบกับค่าเงินที่มีแนวโน้มแข็งค่ามากขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐฯ ส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลเข้าตลาด Emerging Market โดยประเภทกองทุนที่แนะนำลงทุน คือ กองทุนที่ลงทุนในหุ้นเอเชีย

2) ตลาดหุ้นกลุ่ม Domestic Play ซึ่งประกอบด้วย จีน ยุโรป และสหรัฐอเมริกา เนื่องจากคาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 จะยังคงเป็นปัจจัยกดดันการเดินทางข้ามพรหมแดนอยู่ แม้จะมีวัคซีนป้องกัน COVID-19 แต่คาดว่าวัคซีนจะเริ่มมีการแจกจ่ายอย่างแพร่หลายในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้กลุ่มประเทศที่พึ่งพาการบริโภคภายในประเทศมีความน่าสนใจ โดยประเทศจีนเป็นประเทศแรก ๆ ที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อ COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้กิจกรรมทางเศรษกิจทั้งด้านการผลิตและการบริโภคฟื้นตัวเร็วกว่าประเทศอื่น ขณะที่ยุโรป แม้จะมีการแพร่ระบาดเชื้อ COVID-19 อีกเป็นรอบที่สอง แต่รัฐบาลยุโรปได้ให้เงินสนับสนุนบริษัทผลิตวัคซีนหลายแห่ง ทำให้ยอดจองวัคซีนของยุโรปอยู่ในระดับที่สูง และเป็นกลุ่มประเทศแรกที่ได้รับวัคซีน ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยประเภทกองทุนที่แนะนำลงทุน ได้แก่ กองทุนที่ลงทุนในหุ้นจีน และกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นยุโรปขนาดเล็ก และ ประเทศสหรัฐอเมริกาที่เริ่มคุมอัตราการแพร่เชื้อได้ดีขึ้นมาก ประกอบกับการแจกจ่ายวัคซีน และการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากรัฐบาลของนายโจ ไบเดน ทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดีและเอื้อต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคและบริษัทเอกชนในปี 2564

3) Short-Duration Credits สำหรับการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ในปีหน้าอาจมีความน่าสนใจน้อยลง เนื่องจากมีสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อเนื่อง ทำให้ความคาดหวังเงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้นในระยะถัดไป ส่งผลให้ความชันของ Yield curve (US 2-10 Spread) ปรับตัวสูงขึ้น ท่ามกลางดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับมูลค่าของตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนดอกเบี้ยติดลบกลับมาเพิ่มสูงขึ้น และแตะจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ประกอบกับนโยบายการคลังในสหรัฐฯที่ออกมาในจำนวนมหาศาลเพื่อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งจะนำไปสู่การออกพันธบัตร Treasury เพื่อระดมเงินทุนไปใช้จ่ายภาครัฐ ทำให้นักลงทุนอาจเกิดความกังวลต่อการขาดทุนทางบัญชีจากการลงทุนในตราสารหนี้ในภาวะที่ดอกเบี้ยตลาดเริ่มปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะตราสารหนี้ที่มีอายุยาว อย่างไรก็ดี หากเปรียบเทียบในกลุ่มตราสารหนี้ พบว่ากลุ่มตราสารประเภท High Yield ที่มีอายุสั้น มีความน่าสนใจมากกว่าเมื่อเทียบกับตราสารหนี้กลุ่มอื่น อาทิ Investment grade ซึ่งมีส่วนต่างอัตราผลตอบแทนเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ภาครัฐค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านนโยบายขาดดุลการคลังอย่างมากในสหรัฐฯ และข่าวดีของการพัฒนาวัคซีน จะทำให้ความเสี่ยงของจากการผิดนัดชำระหนี้ของกลุ่ม High yield ลดลงตามไปด้วย โดยประเภทกองทุนที่แนะนำลงทุน ประกอบด้วย กองทุนที่ลงทุนในตราสาร High Yield ในสหรัฐฯ ที่มีระยะสั้น และกองทุนที่เน้นการลงทุนเพื่อหา Income จากตราสารหนี้หลากหลายประเภทและมีการกระจายการลงทุนไปในตราสารหนี้ทั่วโลก และอีกกลุ่มตราสารหนี้ที่มีความน่าสนใจยิ่งขึ้นในปีนี้ คือตราสารด้อยสิทธิของกลุ่มธนาคาร หรือที่รู้จักกันสั้นๆในภาษาสากลว่า sub-debt ซึ่งเป็นกลุ่มตราสารที่จะได้รับประโยชน์ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้ผลตอบแทนมีความน่าสนใจในภาวะดังกล่าว

"ในปี 2564 คาดว่าตลาดหุ้นทั่วโลกจะยังคงได้รับปัจจัยบวกจากความคืบหน้าเรื่องวัคซีนป้องกัน COVID-19 ซึ่งจะมีการแจกจ่ายให้กับประเทศพัฒนาแล้วเป็นอันดับแรก และคาดว่าจะเริ่มมีการแจกจ่ายในเอเชียในช่วงไตรมาสที่ 3 ซึ่งจะเป็นปัจจัยส่งเสริมการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ประกอบกับแรงกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทางนโยบายการเงินและการคลัง โดยคาดว่าธนาคารกลางหลัก (สหรัฐฯ จีน และยุโรป) จะยังคงดำเนินมาตรการนโยบายการเงินผ่อนคลาย ด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำ และทำ QE อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดทอนผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาด COVID-19 ระลอกใหม่ซึ่งจะส่งผลให้สภาพคล่องในตลาดอยู่ในระดับที่สูง" นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติม