SHECU จุฬาฯ จัดงานสัปดาห์ความปลอดภัย Chula Safety 2021 เสริมสร้างความรู้ควบคู่ชีวิตวิถีใหม่ มุ่งสู่ความปลอดภัยรอบด้านและยั่งยืน

23 Aug 2021

วันที่ 18 สิงหาคม 2564 เวลา 13.00 - 16.00 น. คณะผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดยศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี และศาสตราจารย์ ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเปิดงานสัปดาห์ความปลอดภัย Chula Safety 2021 : ชีวิตวิถีใหม่สู่ความปลอดภัยอย่างยั่งยืน (New Normal Lifestyle for Sustainable Safety) ในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 - 20 สิงหาคม 2564

SHECU จุฬาฯ จัดงานสัปดาห์ความปลอดภัย Chula Safety 2021 เสริมสร้างความรู้ควบคู่ชีวิตวิถีใหม่ มุ่งสู่ความปลอดภัยรอบด้านและยั่งยืน

งานสัปดาห์ความปลอดภัยจัดโดยคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ คปอ. จุฬาฯ ร่วมกับส่วนงานในมหาวิทยาลัย คือ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย (ศสอ.) สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม (สว.) ศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม (ศปอส.) และการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัย คือ สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) และสมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) ในพระราชูปถัมภ์ฯ ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อการส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานและใช้ชีวิตที่มุ่งเน้นการบูรณาการแนวคิดทางวิชาการให้สอดคล้องกับรูปแบบการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงการวางแผนจัดการความปลอดภัยในอนาคต เพื่อส่งเสริมสังคมไทยสู่ความปลอดภัยอย่างยั่งยืน

พิธีเปิดมีกิจกรรมเวทีเสวนาในหัวข้อ "เรื่องจริงที่เกิดขึ้นในชีวิตวิถีใหม่รั้วจุฬาฯ" เป็นการร่วมเสวนาโดยศาสตราจารย์ ดร. จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย ทันตแพทย์ ดร. ณัฐวุฒิ คุตตะเทพ รองคณบดีฝ่ายบริหารคณะทันตแพทยศาสตร์ ศาสตราจารย์ ดร.พลกฤษณ์ แสงวณิช คณบดีคณวิทยาศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณพงศ์วิกรานต์ วิศรุตโชติกุล ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารความปลอดภัย บริษัท MBK จำกัด (มหาชน) พันธมิตรด้านการจัดการความปลอดภัยของมหาวิทยาลัย พูดคุยในประเด็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีต่อการเรียนการสอน การวิจัย และการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการกำหนดนโยบายและแนวทางการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้าน นอกเหนือจากแนวทางการดูแลป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคแล้ว มหาวิทยาลัยยังกำหนดให้มีแนวทางการดูแล นิสิต บุคลากรในด้านสุขภาพจิต การจัดการความเครียดจากการเรียนการทำงานออนไลน์ ครอบคลุมไปถึงการเยียวยาช่วยเหลือจากผลกระทบด้านสังคมและด้านเศรษฐกิจด้วย ตลอดช่วงการเสวนามีการนำเสนอกรณีศึกษาเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยและอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในอาคารสถานที่ทำงานในมหาวิทยาลัย อาทิ การเกิดอัคคีภัย ท่อประปาภายในอาคารและระบบการระบายอากาศเกิดการชำรุด เนื่องจากขาดการดูแลและใช้งานเป็นเวลานานในระหว่างที่มีการปฏิบัติงานจากที่พักอาศัย พร้อมด้วยมุมมองและวิธีการจัดการความปลอดภัยช่วงสถานการณ์วิกฤตจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในมิติของผู้ประกอบการและการเป็นพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเวทีเสวนาครั้งนี้ดำเนินรายการโดย อาจารย์ ดร. เจษฎา ศาลาทอง จากคณะนิเทศศาสตร์

ช่วงท้ายของกิจกรรมพิธีเปิดมีการประกาศรางวัลของโครงการประกวดต่าง ๆ ได้แก่ โครงการประกวดคลิป Tik Tok หัวข้อ "ความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน" การประกวดสื่อประชาสัมพันธ์คลิปวิดีโอขนาดสั้น หัวข้อ "New Safety Lifestyle of The Next Gen : วิถีความปลอดภัยใหม่ในแบบ NextGen" การประกวด "Chula Safety Ambassador 2021" และโครงการประกวดส่วนงานและบุคลากรด้านความปลอดภัยโดดเด่น ซึ่งมีนิสิต บุคลากร จุฬาฯ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนรวมทั้งประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมพิธีเปิดและการเสวนาครั้งนี้ผ่านระบบออนไลน์ Zoom และรับชมการถ่ายทอดสดผ่านเฟสบุ๊ก SHECU จำนวนมาก

ตลอดการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัย Chula Safety 2021 ระหว่างวันที่ 18 - 20 สิงหาคม 2564 มีกิจกรรมส่งเสริมความรู้ การอบรม สัมมนา และเวทีเสวนา โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ คณาจารย์ และผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมให้ความรู้ในหัวข้อที่น่าสนใจมากมาย อาทิ การอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "การป้องกันโรคออฟฟิศซินโดรม" การอบรม เรื่อง "การดูแลสุขภาพจิตกับการทำงาน-การเรียนออนไลน์" การอบรม เรื่อง "การป้องกันอัคคีภัย" และการสัมมนา เรื่อง "fake news ด้านความปลอดภัย" เป็นต้น ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรับชมกิจกรรมต่าง ๆ ย้อนหลังได้ที่เว็บไซต์ www.shecu.chula.ac.th

SHECU จุฬาฯ จัดงานสัปดาห์ความปลอดภัย Chula Safety 2021 เสริมสร้างความรู้ควบคู่ชีวิตวิถีใหม่ มุ่งสู่ความปลอดภัยรอบด้านและยั่งยืน