รมว.แรงงาน มอบผู้ช่วยรัฐมนตรี เปิดสัมมนา กำหนดทิศทางมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ 2565

01 Dec 2021

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการจัดทำกรอบร่างวิธีการทดสอบพิจารณาและปรับปรุงร่างคู่มือวิธีการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ พร้อมทั้งเยี่ยมชม บูธสาขาช่างเชื่อมท่อพอลิเอทีลีนความหนาแน่นสูง (HDPE) สาธิตการเชื่อมชิ้นงาน

รมว.แรงงาน มอบผู้ช่วยรัฐมนตรี เปิดสัมมนา กำหนดทิศทางมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ 2565

โดยบริษัท วีบี เวลดิ้ง เทคโนโลยี่ จำกัด บูธเครื่องมือวัดทางอุตสาหกรรม แสดงระบบการวัดด้วยการประมวลผลทางคอมพิวเตอร์ โดยบริษัท มิตูโยโย (ประเทศไทย) จำกัด บูธเยาวชนแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ สาขาช่างควบคุมเครื่องจักรกล CNC แสดงชิ้นงานที่เป็นผลงานการเก็บตัวฝึกซ้อมเยาวชน โดยบริษัท เด็นโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด และบูธสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชั้นสูง แสดงหุ่นยนต์อุตสาหกรรม และระบบ PLC โดยสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (MARA) ณ โรงแรมโนโวเทล มารีน่า ศรีราชา แอนด์ เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ทั้งนี้ มี นายธวัชชัย ศรีทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายสุทธิพงษ์ โกศลวิริยะกิจ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมกล่าวรายงาน และผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิด นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายสร้างระบบเศรษฐกิจที่แข็งแรง เน้นสร้างแรงงานคุณภาพ มีทักษะฝีมือชั้นสูง สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และทิศทางการพัฒนาในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ดังนั้น กลไกของมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติจึงต้องเร่งปรับให้สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะต้องผลักดันให้มีการกำหนดอัตราค่าจ้างให้สอดคล้องกับมาตรฐานฝีมือแรงงานในสาขาอาชีพที่ต้องการด้วย

นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณรองนายกรัฐมนตรี เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาฝีมือแรงงานโดยมีมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการดำเนินการ มีความเชื่อมโยงกับการพัฒนาประเทศอย่างชัดเจน และมาตรฐานฝีมือแรงงานได้มีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้มีความทันสมัย ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเสมอมา การเปลี่ยนแปลงที่เราเห็นได้ชัดเจนตอนนี้คือการส่งเสริมการพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาล ซึ่งการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ มีขั้นตอนในการจัดทำคู่มือวิธีการทดสอบเพื่อให้ผู้ทดสอบใช้ในการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานให้กับแรงงานที่อยู่ในระบบการจ้างงาน และแรงงานนอกระบบ ซึ่งต้องให้มีความสอดคล้องกับเทคโนโลยี สภาพการจ้างงาน และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องระดมมันสมองพิจารณาและจัดทำคู่มือเพื่อการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ เพื่อพัฒนาแรงงานให้มีคุณภาพ รองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก

นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า ได้มอบหมายให้สำนักพัฒนามาตรฐานและทดสอบฝีมือแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ดำเนินการสัมมนาเชิงปฏิบัติการจัดทำกรอบร่างวิธีการทดสอบ พิจารณาและปรับปรุงร่างคู่มือการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 1-3 ธันวาคม 2564 ณ โรงแรมโนโวเทล มารีน่า ศรีราชา แอนด์ เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี เพื่อจัดทำคู่มือวิธีการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงและสภาพการจ้างงานในปัจจุบัน ตลอดจนรองรับการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือในอนาคต โดยร่วมกันพิจารณา จำนวน 5 สาขา ประกอบด้วย สาขาผู้ควบคุมเครื่องมือวัดโปรไฟล์โปรเจ็คเตอร์ สาขานักดูแลและบริหารระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ สาขาช่างเชื่อมท่อพอลิเอทีลีนความหนาแน่นสูง สาขาช่างเขียนแบบเครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์ CAD และ สาขาช่างควบคุมเครื่องกัด CNC ซึ่งวิทยากรและผู้เข้าร่วมสัมมนา ประกอบด้วยคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ผู้แทนองค์กรสมาคมวิชาชีพ ผู้แทนสถานศึกษา ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน และเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมทั้งสิ้น 70 คน ซึ่งการสัมมนาเป็นรูปแบบการบรรยายให้ความรู้โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาอาชีพต่างๆ โดยแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อร่วมกันพิจารณารูปแบบการจัดทำคู่มือวิธีการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติในสาขาต่างๆ ทั้งภาคความรู้และความสามารถ นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงสาธิตการทำงานในสาขาอาชีพที่จัดการสัมมนาด้วย

ทั้งนี้ สาขาช่างเชื่อมท่อพอลิเอทีลีนความหนาแน่นสูง (HDPE) เป็นอีกหนึ่งสาขาที่ขาดแคลนแรงงาน เนื่องจาก สาขาดังกล่าวจำเป็นต้องใช้ช่างที่มีทักษะความรู้ ผ่านการฝึกอบรมและผ่านการทดสอบมาตรฐานในการทำงาน ซึ่งกระทรวงแรงงาน มีประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 9) ให้ผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือ สาขาช่างเชื่อมท่อพอลิเอทีลีนความหนาแน่นสูง (HDPE) ระดับ 1 ได้รับค่าจ้างเป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 510 บาท สาขาผู้ควบคุมเครื่องมือวัดโปรไฟล์ โปรเจ็คเตอร์ เป็นเครื่องมือวัดขนาดชิ้นงานละเอียดชนิดแสงเงา สามารถอ่านค่าความละเอียดสูงสุดถึงระดับไมครอน ด้วยหลักการใช้เลนส์ขยายและใช้แสงเป็นตัวช่วยในการฉายภาพของชิ้นงานนั้นๆ บนหน้าจอ Screen สาขาอาชีพนี้เกี่ยวข้องกับการควบคุมคุณภาพการผลิตด้านมิติ ในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ หรือชิ้นส่วนยานพาหนะที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และสาขาช่างควบคุมเครื่องกัด CNC เป็นเครื่องจักรที่ทำงานภายใต้การสั่งการของระบบคอมพิวเตอร์ ที่ควบคุมการเคลื่อนที่ของเครื่องมือตัดให้กัดหรือสร้างรูปทรงบนชิ้นงานได้ตามความต้องการ ซึ่งใช้ในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ส่วนประกอบเครื่องบิน หรือ ผลิตแม่พิมพ์ ผู้ที่สามารถใช้งานเครื่องกัด CNC มีโอกาสในการเลือกประกอบอาชีพได้หลากหลายแบบไม่เพียงแค่ในอุตสาหกรรมงานโลหะเท่านั้น แต่ยังสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในงานที่ต้องการความละเอียดทุกรูปแบบ ทั้งงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ งานในอุตสาหกรรมรองเท้า งานออกแบบโมเดลสถาปัตยกรรม งานออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มาจากอัญมณี หรืองานตัดแต่งไม้แกะสลัก เป็นต้น ซึ่งจากความรู้ความชำนาญเฉพาะทางดังกล่าวจึงทำให้แรงงานในสาขานี้ได้รับค่าแรงค่อนข้างสูง และจำเป็นจะต้องใช้แรงงานที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแล้วเท่านั้น

รมว.แรงงาน มอบผู้ช่วยรัฐมนตรี เปิดสัมมนา กำหนดทิศทางมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ 2565