อธิบดี พช. ลงพื้นที่ฟังเสียงประชาชน พร้อมตรวจเยี่ยม "โคก หนอง นา พช." อำเภอพรหมคีรี

15 Jun 2021

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช และผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมครัวเรือนของ นายบุญฤทธิ์ รัศมีสมศรี เจ้าของแปลงพื้นที่ขนาด 1 ไร่ ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ "โคก หนอง นา" ณ บ้านน้ำใส หมู่ที่ 7 ตำบลอินคีรี อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช

อธิบดี พช. ลงพื้นที่ฟังเสียงประชาชน พร้อมตรวจเยี่ยม "โคก หนอง นา พช." อำเภอพรหมคีรี

นายจรัญ อินทสระ พัฒนาการจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับการอนุมัติดำเนินโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 กิจกรรมพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ "โคก หนอง นา" จำนวน 8,870,000 บาท โดยมีกลุ่มเป้าหมาย พื้นที่เรียนรู้ชุมชน 139 แห่ง แบ่งเป็นพื้นที่ขนาด 1 ไร่ จำนวน 95 แปลง และพื้นที่ขนาด 3 ไร่ จำนวน 44 แปลง นอกจากนี้ ในส่วนของอำเภอพรหมคีรี มีพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง พื้นที่ 1 ไร่ จำนวน 1 แปลง และพื้นที่ 3 ไร่ จำนวน 1 แปลง รวมทั้งหมด 2 แปลง

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า โครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ในกิจกรรมพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ "โคก หนอง นา" เป็นโครงการที่น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาประยุกต์ในรูปแบบ โคก หนอง นา ส่วนแรก เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องคนไทย เพราะคนไทยส่วนใหญ่ทำไร่ ทำนา เป็นชาวไร่ ชาวสวนอยู่แล้ว ส่วนที่สอง โครงการฯ ได้มีส่วนส่งเสริมสิ่งที่พี่น้องประชาชนขาด นั่นก็คือ เรื่องงบลงทุน ในการที่จะขุดหนอง ทำคลองไส้ไก่ ปั้นโคก ต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อย ซึ่งรัฐบาลได้สนับสนุนจึงทำให้พี่น้องประชาชนมีแหล่งกักเก็บน้ำ เป็นโอกาสที่ได้พัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่ง "โคก หนอง นา พช." ทำให้เกิดความรัก ความสามัคคี เพราะว่ากิจกรรมที่ดำเนินการใน 25,000 กว่าแปลงทั่วประเทศ เป็นกิจกรรมที่สร้างให้เกิดความร่วมมือ ที่เรียกว่า 'เอามื้อสามัคคี' หรือที่ทางใต้เรียกว่า 'ออกปาก' แปลงหนึ่งอย่างน้อยดำเนินการ 3 ครั้ง ก็จะทำให้สิ่งที่เราเรียกว่าความรักความสามัคคีจากความเหนื่อยยากได้ช่วยเหลือกัน พี่น้องประชาชนก็จะได้เอาวัฒนธรรมเก่า ๆ ที่บรรพบุรุษเราได้เคยทำไว้เป็นตัวอย่าง มีอะไรช่วยกัน ออกปากกัน มีข้าวก็หิ้วข้าวมา มีแกงก็หิ้วแกงมา ถ้าไม่มี เจ้าของพื้นที่ก็เลี้ยง และในส่วนที่สำคัญที่สุดคือ ชาวบ้านเห็นผลสำเร็จด้วยตาตนเองจากพื้นที่ดำเนินการมีความอุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เขาจะมีความมั่นคงในคุณภาพชีวิต หากออกแบบพื้นที่ได้ดี เหมาะสมเพียงพอ ในพื้นที่ก็จะอุดมไปด้วยอาหารการกิน สามารถเลี้ยงดูชีวิตได้อีกมากมาย ทั้งนี้ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้ฝากทิ้งท้ายถึงเรื่องการปลูกยางนา ในพื้นที่แปลงโคก หนอง นา ไว้ว่า การปลูกยางนามีประโยชน์หลายประการ เช่น การปลูกเพื่อประโยชน์ทางด้านนิเวศ ให้ร่มเงา กำบังลม ให้ความชุ่มชื้น ควบคุมอุณหภูมิในอากาศ ป้องกันการพังทลายของหน้าดิน เป็นไม้เนื้อแข็งใช้สร้างบ้านเรือนเป็นที่อยู่อาศัยได้ และยังมีประโยชน์ด้านอื่นอีกมากมาย ซึ่งการปลูกต้นไม้ก็เหมือนการเอาเงินไปฝากสะสมไว้ในธนาคาร เพราะต้นไม้แต่ละต้นจะมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ สามารถเปลี่ยนเป็นเงินไว้ใช้ในยามจำเป็น โดยอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวเสริมว่า การปลูกไม้หลากหลายพันธุ์ หลากหลายชนิดก็จะเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ไม้ ตามแนวทางโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) บนฐานทรัพยากร 3 ฐาน คือ ทรัพยากรกายภาพ ทรัพยากรชีวภาพ ทรัพยากรวัฒนธรรมและภูมิปัญญา

นายบุญฤทธิ์ รัศมีสมศรี เจ้าของแปลง ได้กล่าวขอบคุณกรมการพัฒนาชุมชนที่เข้ามาขับเคลื่อนโครงการฯ ช่วยเหลือทำให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตนดีใจเป็นอย่างมากที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ และจากการที่ท่านอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ท่านประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ตลอดจนผู้บริหารทุกท่านได้มาเยี่ยมชมพื้นที่ดำเนินงานโครงการฯ ในแปลงเล็ก ๆ ของตนนั้น รู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งเป็นการสร้างขวัญกำลังให้กับผู้ปฏิบัติงาน ไม่เคยคาดคิดว่าจะมีผู้บริหารระดับสูงมาเยี่ยมและให้กำลังใจด้วยตนเอง รวมถึงได้ปลูกต้นไม้ในพื้นที่ดำเนินการฯ ด้วยมือเปล่า ขณะปลูกก็ได้ชี้แนะวิธีการ หลักการที่เป็นความรู้ ตลอดจนได้ให้คำแนะนำในการพัฒนาต่อยอด ถือเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับชาวบ้านอีกหลายคนที่เชื่อมั่นในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เราจะเห็นด้วยตาของตนเองไปพร้อม ๆ กันว่า "โคก หนอง นา พช." สามารถทำให้ครัวเรือนเลี้ยงตนเอง เลี้ยงชุมชน จนสามารถทำให้ชุมชนมีความมั่นคงทางอาหาร แม้จะต้องตกอยู่ภายใต้สถานการณ์วิกฤตจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หลังจากนี้ 3 เดือน หากท่านอธิบดีกลับมาที่นี่อีกครั้ง จะเห็นว่าพื้นที่ตรงนี้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร โดยตนเองขอให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำให้พื้นที่แห่งนี้อุดมสมบูรณ์ แม้จะเป็นแค่หมู่บ้านเล็กๆ แต่ก็จะเป็นพลังในการช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงาน "โคก หนอง นา พช." นครศรีธรรมราช รวมถึงเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับครัวเรือนอื่นๆ ต่อไป

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ในกิจกรรมพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ "โคก หนอง นา" จะช่วยให้พี่น้องประชาชนสามารถฟื้นตัว และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน เมื่อเทียบกับการลงทุนในด้านอื่นๆ ถือว่ามีความเสี่ยงที่น้อย แต่กลับได้ผลประโยชน์อย่างคุ้มค่าและทั่วถึงตามหลักทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นหลักประกันในการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง พัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ยกระดับขีดความสามารถของชุมชนให้พึ่งตัวเองได้อย่างยั่งยืน เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง และชุมชนพึ่งตนเองได้ ภายในปี 2565

อธิบดี พช. ลงพื้นที่ฟังเสียงประชาชน พร้อมตรวจเยี่ยม "โคก หนอง นา พช." อำเภอพรหมคีรี