- ก.พ. ๒๕๖๖ พช.พัทลุง จับมือ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดพัทลุง ร่วมขับเคลื่อนท่องเที่ยวเชิงอาหารวิถีถิ่นพัทลุง
- ก.พ. ๒๕๖๖ พช.พัทลุง เสริมแกร่งขยายขีดความสามารถการค้าภาคใต้ ร่วมเปิดกิจกรรมพาณิชย์ลดราคาช่วยประชาชน และการเจรจาธุรกิจ Online Business Matchin
- ก.พ. ๒๕๖๖ 'เฉลิมชัย’ รุดเคลียร์แกนนำแก้ปัญหาราคายาง พร้อมร่วมคณะ 'จุรินทร์’ ชี้แจงโครงการประกันรายได้ชาวพัทลุง
ความสำคัญ วันนี้ เมื่อปีพุทธศักราช 2513 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงานแนะแนวอาชีพและแข่งขันฝีมือช่างแห่งชาติ ณ ลุมพินีสถาน และพระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับการช่างของไทย ความตอนหนึ่งว่า
"...ช่างทุกประเภท เป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตของบ้านเมืองและของทุกคน เพราะตลอดชีวิตของเรา เราต้องอาศัยและใช้บริการหรือสิ่งต่างๆ ที่มาจากฝีมือของช่างอยู่ทุกวี่ทุกวัน ผู้เป็นช่างจึงสมควรได้รับความเอาใจใส่สนับสนุนจากทุกๆ ฝ่าย ยิ่งในสมัยปัจจุบันวิทยาการทุกอย่างเจริญก้าวหน้า ยิ่งจำเป็นต้องส่งเสริมมากเป็นพิเศษ เพื่อให้ได้ช่างที่มีความสามารถสูง ให้มีสิ่งใช้สอยที่มีคุณภาพดีและเพียงพอกับความต้องการ ในการส่งเสริมนั้น มีปัญหาอันควรจะได้พิจารณาช่วยเหลืออยู่สามประการ ประการแรก ได้แก่ ปัญหาเรื่องการให้ความรู้ทางหลักวิทยาการ และความรู้ทางการออกแบบ ประการที่สอง ได้แก่ ปัญหาเรื่องฝีมือ ซึ่งจะต้องปรับปรุงให้มีความประณีตและประสิทธิภาพได้มาตรฐานจริงๆ ประการที่สาม ได้แก่ ปัญหาเรื่องการจัดหางานและหาตลาด เพื่อช่วยให้ช่างได้มีงานทำ มีตลาดที่จะส่งสินค้าที่ผลิตได้ไปจำหน่าย การช่วยเหลือทั้งสามประการนี้ จะต้องกระทำให้สอดคล้องกันไป เพื่อให้ช่างมีรายได้และผลกำไร สำหรับนำมาเป็นทุนรอนสร้างฐานะและความก้าวหน้า ข้าพเจ้าใคร่ขอฝากความคิดทั้งนี้ไว้เป็นแนวทางปฏิบัติของท่านทั้งหลายต่อไป "
จากกระแสพระราชดำรัสดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงสายพระเนตรอันยาวไกลที่มีพระราชดำริถึงความสำคัญของช่างฝีมือ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อทุกคนในสังคมจึงจำเป็นต้องพัฒนาให้มีฝีมือตาม มาตรฐานฝีมือแรงงาน เพราะนั่นหมายถึงคุณภาพของสินค้าและบริการ ตลอดจนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อประเทศไทย แม้จะผ่านมาถึง 51 ปีแล้ว ยังคงทันสมัยและนับวันจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ในการพัฒนากำลังแรงงานให้มีฝีมือ พัฒนาสู่มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งด้านการผลิตสินค้าและบริการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ สร้างการยอมรับในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและประชาคมโลก
เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 คณะรัฐมนตรีมีมติถวายพระราชสมัญญาแด่พระองค์ท่านให้เป็น "พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย" พร้อมกับกำหนดให้วันที่ ๒ มีนาคม ของทุกปี เป็นวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านอย่างหาที่สุดมิได้ พระองค์ทรงเป็นที่รักของปวงชนชาวไทย ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ จะสถิตอยู่ในดวงใจตราบนิรันดร์.
ที่มา: สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานพัทลุง