วิศวะ พีไอเอ็ม ขึ้นเวทีเด่น ด้านปัญญาประดิษฐ์ ร่วมแชร์วิชาการผลักดัน AI ประเทศไทย พร้อมรับรางวัลแห่งความภูมิใจ นักศึกษาปริญญาโทคว้าเหรียญทอง สุดยอดวิศวกรปัญญาประดิษฐ์ Super AI Engineer Season1

27 Oct 2021

นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี (หลักสูตรนานาชาติ) คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) รับรางวัลเหรีญทองผู้มีความสามารถดีเด่นในโครงการ "สุดยอดวิศวกรปัญญาประดิษฐ์ (Super AI Engineer) ปี 2020" โครงการซึ่งเป็นศูนย์รวมนักพัฒนาปัญญาประดิษฐ์สายพันธุ์ใหม่ สำหรับผู้สนใจพิสูจน์ความสามารถของตัวเองเพื่อพัฒนากำลังคนด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ จัดโดย สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (Artificial Intelligence Association of Thailand: AIAT) ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้รับเกียรติจาก ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) และ คุณอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานร่วมในพิธีพร้อมกันนี้ในช่วงบ่ายมีเวทีเสวนาโดยผู้ทรงคุณวุฒิจาก ภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคงานวิจัย ในหัวข้อ"การผลักดันปัญญาประดิษฐ์ในประเทศไทย" โดย รศ.ดร. พิสิษฐ์ ชาญเกียรติก้อง คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม และ และ อุปนายก สมาคมสภาคณบดีคณะเทคโนโยลีสารสนเทศประเทศไทย ร่วมเป็นหนึ่งในวิทยากร แลกเปลี่ยนความรู้เพื่อยกระดับนวัตกรรม AI ให้ดียิ่งขึ้น ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัด อว.

วิศวะ พีไอเอ็ม ขึ้นเวทีเด่น ด้านปัญญาประดิษฐ์ ร่วมแชร์วิชาการผลักดัน AI ประเทศไทย พร้อมรับรางวัลแห่งความภูมิใจ นักศึกษาปริญญาโทคว้าเหรียญทอง สุดยอดวิศวกรปัญญาประดิษฐ์ Super AI Engineer Season1

"โครงการพัฒนานวัตกร-วิศวกร-นักวิจัย-วิสาหกิจเริ่มต้น ด้านปัญญาประดิษฐ์" หรือ "สุดยอดวิศวกรปัญญาประดิษฐ์ (Super AI Engineer)" ดำเนินการเพื่อพัฒนาผู้ที่มีแรงบันดาลใจทำผลงาน AI หรือผู้ที่ต้องการ Upskill Reskill ในสาขาอาชีพ วิศวกร นวัตกร นักวิจัย Startup เข้าอบรมและ Workshop ตั้งแต่พื้นฐานจนถึงระดับสูงกับผู้เชี่ยวชาญในแวดวง AI โดยเฉพาะ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ระหว่างเพื่อนสมาชิกหลากหลายอาชีพ โดยในปี 2020 ที่ผ่านมามีผู้พิสูจน์ความเป็นสุดยอดนักปัญญาประดิษฐ์ผ่านการประเมิน ได้แก่กลุ่มเหรียญทอง 8 คน เหรียญเงิน 19 คน และเหรียญทองแดง 45 คน ซึ่งนายณัฐพร หงษ์เจริญ บัณฑิตสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี (หลักสูตรนานาชาติ) คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ได้รับรางวัลในกลุ่มเหรียญทอง

นายณัฐพร กล่าวว่า "การที่ได้เข้าร่วมโครงการ Super AI Engineer ถือเป็นโอกาสดีในชีวิต ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างนอกเหนือจากในมหาวิทยาลัย เรียนรู้หลากหลายวิชาและได้รับความรู้ใหม่ ตลอดระยะเวลาที่เข้าร่วมโครงการ  อีกทั้งยังได้มีโอกาสเข้าฝึกงานในองค์กรและได้ทำหัวข้อที่ไม่เคยทำมาก่อน ส่วนตัวผมถนัดในด้าน Image แต่ได้ทำในด้าน NLP ซึ่งเป็นด้านที่เพิ่งเริ่มศึกษาจากในโครงการนี้ ทุกอย่างที่ได้รับมาจากการเรียนและการทำกิจกรรมต่างๆ ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้เราพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว"

ทั้งนี้ภายในงานมีเสวนา "การผลักดันปัญญาประดิษฐ์ในประเทศไทย" ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิจาก ภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคงานวิจัย ได้แก่ ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), รศ.ดร. ชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก, ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน), รศ.ดร. พิสิษฐ์ ชาญเกียรติก้อง คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม), อุปนายก สมาคมสภาคณบดีคณะเทคโนโยลีสารสนเทศประเทศไทย และ ศ.ดร. ธนารักษ์ ธีระมั่นคง นายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยเนื้อหาการเสวนาพูดถึงความต้องการที่จะยกระดับนวัตกรรม ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ซึ่งถือเป็นศาสตร์ทางดิจิทัลที่ประเทศให้ความสำคัญและนำมาเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติ โดยการอาศัยเครื่องมือดิจิทัลในการทำงาน อีกทั้งยังอยากผลักดันให้โครงการ Super AI Engineer เป็นแหล่งที่สามารถพัฒนาคนให้มีทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์มากขึ้น

ทางด้าน รศ.ดร. พิสิษฐ์ ชาญเกียรติก้อง คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) และอุปนายก สมาคมสภาคณบดีคณะเทคโนโยลีสารสนเทศประเทศไทย กล่าวว่า "บทบาทการศึกษาสำหรับปัญญาประดิษฐ์ คือ การสร้างคน พัฒนาทักษะและองค์ความรู้แก่นักศึกษา พร้อมทั้งสนับสนุนทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาคนสู่ภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสร้างหลักสูตรที่ตรงความต้องการของภาคอุตสาหกรรม อาทิ AI Engineer, Robotics Engineer, Data science ให้เป็นไปตามเป้าหมายของประเทศที่จะสร้างบุคลากรและพัฒนาการศึกษาด้านปัญญาประดิษฐ์ภายใต้แผนแม่บทฯ ประมาณ 700,000 คนต่อปี ด้านพันธกิจของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ มุ่งมั่นผลิตบัณฑิตดีมีคุณภาพ มีประสบการณ์ทำงานแบบมืออาชีพ ด้วยรูปแบบ Work-based Education นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ใช้ได้จริงกับภาคธุรกิจและสังคม เช่น เครื่องผลิตซาลาเปา เซเว่นอีเลฟเว่นโรบอท และหุ่นยนต์ทางการแพทย์ ในขณะเดียวกันการบริการวิชาการ มีการจัดอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวข้องเพื่อ Upskill, Reskill และ New-skill ส่งเสริมความรู้แก่ชุมชนและอุตสาหกรรม โดยเมื่อเร็วๆ นี้ได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) สถาบันการศึกษา 12 สถาบัน และภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ จัดโครงการฝึกอบรมเพื่อชะลอการว่างงานภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ แก่บุคลากรให้ทำงานสอดคล้องกับอุตสาหกรรม 4.0 และเตรียมความพร้อมให้กับภาคอุตสาหกรรมยานยนต์หลังวิกฤต COVID-19"

โครงการ Super AI Engineer ถือว่าเป็นโอกาสนำไปสู่การสร้างชุมชนนักพัฒนาปัญญาประดิษฐ์อย่างแท้จริง และเป็นการเพิ่มศักยภาพของคนไทย ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี หรือศาสตร์อื่นๆ จะเห็นได้ว่าคนรุ่นใหม่มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญหลายด้าน เหล่านี้จะเป็นเครื่องมือที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่จุดสูงสุดในระดับสากล และยกระดับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ของไทยให้ทัดเทียมกับต่างชาติได้

สำหรับโครงการดังกล่าวได้จัดขึ้นใน 2 รูปแบบ ทั้ง On site และ Online สามารถชมย้อนหลังได้ที่ Facebook; สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย

คลิก https://www.facebook.com/aiat2015/videos/150187127312735