ความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย

02 Nov 2021

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย.จำกัด (มหาชน) และนายธีรัชย์ อัตนวานิช ประธานคณะกรรมการเจ้าหนี้ บริษัท การบินไทย ฯ ได้ร่วมกันแถลงข่าวเรื่องความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย?

โดยนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เปิดเผยว่าในภาพรวมระยะเวลากว่า 1 ปี บริษัทฯ มีความคืบหน้าในการดำเนินการตามกระบวนการฟื้นฟูกิจการ มีการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย การปรับโครงสร้างและขนาดองค์กร และเพิ่มการหารายได้ กำหนดวิสัยทัศน์และพันธกิจใหม่ได้แก่ "สายการบินคุณภาพสูง ที่ให้บริการเต็มรูปแบบ ด้วยความแข็งแกร่งของอัตลักษณ์ความเป็นไทย เชื่อมโยงประเทศไทยสู่ทั่วโลก และสร้างผลกำไรที่ดีอย่างต่อเนื่อง"?และมีพันธกิจ 4 ด้าน คือ 1. สร้างประสบการณ์ที่ดีกับลูกค้า 2. ความเป็นเลิศด้านการพาณิชย์ 3. ต้นทุนที่แข่งขันได้ 4. ผู้นำด้านปฏิบัติการบิน และได้ดำเนินโครงการปฏิรูปธุรกิจ (Transformation Initiatives) ที่พัฒนาจากการระดมสมองของพนักงานทุกระดับกว่า 400 โครงการส่งผลให้สามารถลดค่าใช้จ่ายได้เป็นมูลค่า 44,800 ล้านบาทต่อปีเปรียบเทียบกับปริมาณการผลิตที่ใกล้เคียงกับปี 2562 ค่าใช้จ่ายจำนวนดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 77 ของเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนปฏิรูปธุรกิจมีโครงการสำคัญๆ ครอบคลุมด้านต่างๆ และส่งผลให้ปรับลดต้นทุนการดำเนินงานได้อย่างมีนัยสำคัญ อาทิ ด้านบุคลากร 16,000 ล้านบาท ด้านประสิทธิภาพฝูงบินและการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 12,000 ล้านบาทการเจรจาปรับปรุงสัญญาเช่าเครื่องบินและซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ 11,300 ล้านบาท ด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดซื้อจัดจ้าง 1,100 ล้านบาท ด้านการปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติการบิน 719 ล้านบาท ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพฝ่ายช่าง 802 ล้านบาท และด้านอื่นๆ 3,200 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้รับความร่วมมือจากพนักงานทุกระดับเป็นอย่างดีในการสมัครใจเข้าร่วมรับการกลั่นกรองในโครงการปรับโครงสร้าง ลดขนาดองค์กร ปรับเปลี่ยนสภาพการจ้างและโครงสร้างค่าตอบแทนบุคลากร โครงการลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือน (Leave without Pay) รวมถึงโครงการร่วมใจจากองค์กร (Mutual Separation Plan) ซึ่งมีพนักงานที่เสียสละเข้าร่วมโครงการรวมกว่า 6,000 คน เมื่อเปรียบเทียบกับในปี 2562 มีจำนวนบุคลากรรวมแรงงานภายนอกจำนวน 29,500 คน ปัจจุบันบริษัทฯ มีพนักงานทั้งสิ้น 14,900 คน ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายบุคลากรลดลงจากเดือนละกว่า 2,600 ล้านบาทต่อเดือน เหลือกว่า 600 ล้านบาทต่อเดือน จำนวนผู้บริหารทุกระดับลดลงในสัดส่วนร้อยละ 35 ส่งผลให้ประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการทำงานสูงขึ้น

จากจำนวนพนักงานที่ลดลง ทำให้บริษัทฯ สามารถกระชับพื้นที่ทำงานในส่วนของสำนักงานใหญ่และพื้นที่สำนักงานสาขาในต่างจังหวัด สามารถนำพื้นที่ว่างและไม่ได้ใช้งานมาหาประโยชน์ในการสร้างรายได้และเสริมสภาพคล่องทั้งโดยการให้เช่าและจำหน่าย อาทิ การให้เช่าอาคารสำนักงานใหญ่ การจำหน่ายอาคารและที่ดินสำนักงานหลักสี่ หลานหลวง ภูเก็ต และที่ดินเปล่าในจังหวัดเชียงใหม่

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ยกระดับระบบประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรใหม่ ยกเลิกและปรับลดสิทธิประโยชน์ของผู้บริหารและพนักงาน อาทิ ยกเลิกสิทธิบัตรโดยสารกรรมการบริษัทฯ และพนักงานเกษียณ การจ่ายภาษี สิทธิการปรับชั้นโดยสาร (Upgrade) พนักงาน ค่าพาหนะผู้บริหาร ค่ารักษาพยาบาล โดยปรับให้เป็นไปตามสิทธิประกันสังคม เงินชดเชยวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ใช้ไม่หมดภายในระยะเวลาที่ระเบียบฯ กำหนด (Vacation Compensation) ปรับเปลี่ยนโครงสร้างค่าตอบแทนรวมถึงหลักเกณฑ์การคำนวณค่าทำงานล่วงเวลา ลดสิทธิบัตรโดยสารพนักงาน เป็นต้น

ในส่วนการปรับโครงสร้างหนี้ บริษัทฯ ขยายเวลาการชำระหนี้ออกไป 5-7 ปี โดยการพักชำระหนี้ เงินต้นและดอกเบี้ย 2-3 ปี ปรับลดภาระหนี้ในส่วนดอกเบี้ยตามภาระผูกพันเดิมเหลือร้อยละ 1.5 ปรับลดภาระผูกพันตามสัญญาเช่า/เช่าซื้อเครื่องบิน และเพิ่มทางเลือกในการชำระหนี้ ตามกรอบการดำเนินการที่ได้ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ

บริษัทฯ มีแผนปลดระวางเครื่องบินที่มีอายุการใช้งานมาเป็นระยะเวลานาน มีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงสูงเพื่อจำหน่ายจำนวน 42 ลำ ยกเลิกสัญญาเช่าและเช่าซื้อจำนวน 16 ลำ จะทำให้บริษัทฯ มีฝูงบินรวม 58?ลำ โดยรวมถึงฝูงบิน A320 ซึ่งสายการบินไทย.��มายล์เช่าดำเนินการ 20 ลำ ซึ่งฝูงบินปัจจุบันมีความทันสมัย ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ มีประสิทธิภาพการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงสูงเป็นผลให้บริษัทฯ สามารถลดต้นทุนด้านการบริหารฝูงบินและค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงได้ถึงปีละ 12,000 ล้านบาทเมื่อทำการบินในปริมาณการผลิตใกล้เคียงปี 2562 และแบบเครื่องบินในฝูงบินของบริษัทฯ ลดลงจาก 9 แบบ เหลือ 4 แบบ

ในเดือนตุลาคม 2564 บริษัทฯ มีรายได้จากการดำเนินงานสูงสุดนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19เมื่อเดือนเมษายน 2563 สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการฟื้นฟูของธุรกิจการบิน โดยระหว่างเดือนเมษายน 2563 - ตุลาคม 2564 บริษัทฯ มีรายได้จากเที่ยวบินขนส่งสินค้าทางอากาศ รวมกว่า 10,000 ล้านบาท มีรายได้จากหน่วยธุรกิจการบินในการให้บริการลูกค้ากว่า 80 สายการบินเป็นเงินรวม 4,800 ล้านบาทและมีแผนงานขยายธุรกิจ Master Franchise ร้าน Puff & Pie ไปทั่วประเทศ

จากความมุ่งมั่นในการหารายได้และการหาประโยชน์จากทรัพย์สินรองที่ไม่ได้ใช้งาน บริษัทฯ ขาดทุนจากการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 เป็นเงิน 3,973 ล้านบาท เมื่อรวมรายการครั้งเดียวทางบัญชี ทำให้บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 11,121 ล้านบาท ดีขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปี 2563 เป็นเงิน 39,151 ล้านบาท ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการและแผนปฏิรูปธุรกิจ ตลอดจนบริหารจัดการสภาพคล่องอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นผลให้บริษัทฯ มีกระแสเงินสดสำหรับการดำเนินธุรกิจอย่างเพียงพอต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 เป็นต้นมา

เพื่อร่วมขับเคลื่อนการเปิดประเทศตามนโยบายรัฐบาล บริษัทฯ ได้ปรับเพิ่มเส้นทางบินที่ให้บริการเริ่มตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2564 - 26 มีนาคม 2565 โดยภายในไตรมาสที่ 1/2565 จะมีเส้นทางบินในทวีปเอเชีย 19 จุดบิน ในทวีปยุโรป 9 จุดบิน ในทวีปออสเตรเลีย 1 จุดบิน และภายในประเทศโดยสายการบินไทยสมายล์ 14 จุดบิน ด้วยบริการเต็มรูปแบบ (Full Services) อาทิ ศูนย์บริการลูกค้าทางโทรศัพท์ตลอด?24?ชั่วโมง ห้องรับรองพิเศษ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สื่อสาระบันเทิงบนเครื่องบิน บริการเลือกอาหารล่วงหน้าสำหรับชั้นธุรกิจในเที่ยวบินระหว่างประเทศ กาแฟและเครื่องดื่มรายการพิเศษ นิตยสารและหนังสือพิมพ์ระบบดิจิทัล ทั้งนี้ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินได้รับวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ครบทุกคน?พร้อมมาตรฐานความเป็นเลิศด้านสุขอนามัย (Hygiene Excellence) ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการอย่างเต็มที่?พร้อมให้บริการเต็มรูปแบบ อีกทั้งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ ร่วมเชื่อมโลกสู่ไทย เชื่อมไทยเป็นหนึ่ง ในฐานะสายการบินแห่งชาติที่คนในชาติภาคภูมิใจ