เครือซีพี ร่วมเวที "Sustainability Forum 2021: "Navigating the Uncertainty with ESG" ปลุกธุรกิจไทยรับมือ "วิกฤตโลกร้อน" ปัญหาการเปลี่ยนแปลงระดับโลก

28 Oct 2021

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดเวทีสัมมนาออนไลน์ "Sustainability Forum 2021" ในหัวข้อ "Navigating the Uncertainty with ESG" โดยมีผู้บริหารจากองค์กรชั้นนำของประเทศไทย และระดับนานาชาติ มาร่วมแชร์ประสบการณ์แลกเปลี่ยนแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (ESG: Environmental, Social, Governance) พร้อมช่วยแนะทางออกในการจัดการกับความไม่แน่นอนในยุคโควิด-19 ของภาคธุรกิจ โดยมีนายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และมีดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง Celebrating the Legacy of King Rama IX: The True ESG Advocate ทั้งนี้ภายในงานได้เชิญผู้บริหารองค์กรภาครัฐ ภาคสังคมและภาคเอกชน ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ อาทิ บริษัท เอดับเบิ้ลยูอาร์ ลอยด์ จำกัด (AWR LLOYD) มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) บริษั แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด(มหาชน) บริษัท กรุงไทยแอกซ่า ประกันชีวิต จำกัด(มหาชน) เป็นต้น โดยได้รับความสนใจจากผู้บริหารจากองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน นักวิชาการ กลุ่มผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพ เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง

เครือซีพี ร่วมเวที "Sustainability Forum 2021: "Navigating the Uncertainty with ESG" ปลุกธุรกิจไทยรับมือ "วิกฤตโลกร้อน" ปัญหาการเปลี่ยนแปลงระดับโลก

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง Celebrating the Legacy of King Rama IX: The True ESG Advocate โดยกล่าวถึง พระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตลอดระยะเวลาการครองราชย์ 70 ปี ผ่านโครงการต่างๆ กว่า 4,700 โครงการ ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับแนวคิดด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ESG และถือเป็นบทเรียนสำคัญในการแสดงให้เห็นถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน รวมไปถึงการพัฒนาคนผ่านการศึกษาและการสร้างวิถีความเป็นอยู่ที่ดี โดยพระองค์ท่านได้เสนอแนวคิด 3 ข้อเพื่อนำไปปรับใช้เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ 1.ให้รู้จักประมาณตน โดยใช้ทุนทรัพยากรในประเทศที่มีอยู่สร้างประโยชน์ให้ได้มากที่สุด 2. ใช้เหตุผลเป็นเครื่องนำทางในการใช้ทรัพยากรให้เกิดความพอดีและความสมดุล และ 3.ร่วมสร้างภูมิคุ้มกันให้ประเทศ ทุกคนจะต้องไม่ประมาทในการใช้ชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงโควิด-19 และจะต้องร่วมกันรับมือกับภัยพิบัติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างเท่าทัน โดยได้เน้นย้ำว่า สิ่งที่พระองค์ท่านสอนถือเป็นบทเรียนของมนุษยชาติ หากเรานำมาสู่การลงมือปฏิบัติได้อย่างแท้จริง ทั่วถึงและทันการณ์ ไม่ว่าจะเรื่องภัยธรรมชาติ ภัยเศรษฐกิจ และความขัดแย้งทางสังคม จะทำให้ประเทศเกิดความเจริญ และสามารถส่งต่อความยั่งยืนให้ลูกหลานเราในอนาคตได้

ในการนี้ นายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวในหัวข้อ The SDGs Objective for Competitiveness ว่า การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยนำแนวคิด ESG มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจจะสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันได้ โดยเฉพาะการตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องทำความเข้าใจเรื่องธุรกิจกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งถือเป็นวาระของโลกที่ทุกองค์กรต้องเร่งปรับตัวแก้ปัญหา เพราะขณะนี้กติกาการค้าทั่วโลกเตรียมใช้กฎเกณฑ์ทางกฎหมายตรวจสอบคุณภาพสินค้าและบริการว่ามีการละเมิดหรือสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือไม่ โดยยกกรณีสหภาพยุโรป (อียู) ได้เผยแพร่ร่างกฎหมายมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ซึ่งธุรกิจของไทยที่จะต้องส่งออกสินค้าในกลุ่มอียู ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตรับกติกาสากลนี้ด้วยเช่นกัน เพื่อให้ทันต่อการแข่งขันและเกิดการยอมรับธุรกิจในตลาดโลก

นายนพปฎล กล่าวว่า ความท้าทายของธุรกิจในประเทศไทยไม่ได้คำนึงถึงความเสี่ยงในการลงทุนทางธุรกิจเท่านั้น แต่ต้องให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ไปพร้อมกับการสร้างการมีส่วนร่วมจากกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียในทุกภาคส่วนทั้งในองค์กรระดับประเทศและระดับนานาชาติ เพื่อร่วมกันรับผิดชอบและช่วยกันแก้ปัญหาของโลกครอบคลุมมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมด้วย โดยยกกรณีศึกษาของเครือซีพีในการสร้างสูตรสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ 5 ข้อ ตามแนวทางของนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือซีพี คือ 1.การสร้างภาวะผู้นำ ด้วยการแสดงคำมั่นสัญญาต่อประชาคมโลก โดยผู้นำจะต้องตระหนักรู้ มีการตั้งเป้าหมายให้องค์กรที่ชัดเจนและวัดผลได้ 2. ต้องมีการรายงานผลการปฏิบัติในด้านความยั่งยืนที่โปร่งใสทั้งในด้านผลงานที่ทำสำเร็จและไม่สำเร็จ 3.สร้างกลไกการตลาดให้ผู้บริโภคเกิดการรับรู้ว่าองค์กรมีการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจที่สะท้อนความรับผิดชอบต่อสังคมและโลก 4. นำเทคโนโลยีและนวัตกรรม 4.0 มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจให้เกิดความยั่งยืน สิ่งสำคัญคือต้องร่วมกันคิดให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และ 5.สร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในการร่วมกันหาแนวทางพัฒนาตามหลักเป้าหมายความยั่งยืน

"ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องให้ความสำคัญ และส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในการทำธุรกิจในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นหากจะประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ จะต้องไม่ทำเพียงลำพัง ต้องอาศัยความร่วมมือ เชื่อมโยงทุกภาคส่วนร่วมกันต่อสู้ รับมือวิกฤตโลกร้อน เพื่อสร้างโลกที่ดีให้กับลูกหลานของเราในอนาคต" นายนพปฎลกล่าว