"พลเอก ประวิตร"ลงพื้นที่ติดตามการแก้ปัญหาน้ำเค็มแม่น้ำเจ้าพระยา

03 Mar 2021

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำบางปะกง โดยมี นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน นายกวี อารีกุล ผู้ว่าการการประปานครหลวง พร้อมด้วยผู้แทนการประปาส่วนภูมิภาคและหน่วยงานในพื้นที่ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมชั้น 1 เขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา และได้ลงพื้นที่ดูสภาพพื้นที่บริเวณเขื่อนพระรามหกเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำด้วย

"พลเอก ประวิตร"ลงพื้นที่ติดตามการแก้ปัญหาน้ำเค็มแม่น้ำเจ้าพระยา

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า วันนี้มาลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและรับทราบมาตรการบริหารจัดการน้ำช่วยควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาและบางปะกงของหน่วยที่รับผิดชอบ ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญและมีความห่วงใยประชาชนเป็นอย่างมาก วันนี้ได้รับฟังรายงานของ กอนช. พบว่า ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาเกินเกณฑ์มาตรฐานในการผลิตน้ำประปา ส่งผลกระทบกับการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน ซึ่งหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของ กอนช.ก็ได้บูรณาการความร่วมมือกันจนทำให้สามารถแก้ไขปัญหาลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนได้เป็นอย่างดี สำหรับในช่วงเดือนมีนาคม 2564 นี้ จะยังมีภาวะน้ำทะเลหนุนสูงสุดอีก 2 ครั้ง ที่ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ ในช่วงวันที่ 9-12 มี.ค. และ 26-28 มี.ค. ในวันนี้ก็ได้มอบหมายให้กรมชลประทานร่วมกับการประปานครหลวง บริหารจัดการน้ำจากเขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยต้องควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ให้เกินเกณฑ์คุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร มีการกำหนดแผนปฏิบัติการให้ชัดเจน และให้ประเมินน้ำต้นทุนพร้อมวางแผนการใช้น้ำอย่างประหยัดให้เพียงพอสำหรับต้นฤดูฝน ส่วนการนำน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาช่วยผลักดันและเจือจางน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาให้ใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงมหาดไทย เร่งสร้างการรับรู้เพื่อควบคุมการเพาะปลูกพืชในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาให้เป็นไปตามแผนอย่างเคร่งครัด และกำหนดมาตรการลดผลกระทบ ชดเชยหรือเยียวยา ให้แก่เกษตรกรที่ไม่สามารถเพาะปลูกพืชตามแผนได้เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ในส่วนของจังหวัดให้ควบคุมพื้นที่ไม่ให้สูบน้ำใช้ระหว่างทางเพื่อลดปริมาณน้ำสูญเสียที่จะนำไปช่วยผลักดันน้ำเค็ม สำหรับแผนงานระยะยาว มอบให้การประปานครหลวง เร่งรัดแผนงานโดยพิจารณาย้ายจุดสูบน้ำสำรองหรือจัดทำระบบผลิตน้ำจืดจากน้ำกร่อยเพื่อป้องกันความเสี่ยงกรณีค่าความเค็มบริเวณสถานีสูบน้ำสำแลสูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน นอกจากนี้ให้ สทนช. พิจารณาหาแนวทางเลือกเพิ่มเติมกรณีเกิดวิกฤติในอนาคต เช่น การสร้างอาคารควบคุมที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการรุกตัวของน้ำเค็ม เป็นต้น

ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า ในปีนี้แม้ว่าทุกหน่วยงานจะมีการเตรียมพร้อมและดำเนินการแก้ไขปัญหาตามแผนควบคุมน้ำเค็มอย่างต่อเนื่อง แต่กลับมีปัจจัยเพิ่มเติมที่ส่งผลกระทบต่อแผนการดำเนินการผลักดันน้ำเค็ม อาทิ ทิศทางลมและกระแสคลื่นส่งผลให้ระดับน้ำทะเลหนุนสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า 30 ซม. อีกทั้งค่าความเค็มที่เกิดขึ้นในปีนี้ยังมีค่าสูงถึง 2.53 กรัม/ลิตร ซึ่งเป็นค่าสูงสุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา นอกจากนั้น ปริมาณน้ำต้นทุนที่วางแผนในการใช้สำหรับผลักดันน้ำเค็มยังเกิดการสูญเสียน้ำระหว่างทาง รวมกว่า 750 ล้าน ลบ.ม. โดยปริมาณน้ำได้ถูกดึงไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ ประกอบด้วย น้ำเพื่อการเกษตร 8.06 ล้าน ลบ.ม./วัน น้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค 1.32 ล้าน ลบ.ม./วัน รวมทั้งมีการเพาะปลูกข้าวนาปรังนอกแผน 2.78 ล้านไร่ และน้ำเสียที่ปล่อยสู่แม่น้ำมีปริมาณเพิ่มขึ้นด้วย

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาค่าความเค็มในแม่น้ำสายสำคัญในระยะเร่งด่วน กอนช. ได้กำหนดมาตรการดังนี้ 1.แม่น้ำเจ้าพระยา โดยการเพิ่มการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลักเจ้าพระยาที่ไม่กระทบปริมาณน้ำสำรองต้นฤดูฝน และการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองไม่เกิน 500 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งการควบคุมการสูญเสียน้ำระหว่างทางและการควบคุมการระบายน้ำเสีย 2.แม่น้ำท่าจีน ได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 2 เครื่อง บริเวณจุดต้นคลองจินดาเพื่อผลักดันน้ำที่เพิ่มเข้ามา ผ่านคลอง 6,7 และ 8ข-5ซ ลงคลองระบายท่าผา คลองบางแก้ว และคลองตาปลั่ง ตามลำดับ การส่งน้ำเข้าระบบชลประทานเพื่อเจือจางค่าความเค็มในคลอง และเพิ่มการระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำโพธิ์พระยา ประตูระบายน้ำสองพี่น้อง และคลองท่าสาร-บางปลา ลงสู่แม่น้ำท่าจีนตอนล่างเพื่อผลักดันน้ำเค็ม และ 3.แม่น้ำบางปะกง มีการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำทั้ง 3 แห่ง ในลุ่มน้ำบางปะกง-ปราจีนบุรี ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำพระปรง จ.สระแก้ว อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี และอ่างเก็บน้ำพระสะทึง จ.สระแก้ว

"รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ได้ย้ำให้ทุกหน่วยงานดำเนินการคุมเข้มมาตรการต่างๆ อย่างเคร่งครัด ทั้งการสูบน้ำไปใช้ระหว่างทางและการเพาะปลูกพืชเกินแผน เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยต้องคำนึงถึงประโยชน์ของทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม ในส่วนมาตรการควบคุมความเค็มแม่น้ำเจ้าพระยาในระยะยาว มีแผนงาน/โครงการ ประกอบด้วย 1.การขยายกำลังการผลิตน้ำประปาโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์และก่อสร้างอุโมงค์ข้ามมาฝั่งตะวันออก 2.การพัฒนาระบบน้ำดิบ โดยเพิ่มจุดรับน้ำดิบในแม่น้ำเจ้าพระยา (ระยะที่ 1) ปรับปรุงคลองประปาฝั่งตะวันตก และปรับปรุงระบบส่งน้ำดิบคลองประปาฝั่งตะวันออก 3.เพิ่มจุดรับน้ำดิบในแม่น้ำเจ้าพระยา (ระยะที่2) 4.โครงการประสิทธิภาพการระบายน้ำพื้นที่ตอนล่างของฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน 5.การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองจรเข้สามพัน คลองสองพี่น้อง-คลองพระยาบรรลือ และการก่อสร้างประตูระบายน้ำแม่น้ำท่าจีน รวมทั้งการสร้างโรงงานผลิตน้ำกร่อยเป็นน้ำจืดด้วย" เลขาธิการ สทนช. กล่าวตอนท้าย

"พลเอก ประวิตร"ลงพื้นที่ติดตามการแก้ปัญหาน้ำเค็มแม่น้ำเจ้าพระยา