ก.อุตฯ จับมือฟูจิฟิล์มส่งต่อ ATK 5,000 ชุด ให้ 5 โรงพยาบาล เผยโรงงานทำ Bubble and Seal ทะลุ 1,500 แห่ง

17 Nov 2021

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการรับมอบชุดตรวจการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ชุดตรวจ ATK (Antigen Test Kit) แบบสำหรับใช้โดยบุคลากรทางการแพทย์ (Professional Use) จากบริษัท ฟูจิฟิล์ม (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 5,000 ชุด มูลค่ากว่า 2,450,000 บาท (สองล้านสี่แสนห้าหมื่นบาทถ้วน) และส่งมอบต่อให้แก่โรงพยาบาล จำนวน 5 แห่งแห่งละ 1,000 ชุด ได้แก่ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลศรีธัญญา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลสงฆ์ และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เพื่อนำไปช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  

ก.อุตฯ จับมือฟูจิฟิล์มส่งต่อ ATK 5,000 ชุด ให้ 5 โรงพยาบาล เผยโรงงานทำ Bubble and Seal ทะลุ 1,500 แห่ง

"กระทรวงอุตสาหกรรมต้องขอขอบคุณภาคเอกชนที่ร่วมสนับสนุนชุดตรวจ ATK กว่า 5,000 ชุด เพื่อส่งมอบให้กับโรงพยาบาลทั้ง 5 แห่ง นับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ได้ร่วมกันช่วยเหลือดูแลบุคลากรทางการแพทย์อีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งการตรวจคัดกรองด้วยชุด ATK ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการค้นหาและแยกผู้ติดเชื้อตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) เป็นการตรวจที่สามารถทราบผลได้ทันทีจะช่วยแยกผู้ป่วยออกจากผู้ไม่ป่วยได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ลดการกระจายเชื้อในพื้นที่นั้น ๆ ได้ดียิ่งขึ้น" นายกอบชัย กล่าว

ในส่วนของความคืบหน้าของการจัดทำมาตรการ Bubble and Seal เพื่อการควบคุม COVID-19 ที่จะทำให้สถานประกอบกิจการไม่ต้องปิดโรงงานแม้พบผู้ติดเชื้อ อาจจะมีความยุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นบ้าง แต่คนงานปลอดภัย รายได้ไม่สูญเสีย และทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ ในปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขขับเคลื่อนมาตรการ Bubble and Seal ประกอบด้วย (1) การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ไปยังโรงงานทุกแห่ง และผลักดันให้เข้าประเมินตนเองตามมาตรการสาธารณสุขที่ทำอยู่ผ่านแฟลตฟอร์ม Thai Stop COVID+ และ (2) การให้การสนับสนุนโรงงานในการจัดทำ Bubbleand Seal ทั้งในรูปแบบการอบรม Online และการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก Onsite รวมจำนวน 3,536 แห่ง ล่าสุดได้รับรายงานว่า มีโรงงานทั่วประเทศจัดทำมาตรการ Bubble and Seal จำนวนทั้งสิ้น 1,545 แห่ง ถือว่าเกินเป้าหมายของระยะแรกที่กำหนดไว้ 1,300 แห่ง

โดยปัจจุบันทางภาครัฐก็ได้ดำเนินการปรับปรุงมาตรการเพื่อให้ภาคเอกชนสามารลดค่าใช้จ่ายลง และมีความเหมาะสมกับสถานการณ์และสถานประกอบการทุกขนาด คือแบ่งเป็น 1. กรณีไม่พบการติดเชื้อจัดทำ Bubble and Seal เพื่อการป้องกัน มีการจัดกลุ่มพนักงานเป็นกลุ่มย่อย (Small Bubble) แต่ละกลุ่มทำงานหรือกิจกรรมโดยไม่ข้ามกลุ่ม (Bubble) เพื่อคุมได้ไวและลดการแพร่กระจาย รวมทั้งจัดสภาพแวดล้อมให้ง่ายต่อการควบคุมโรค และ 2. กรณีมีการติดเชื้อ จัดทำ Bubble and Seal เพื่อการควบคุม สามารถทำได้ทั้งแบบมีที่พักและไม่มีที่พัก มีการประสานเตียงผู้ป่วยรองรับ โดยภาครัฐมีความพร้อมให้การสนับสนุนในทุกด้าน เช่น การฉีดวัคซีน การจัดหาชุด ATK การจัดทีมพี่เลี้ยงและที่ปรึกษาในการดำเนินตามมาตรการ Bubble and Seal และการจัดทีมเพื่อตรวจประเมินสถานประกอบให้ปฏิบัติตามมาตรการโดยครอบคลุมทุกจังหวัด

 

ก.อุตฯ จับมือฟูจิฟิล์มส่งต่อ ATK 5,000 ชุด ให้ 5 โรงพยาบาล เผยโรงงานทำ Bubble and Seal ทะลุ 1,500 แห่ง