'ธนาคารกรุงเทพ'ก้าวอีกขั้นสู่เทรดไฟแนนซ์ยุคใหม่ ชู 'Contour' ตอบโจทย์ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศได้ครบวงจร

01 Mar 2021

ธนาคารกรุงเทพ ปลื้มบริการเทรดไฟแนนซ์ ผ่าน "Contour" ทลายกำแพงข้อจำกัดการทำธุรกรรมแบบเดิม ช่วยเปิด Letter of Credit สนับสนุนธุรกิจไทยกับคู่ค้าทั้งเวียดนาม-โอมาน ชูจุดแข็งทำธุรกรรมผ่านดิจิทัลได้ครบวงจร ตอบโจทย์ทั้งนำเข้า-ส่งออก เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนและเวลาในการทำธุรกรรม พร้อมต่อยอดความสำเร็จโดยร่วมมือกับธนาคารต่างประเทศชั้นนำในการทำธุรกรรม Blockchain แบบข้ามธนาคาร เพื่อการให้บริการด้านการค้าระหว่างประเทศแก่ลูกค้าที่เป็นเลิศยิ่งขึ้น

'ธนาคารกรุงเทพ'ก้าวอีกขั้นสู่เทรดไฟแนนซ์ยุคใหม่ ชู 'Contour' ตอบโจทย์ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศได้ครบวงจร

หลังจากธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่ได้เข้าร่วมกับธนาคารและองค์กรพันธมิตรชั้นนำระดับโลก เพื่อร่วมก่อตั้งบริษัทใหม่ ในชื่อ 'Contour' เพื่อดำเนินธุรกิจการให้บริการด้านการค้าระหว่างประเทศ (Trade Finance) ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 เน้นการนำเทคโนโลยี Distributed Ledger Technology หรือ Enterprise Blockchain มายกระดับบริการด้าน Trade Finance ให้เป็นระบบดิจิทัลทั้งกระบวนการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดระยะเวลาดำเนินการลง โดยสามารถทำธุรกรรมเปิด Letter of Credit (L/C) บน Contour Network ระหว่างธนาคารกรุงเทพ สาขาฮานอย กับธนาคารกรุงเทพ ประเทศไทยได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งธุรกรรมดังกล่าวช่วยลดระยะเวลาการเปิด L/C ลงเหลือไม่ถึง 1 ชั่วโมง

นายพิพัฒน์ อัสสมงคล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารกำลังเดินหน้าพัฒนาศักยภาพการให้บริการด้าน Trade Finance ผ่าน Contour อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับเป็นการก้าวข้ามขีดจำกัดการทำธุรกรรมด้าน Trade Finance แบบเดิม ความสำเร็จล่าสุดเป็นการต่อยอดการให้บริการของธนาคารให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยได้ขยายขอบเขตความร่วมมือไปยังธนาคารชั้นนำของโลก และธนาคารท้องถิ่นชั้นนำในต่างประเทศเพื่อการทำธุรกรรม Blockchain แบบข้ามธนาคาร (Cross Bank) บน Contour Network ให้แก่ลูกค้ารายสำคัญจำนวน 3 ราย โดยร่วมมือกับบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ครบวงจร บริษัทในกลุ่ม SCG และบริษัท จีซี มาร์เก็ตติ้ง โซลูชั่นส์ จำกัด บริษัทในกลุ่ม GC ซึ่งเป็นธุรกิจหลักด้านเคมีภัณฑ์ของกลุ่ม ปตท. ในการทำธุรกรรม L/C กับคู่ค้าผ่านธนาคารท้องถิ่นชั้นนำของเวียดนาม นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับบริษัท แปซิฟิคคอนเทนเน่อร์แบ้ก จำกัด ในการทำธุรกรรมกับคู่ค้าธุรกิจรายใหญ่ในประเทศโอมาน ทั้งยังสามารถทำรายการได้ในฐานะธนาคารผู้เปิด L/C และผู้รับ L/C ซึ่งช่วยตอบโจทย์ความต้องการทำธุรกรรมของลูกค้าได้ ทั้งด้านนำเข้าและส่งออก

นอกจากนี้ การทำธุรกรรม L/C บน Contour Network ซึ่งใช้งานผ่าน Enterprise Blockchain Platform ช่วยให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมในรูปแบบดิจิทัลได้ทั้งกระบวนการ ทำให้คู่ค้าทุกฝ่ายสามารถเห็นข้อมูลพร้อมๆ กัน ซึ่งช่วยให้ทำรายการได้อย่างรวดเร็ว โปร่งใสและลดต้นทุนการดำเนินการด้วยเอกสารกระดาษในรูปแบบเดิมอย่างมาก สอดรับกับสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต ที่จะต้องมีความรวดเร็วและปลอดภัยในการทำธุรกรรม

"การทุ่มเทพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเงินอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงที่ผ่านมา ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเราสามารถต่อยอดจากนวัตกรรมมาสู่การบริการได้จริง ซึ่งได้ปฏิวัติรูปแบบการให้บริการด้าน Trade Finance แบบเดิมไปอย่างสิ้นเชิงด้วยเทคโนโลยีของ Contour ที่ช่วยให้ลูกค้าได้รับบริการที่ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีล่าสุดของโลก ที่ใช้เวลาและต้นทุนต่างๆ น้อยลง แต่ยังได้ความปลอดภัย และการบริการที่เป็นเยี่ยมจากบุคลากรที่มีประสบการณ์สูงในการให้บริการด้านการค้าระหว่างประเทศของธนาคาร จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า Contour นับเป็นการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีการเงินอย่าง Blockchain เข้ากับธุรกิจการค้าระหว่างประเทศได้อย่างลงตัว"

นายพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า จากความสำเร็จที่เกิดขึ้น และผลตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากลูกค้าซึ่งได้ร่วมศึกษาและพัฒนาการทำธุรกรรม L/C บน Network ของ Contour ทำให้ธนาคารมั่นใจว่ามีความพร้อมที่จะนำไปสู่การให้บริการเชิงพาณิชย์ได้อย่างเต็มรูปแบบในระยะต่อไป

"การพัฒนาบริการโดยใช้เทคโนโลยี Blockchain จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยยกระดับการให้บริการการค้าระหว่างประเทศของธนาคารกรุงเทพให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นกว่าเดิม นับเป็นทางเลือกใหม่ในการทำธุรกรรมด้านการค้าระหว่างประเทศ ตอบโจทย์ทั้งลูกค้าธุรกิจให้มีขีดความสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้สูงขึ้น และตอบโจทย์ไปถึงคู่ค้าในต่างประเทศซึ่งหลายแห่งเริ่มมีความต้องการใช้เทคโนโลยี Blockchain มาทำธุรกรรมแล้วเช่นกัน ซึ่งธนาคารกรุงเทพเป็นเพื่อนคู่คิด ผู้เชี่ยวชาญ ที่พร้อมสนับสนุนลูกค้าให้ประสบความสำเร็จ และแข่งขันได้ในตลาดโลก" นายพิพัฒน์ กล่าว

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ การเงินและการลงทุน เอสซีจี กล่าวว่า "เอสซีจีมีความมุ่งมั่นที่จะนำเทคโนโลยี Blockchain ที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่บริษัทและคู่ค้า ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอยู่เสมอ จึงได้ร่วมมือกับธนาคารกรุงเทพ ในการทำธุรกรรม L/C แบบ end-to-end บน Contour Network กับคู่ค้าในประเทศเวียดนาม อันได้แก่ Sai Gon Plastic Chemical Joint Stock Company และ OPEC Plastics Joint Stock Company ผ่าน Military Commercial Joint Stock Bank (MBBank) ซึ่งธุรกรรมดังกล่าว นอกจากช่วยลดระยะเวลาการเปิด L/C จาก 3 วัน เหลือเพียง 50 นาทีแล้ว ยังช่วยลดปริมาณการใช้กระดาษลงได้มากกว่าครึ่ง อีกทั้ง ยังช่วยลดความเสี่ยงในการดำเนินงานได้เป็นอย่างมาก"

นายฐิติพล อาจสัญจร กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีซี มาร์เก็ตติ้ง โซลูชั่นส์ จำกัด กล่าวว่า "Blockchain Technology เป็นหนึ่งในเครื่องมือเสริมศักยภาพความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจและเป็นก้าวสำคัญของบริษัทฯ ที่นำมาพัฒนาวิธีการส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณค่าให้กับลูกค้าได้รับความพึงพอใจเหนือความคาดหมาย ซึ่งถือเป็นพันธกิจหลักของบริษัท สำหรับความสำเร็จในการทำธุรกรรม L/C บน Contour Application ที่บริษัทฯ ร่วมมือกับธนาคารกรุงเทพ และคู่ค้าในประเทศเวียดนาม ทั้งในรูปแบบการทำธุรกรรม Trade Finance ข้ามประเทศ (Cross Country) และแบบข้ามธนาคาร (Cross Bank) ครั้งนี้ สามารถเพิ่มความรวดเร็วและมีความคล่องตัวสูงในการส่งออกผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ไปยังประเทศเวียดนาม อีกทั้งยังเสริมสร้างความมั่นใจให้กับคู่ค้าด้านความปลอดภัยของข้อมูลที่ปลอมแปลงได้ยาก ทั้งนี้ บริษัทฯ จะมุ่งมั่นให้ความสำคัญ และจะยกระดับพัฒนาการบริการรวมถึงมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อการเติบโตก้าวหน้าอย่างยั่งยืนและเคียงคู่ไปพร้อม ๆ กัน"

นายปริญญา มานัสสถิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แปซิฟิค คอนเทนเน่อร์แบ้ก จำกัด กล่าวว่า "บริษัทมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมกับธนาคารกรุงเทพทดสอบการเปิด L/C ด้วยเทคโนโลยี Blockchain ในครั้งนี้ นับเป็นการเริ่มต้นในการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศของบริษัท โดยธุรกรรมใช้เวลาน้อยลงอย่างมาก ช่วยลดต้นทุน ในขณะที่มีความปลอดภัย โปร่งใส เพราะทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถรับทราบข้อมูลที่ทั่วถึงกันได้แบบ real time"