กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จับมือกับเครือข่ายผู้ผลิตวัคซีนต่างประเทศทดสอบความแรงวัคซีนไอกรนด้วยวิธีใหม่ เพื่อลดการใช้สัตว์ทดลอง

23 Mar 2021

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับเครือข่ายผู้ผลิตวัคซีนต่างประเทศ ร่วมทดสอบความถูกต้องวิธีวิเคราะห์ความแรงวัคซีนไอกรน ด้วยวิธีตรวจระดับภูมิคุ้มกันในซีรั่มเพื่อใช้ตรวจสอบคุณภาพวัคซีนไอกรนทดแทนวิธีเดิมที่ต้องฉีดเชื้อเข้าสมองหนูทดลอง

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จับมือกับเครือข่ายผู้ผลิตวัคซีนต่างประเทศทดสอบความแรงวัคซีนไอกรนด้วยวิธีใหม่ เพื่อลดการใช้สัตว์ทดลอง

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำหน้าที่เป็นห้องปฏิบัติการภาครัฐและเป็นห้องปฏิบัติการขององค์การอนามัยโลกในการตรวจวิเคราะห์เพื่อควบคุมคุณภาพวัคซีนและยาชีววัตถุของประเทศ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและความปลอดภัย ดังนั้นวิธีทดสอบที่ใช้สำหรับการตรวจทางห้องปฏิบัติการถือเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น เพื่อให้ผลการวิเคราะห์มีความถูกต้อง น่าเชื่อถือ และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล สถาบันชีววัตถุและเครือข่ายผู้ผลิตวัคซีนของประเทศกำลังพัฒนา (The Developing Countries Vaccine Manufactures Network, DCVMN) รวมทั้งหน่วยงานควบคุมกำกับภาครัฐ จำนวน 12 แห่ง จาก 5 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย บัลแกเรีย เนเธอร์แลนด์ และประเทศไทย ได้มีการศึกษาร่วมกันในโครงการ Pertussis Serological Potency Test หรือ PSPT เพื่อทดสอบความถูกต้องวิธีวิเคราะห์ความแรงวัคซีนไอกรน ด้วยวิธีตรวจระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไอกรนจากซีรั่มของสัตว์ทดลองที่ได้รับการฉีดวัคซีนไอกรนทั้งตัว (whole cell pertussis vaccine) เพื่อนำวิธีใหม่นี้มาใช้ทดแทนวิธีเดิมที่ตรวจโดยการฉีดเชื้อไอกรนเข้าสู่สมองหนูถีบจักร ซึ่งโครงการนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเครือข่ายผู้ผลิตและหน่วยงานห้องปฏิบัติการควบคุมคุณภาพภาครัฐของแต่ละประเทศ ด้วยมีจุดประสงค์ที่จะลดการใช้สัตว์ทดลองและลดความเจ็บปวดของสัตว์ทดลองที่ถูกนำมาใช้ ตามหลัก 3Rs (Reduction, Replacement, Refinement) ลด ละ เลิกการใช้สัตว์ทดลอง ซึ่งทั่วโลกกำลังดำเนินการตามหลักการนี้

"การทดสอบความแรงวัคซีนไอกรนด้วยวิธีใหม่สามารถช่วยลดการใช้สัตว์ทดลองลงได้เกือบครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับวิธีเดิมที่ใช้สัตว์ทดลอง จำนวน 210 ตัว ลดลงเหลือ 100 ตัวต่อการทดสอบ 1 ครั้ง นอกจากนี้การทดสอบด้วยวิธีใหม่ยังลดการสัมผัสเชื้อไอกรนจากการเพาะเชื้อที่ต้องใช้ในการทดสอบแบบเดิม เนื่องจากวิธีใหม่นี้เป็นการตรวจหาระดับแอนติบอดีที่ไม่ต้องใช้เชื้อไอกรนที่ก่อโรคได้ อย่างไรก็ตามความร่วมมือกันระหว่างประเทศนี้ จะเริ่มดำเนินการได้ประมาณกลางปี 2564 และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปลายปี 2564 นี้ ถ้าผลการศึกษาระหว่างวิธีใหม่กับวิธีเดิมมีความสอดคล้องกัน จะทำให้เกิดการยอมรับจากห้องปฏิบัติการ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่จะนำวิธีใหม่มาใช้เป็นวิธีมาตรฐาน เพื่อทดสอบความแรงของวัคซีนไอกรนชนิดทั้งตัวต่อไป" นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว