ปตท. มีความสามารถในการรองรับหนี้ที่เพิ่มโดยไม่กระทบต่ออันดับเครดิตเพียงพอสำหรับการเข้าซื้อกิจการ

20 Jul 2021

ฟิทช์ เรทติ้งส์กล่าวว่าการเข้าซื้อกิจการ (Acquisition) โดยบริษัทลูกของบริษัท ปตท . จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. (อันดับเครดิตที่ระดับ BBB+/AAA(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ในธุรกิจปิโตรเคมีและธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งสอดคล้องกับแผนธุรกิจในเรื่องการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy transition) ของ ปตท. จะช่วยเพิ่มการกระจายการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคต่างๆ และความหลากหลายของธุรกิจ (Geographic and business diversification) มากขึ้น แม้ว่าการเข้าซื้อกิจการดังกล่าว จะทำให้อัตราส่วนหนี้สินของ ปตท. เพิ่มขึ้นในช่วง 2 ปีข้างหน้า แต่อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ ณ ปัจจุบันที่อยู่ในระดับต่ำ น่าจะเพียงพอในการรองรับหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากการเข้าซื้อกิจการโดยไม่กระทบต่ออันดับเครดิตได้

แผนการเข้าซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของ Allnex Holding GmbH (Allnex) ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจผลิต Coating Resins ชั้นนำในโลก ของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC (อันดับเครดิตที่ระดับ AA+(tha) แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) ด้วยเงินลงทุนประมาณ 4 พันล้านเหรียญยูโร หรือประมาณ 1.5 แสนล้านบาท น่าจะช่วยขยายธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลาย และเพิ่มการกระจายการดำเนินธุรกิจไปยังภูมิภาคต่างๆ มากขึ้น โดย Allnex มีโรงงานผลิตอยู่ 33 แห่งกระจายไปทั่วโลก มียอดขายในภูมิภาคต่างๆ แบ่งเป็นทวีปอเมริกา (ร้อยละ 24 ของยอดขายในปี 2563) ทวีปยุโรปตะวันออกกลางและแอฟริกา (ร้อยละ 40) และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ร้อยละ 36) PTTGC คาดว่าการเข้าซื้อหุ้นครั้งนี้ จะทำให้ปริมาณยอดขายของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5 ในปี 2565 และช่วยเพิ่มกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA)ให้กับบริษัทฯ ประมาณ 400 ถึง 500 ล้านเหรียญยูโร นอกจากนี้ การเข้าซื้อหุ้นครั้งนี้น่าจะช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง (High-value products) ให้กับ PTTGC รวมถึงทำให้บริษัทฯ มีกำไรจากการดำเนินงานที่มีเสถียรมากขึ้น และอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (EBITDA margin) เพิ่มขึ้น เนื่องจากธุรกิจของ Allnex มี EBITDA margin ที่สูงกว่าของ PTTGC

แผนการเข้าซื้อหุ้นสามัญร้อยละ 41.6 ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศอินเดีย และหุ้นสามัญร้อยละ 25 ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศไต้หวัน ของบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC (อันดับเครดิตที่ระดับ 'A+(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ด้วยเงินลงทุนประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท และ 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท) ตามลำดับ จะช่วยเพิ่มสินทรัพย์ประเภทโรงไฟฟ้าพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนให้กับบริษัทฯ และเป็นไปตามแผนการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าของ ปตท . ที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจำนวน 8,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2573 โดยกระแสเงินสดจากโครงการเหล่านี้ GPSC จะได้รับในรูปแบบของเงินปันผล ซึ่งจะมีจำนวนค่อนข้างน้อยสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศอินเดีย เนื่องจากบริษัทที่ไปลงทุนมีแผนที่จะนำกระแสเงินสดจากการดำเนินงานไปใช้ในการขยายกำลังการผลิตในอนาคตต่อไป แม้ว่าฟิทช์เชื่อว่าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศอินเดียจะมีความเสี่ยงในการดำเนินงานที่สูงกว่า เมื่อเทียบกับโครงการโรงไฟฟ้าที่บริษัทฯ ดำเนินการอยู่ แต่เมื่อเทียบกับขนาดสินทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทฯ ยังคงไม่สูงมากนัก ดังนั้นทำให้ความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจของบริษัทไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก

โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศอินเดีย ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 1,392 เมกะวัตต์ที่ดำเนินการผลิตแล้ว และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 2,352 เมกะวัตต์ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และคาดว่าจะแล้วเสร็จและเริ่มการผลิตได้ในปี 2564-2565 ในขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศไต้หวันจะมีกำลังการผลิตรวมที่ 595 เมกะวัตต์ โดย 96 เมกะวัตต์จะเริ่มดำเนินการผลิตในปี 2565 และที่เหลือจะเริ่มดำเนินการผลิตในช่วงปี 2566 ถึงไตรมาสแรกของปี 2567

เงินลงทุนดังกล่าวน่าจะทำให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO net leverage) ของปตท. เพิ่มขึ้นประมาณ 0.8 เท่าในปี 2565 โดยมิได้พิจารณารวมกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของกิจการที่เข้าซื้อ ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิดังกล่าวของ ปตท. จะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 2.5 ถึง 2.7 เท่าในปี 2564-2565 (1.8 เท่า ณ สิ้นปี 2563) ซึ่งยังคงต่ำกว่า 2.8 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ฟิทช์อาจพิจารณาปรับลดอันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ของ ปตท. หากอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ อยู่ในระดับสูงกว่าระดับนี้ อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการรองรับหนี้ที่เพิ่มโดยไม่กระทบต่ออันดับเครดิตของ ปตท. จะอยู่ในระดับที่จำกัด หลังจากการเข้าซื้อกิจการดังกล่าวแล้ว ปตท. จะมีการให้เงินกู้แก่ PTTGC และ GPSC เพื่อสนับสนุนการเข้าซื้อกิจการดังกล่าว แต่เงินกู้ดังกล่าวได้ถูกรวมอยู่ในการพิจารณาสถานะทางการเงินของ ปตท. ในภาพของงบการเงินรวมอยู่แล้ว

นอกจากนี้ อันดับเครดิตของปตท. จะยังคงเท่ากับอันดับเครดิตของประเทศไทย (อันดับเครดิตที่ระดับ BBB+ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) หากสถานะเครดิตโดยลำพังของ ปตท. ถูกปรับลงในอนาคต ภายใต้หลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตองค์กรที่มีความสัมพันธ์กับภาครัฐฯ (Government-Related Entities Rating Criteria) ของฟิทช์ โดยที่ความสัมพันธ์ระหว่างกันยังคงเหมือนเดิม