USD Futures ตัวช่วยบริหารความเสี่ยงที่สำคัญยามอัตราแลกเปลี่ยนผันผวน

23 Mar 2021

สำหรับภาคธุรกิจหรือผู้ที่มีธุรกรรมเกี่ยวข้องกับการใช้เงินตราต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนมีผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อผลกำไรหรือขาดทุนที่จะเกิดขึ้น แม้ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในบางประเทศจะเริ่มผ่อนคลาย เนื่องจากมีความคืบหน้าในการจัดหาและกระจายวัคซีน แต่ปัญหาสำคัญที่ไม่อาจจะเลี่ยงได้ คือ ผลกระทบทางเศรษฐกิจและความผันผวนของค่าเงินที่พร้อมผันแปรตามปัจจัยทั่วโลก ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) จึงได้ร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารกรุงไทย จัดสัมมนาพิเศษเพื่อส่งเสริมความรู้เรื่องการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนด้วย USD Futures รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ประกอบการและผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เริ่มที่หัวข้อแรก "วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลก : เตรียมพร้อมรับมือกับความผันผวนของค่าเงิน"

USD Futures ตัวช่วยบริหารความเสี่ยงที่สำคัญยามอัตราแลกเปลี่ยนผันผวน

ดร.มานะ นิมิตรวานิช ผู้อำนวยการ ฝ่าย Business Risk and Macro Research ธนาคารกรุงไทย ให้มุมมองว่า เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวชัดเจนขึ้นแม้มีการระบาดโควิด-19 รอบ 2 แต่ภาคอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ดี โดยอัตราติดเชื้อทั่วโลกลดลง ขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนทั่วโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจจนหลายประเทศทั่วโลกมีการขยายตัวเศรษฐกิจดีขึ้น รวมถึงกลุ่มประเทศ CLMV ที่จีดีพีกลับมาเป็นบวกในเดือน ก.พ. ขณะที่ไทยเริ่มคลายล็อกดาวน์ตั้งแต่เดือน ก.พ. และตัวเลข ธปท. พบว่าเกือบทุกอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น ยกเว้นเรื่องการท่องเที่ยว

หนึ่งในปัจจัยที่ต้องจับตา คือ การปรับตัวขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี ของสหรัฐฯ (Bond Yield) ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และตัวเลขเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้น รวมถึงต้องดูว่านโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะเป็นอย่างไร เพราะจะมีผลต่อความผันผวนของค่าเงิน ซึ่งผู้ประกอบการส่งออกต้องหาเครื่องมือช่วยบริหารความเสี่ยง

"สุโชติ เปี่ยมชล" ผู้อำนวยการ ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย มองว่า การป้องกันความเสี่ยงค่าเงินเป็นเรื่องสำคัญ เพราะความผันผวนในตลาดการเงินโลกมีแต่จะมากขึ้น แม้อัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนไม่สามารถควบคุมได้ แต่ความเสี่ยงดังกล่าวสามารถบริหารจัดการได้ ปัจจุบันผู้ประกอบการบริหารค่าเงิน 30% ขณะที่ SME ทำเพียง 10-15% เท่านั้น ซึ่งถือเป็นระดับที่อันตราย สำหรับข้อดีของการบริหารความเสี่ยงค่าเงินนั้น ถือเป็นการล็อคต้นทุนอัตราแลกเปลี่ยนไว้ล่วงหน้า ทำให้มุ่งดำเนินธุรกิจได้อย่างเต็มที่และรายได้มีเสถียรภาพไม่เหวี่ยงมากเกินไป

ปัจจุบันมี 6 วิธีบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน คือ 1) Forward เป็นการทำสัญญากับสถาบันการเงินว่าจะซื้อขายเงินตราต่างประเทศไว้ล่วงหน้าแบบไม่ต้องรอลุ้น ซึ่งถ้ามีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารอยู่แล้วก็จะได้รับวงเงินการทำ Forward โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่ SME จะเข้าถึงยาก 2) FX Futures เป็นการทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศผ่านตลาดซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งเหมาะสำหรับ SME ที่ไม่ได้มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคาร โดย Futures คล้ายกับ Forward เพียงแต่ไม่ต้องมีวงเงินกับธนาคาร แต่มีเงื่อนไขในการวางหลักประกัน (Margin) 3) FX Option เป็นการทำประกันค่าเงิน ซึ่งช่วยป้องกันความเสี่ยงได้ดี แต่ค่าพรีเมี่ยมในการใช้บริการสูง 4) การเปิดบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) 5) การหักกลบรายได้รายจ่ายสกุลเงินต่างประเทศ (Netting & Matching) และ 6) การใช้เงินสกุลท้องถิ่น

สำหรับหัวข้อที่ 2 "บริหารความเสี่ยงค่าเงินอย่างมั่นใจด้วย USD Futures และบริหารแลกดอลล่าร์รายวันผ่านเทคโนโลยี Blockchain (JEDI)"

ดร.จักรพันธ์ ติระศิริชัย ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์-อนุพันธ์ บมจ. ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) หรือ TFEX กล่าวว่า USD Futures ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยตอบโจทย์ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก หรือผู้ที่มีการลงทุนในต่างประเทศ ให้สามารถเข้าถึงเครื่องมือได้ง่าย แค่เพียงมีบัญชีซื้อขาย TFEX ซึ่งสะดวกกับผู้ประกอบการรายย่อยเพราะไม่ต้องไปพึ่งวงเงินกับธนาคาร และไม่จำเป็นต้องใช้วงเงินเป็นจำนวนที่มาก เพียงแค่วางเงินประกันสัญญาละไม่เกิน 500 บาท ก็สามารถใช้บริหารความเสี่ยงได้เลย ซึ่ง USD Futures 1 สัญญาเทียบเท่ากับการซื้อขาย 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

"USD Futures สามารถนำมาใช้บริหารค่าเงินได้ทั้ง 2 ขา ไม่ว่าเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น หรืออ่อนค่าลง เช่น กรณีผู้นำเข้ากังวลว่าดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นเมื่อถึงกำหนดต้องจ่ายเงินในอนาคต ควรเปิดสถานะซื้อ (Long) USD Futures เท่ากับล็อคค่าเงินดอลลาร์ไว้ตั้งแต่แรก ขณะที่ผู้ส่งออกที่มีแผนจะรับเงินดอลลาร์ในอนาคต ก็ควรเปิดสถานะขาย (Short) USD Futures เท่ากับล็อคค่าเงินดอลลาร์ไว้ล่วงหน้า หรือกรณีผู้ที่เอาเงินไปลงทุนต่างประเทศ เช่น ซื้อกองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) การไป Short หรือขาย USD Futures เอาไว้ ก็จะทำให้มีกำไรจาก USD Futures มาชดเชยกับขาดทุนเมื่อขายกองทุนกลับมาได้ พูดง่ายๆ ว่าการใช้ USD Futures สามารถช่วยล็อครายได้หรือค่าใช้จ่ายให้อยู่ในระดับที่คาดการณ์ไว้"

ล่าสุด TFEX ยังได้ร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย พัฒนาบริการแลกดอลลาร์รายวัน สำหรับผู้ซื้อขาย USD Futures โดยอาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชนมาช่วยเพิ่มความมั่นใจและทำให้ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก หรือผู้ที่ลงทุนต่างประเทศสามารถใช้งานได้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

"วรงค์ วงศ์สินอุดม" ผู้อำนวยการ ฝ่าย Product Solutions and Markets Innovation ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า สิ่งที่กรุงไทยทำ คือ การพัฒนาและต่อยอดการบริการ USD Futures ให้ครบถ้วนมากยิ่งขึ้น โดยแก้ข้อจำกัด (Pain point) ที่ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก ไม่สามารถนำเงินไปจ่ายให้ซัพพลายเออร์ได้เพราะเงินอยู่ใน USD Futures ด้วยการบริการแลกดอลลาร์รายวัน Joint-Exchange Development Initiation (JEDI)

"JEDI เป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมระบบของ TFEX และกรุงไทยเข้าด้วยกัน ด้วยการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการดำเนินงานธุรกรรมออนไลน์และยืนยันตัวตน ซึ่งทำให้เกิดความปลอดภัยและใช้งานได้สะดวก ที่สำคัญทำให้ต้นทุนในการดำเนินงานของกรุงไทยลดลง จึงส่งผลให้สามารถคิดอัตราแลกเปลี่ยนในอัตราพิเศษกับลูกค้าได้ จากเดิมที่อาจต้องรอให้เกิดวอลุ่มการทำธุรกรรมที่เยอะก่อนถึงจะได้อัตราพิเศษ แต่นี่เพียงมีสถานะ USD Futures 1 สัญญาก็สามารถได้เรทพิเศษแล้ว"

สำหรับผู้ประกอบการและผู้ลงทุนที่สนใจซื้อขาย USD Futures สามารถติดต่อโบรกเกอร์ TFEX หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.TFEX.co.th โทร. 0-2009-9999 หรือผู้สนใจใช้บริการแลกเงินดอลลาร์รายวัน สอบถามรายละเอียดได้ที่ Krungthai Corporate FX Sales 0-2208-4646

USD Futures ตัวช่วยบริหารความเสี่ยงที่สำคัญยามอัตราแลกเปลี่ยนผันผวน
ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit